วิ่งเทรลสู่ความท้าทาย 'Thailand ดอยอินทนนท์ By UTMB'

วิ่งเทรลสู่ความท้าทาย  'Thailand ดอยอินทนนท์ By UTMB'

สำหรับคนที่รักการวิ่งเมื่อได้วิ่งมาราธอนไปนานๆเข้าอาจถึงจุดอิ่มตัวจึงอยากแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งการวิ่งเทรล (Trail Running) เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกาย พร้อมท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติไปในตัว

“ปกติผมวิ่งอยู่แล้วครับ วิ่งถนนมา 5-6 ปีแล้วก็เริ่มเบื่อ เหมือนเดิมทุกปี แต่วิ่งเทรลสนามเปลี่ยนทุกอย่างเปลี่ยน ผมวิ่งเทรลมาประมาณ 20 สนามเคยไปวิ่งในต่างประเทศ 1 ครั้ง” โกสินทร์ ชัยมุติ โปรแกรมเมอร์ วัย 38 ปี เผยกับกรุงเทพธุรกิจในงานวิ่งเทรล Thailand ดอยอินทนนท์ By UTMB เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

Thailand ดอยอินทนนท์ By UTMB จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30  ต.ค.- 1  พ.ย. 2563   แข่งขันทั้งหมด 5 ระยะทาง ได้แก่ ระยะทาง 170 กิโลเมตร 120 กิโลเมตร 80 กิโลเมตร 25 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร มีชาวไทยและชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในประเทศไทยกว่า 1,500 คนเข้าร่วมแข่งขัน ถือเป็นรายการใหญ่ 1 ใน 6 สนามทั่วโลกของซีรีส์ Ultra Trail Mont Blanc (UTMB) ซึ่งงานนี้ได้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นประธานปล่อยตัวนักวิ่ง 

160457803330

พิพัฒน์เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของการจัดงานครั้งนี้ว่า หลังจากเมื่อต้นปี 2563 กระทรวงฯโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้จัดแข่งขันวิ่งเทรลครั้งแรกเพื่อทดสอบสนามแข่งขัน กระทั่งได้การรับรองจาก UTMB ทำให้ปีนี้ประเทศไทยได้จัดการแข่งขันวิ่งเทรลรายการของ UTMB ครั้งแรก เป็นการจัดการแข่งขันภายใต้รูปแบบนิวนอร์มอลในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ระยะการปล่อยตัว และอื่นๆ เพื่อรักษาระยะห่าง +

160457803298

“จากการได้พูดคุยกับนักกีฬาวิ่งเทรล ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าที่ดอยอินทนนท์เป็นสนามที่มีความแปลกใหม่ เพราะจัดในช่วงที่มีอากาศเย็น หมอกลง และสนามมีความชื้นแฉะ หาบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้จากสนามอื่นๆ” รัฐมนตรีกล่าวซึ่งไม่ได้เกินเลยไปแม้แต่น้อย เพราะวันที่จัดการวิ่งเทรลรายการนี้เป็นช่วงที่พายุโซนร้อนโมลาเบอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันกระทบหลายจังหวัดตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและหนักมาก จุดปล่อยตัวนักกีฬาบริิเวณสนามหญ้าหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เละเทะไม่มีชิ้นดี ไม่ต้องถามถึงเส้นทางการวิ่งที่ต้องผ่านป่าเขาสูงชัน  กระนั้นทุกคนยังได้สัมผัสถึงเอเนอร์จีของนักวิ่ง กองเชียร์ และสตาฟ ที่ไม่มีใครยอมแพ้กับฟ้าฝน 

การวิ่งเทรลเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศแต่ก็มีคนไทยอีกมากที่ยังไม่รู้จัก เป็นการวิ่งบนเส้นทางที่ไม่ราบเรียบหรือเส้นทางสัญจรทั่วไป แต่เป็นเส้นทางที่มีหินบ้าง หญ้าบ้าง สูงๆ ต่ำๆ หรือเส้นทางที่มีธรรมชาติเป็นเครื่องกีดขวางมาคอยท้าทายนักวิ่ง 

160457803310

 เซบาสเตียน เบอตรองด์ ตัวแทน UTMBI ประจำประเทศไทย เล่าถึงพัฒนาการการวิ่งเทรลในประเทศไทยว่า ตนมาอยู่ประเทศไทย 5-6 ปีแล้วเพื่อมาพัฒนาด้านนี้ ส่วนใหญ่จะหาเส้นทางวิ่ง เพราะในฝรั่งเศสและยุโรปมีหลายเส้นทางสำหรับปีนเขาและวิ่งเทรล แต่ตอนที่ตนมาเที่ยวเมืองไทยเห็นว่ายังไม่มีจึงใช้เวลา 2 ปีค้นหาและพัฒนาเส้นทางวิ่งเทรลและปีนเขา รวมทั้งจัดการแข่งขันในนามของ UTMB 

ส่วนความยากง่ายของการวิ่งเทรลในประเทศไทยนั้น เซบาสเตียนกล่าวว่า ตอนเขามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อนยังไม่มีการวิ่งเทรล เขาเริ่มวิ่งเทรลบนดอยสุเทพ ดอยปุย จ.เชียงใหม่ จนกระทั่ง 2-3 ปีต่อมาการวิ่งเทรลได้รับความนิยม

"จริงๆ แล้วก็นิยมกันมากทั่วโลก แต่ในไทยแข็งแกร่งมาก พูดได้เลยว่าไทยเป็นที่ 3 ของเอเชียด้านการวิ่งเทรลรองจากจีนและญี่ปุ่น วิ่งเทรลเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างกีฬากับธรรมชาติ" เบอตรองด์กล่าวพร้อมให้คำแนะนำเรื่องการจัดวิ่งเทรลของไทยว่า ควรจัดในสถานที่ที่มีบรรยากาศสวยงามเพื่อดึงดูดนักวิ่งให้มาร่วมชื่นชมความงาม ปรับปรุงการจัดงานซึ่งการจัดงาน Thailand By UTMB จัดได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งในแง่ความปลอดภัย เส้นทางดีมีทางวิ่งเดียว การจัดการด้านโลจิสติกส์และอื่นๆ ช่วยได้มาก

“ถ้าบริการดี มอบคุณภาพที่ดีให้กับนักวิ่งก็จะมีคนมาร่วมวิ่งมากขึ้นๆ” เบอร์ตรองด์กล่าว 

UTMB นั้นถือเป็นโอลิมปิกของนักวิ่งเทรล เดิมทีคนที่จะไปวิ่ง UTMB ได้ต้องสะสมแต้มจาก International Trail Running Association (ITRA) การวิ่งแต่ละครั้งจะมีคะแนนเก็บไว้ได้ 2 ปี เมื่อได้คะแนนครบตามเกณฑ์ต้องรอถูกสุ่มเลือกอีกครั้งหนึ่งจึงจะไปวิ่ง UTMB ได้ แต่การวิ่งในรายการของ UTMB เช่น งานที่ดอยอินทนนท์ครั้งนี้สามารถได้แต้มที่เรียกว่า Running Stone ถึง 18 แต้ม (มีอายุ 4 ปี) เกินเกณฑ์ที่ต้องการสามารถไปวิ่ง UTMB ได้เลยโดยไม่ต้องรอถูกสุ่มเลือก 

การจะทำงานใหญ่ Thailand ดอยอินทนนท์ By UTMB แน่นอนว่าต้องเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจึงจะผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันของ UTMB ได้ แต่เมื่อจัดงานได้แล้วนักวิ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด หากจัดแล้วไม่มีใครมาร่วมวิ่งงานนั้นคงกร่อย 

พชรภรณ์ โป๊ะเงิน ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ Thailand ดอยอินทนนท์ By UTMB เล่าว่า  นักวิ่งเทรลเป็นคนชอบผจญภัยและทำอะไรแบบสุดๆ แตกต่างจากการวิ่งมาราธอน

“ต้องเข้มงวด เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตตนเอง จะไปเป็นภาระของคนอื่นไม่ได้ UTMB เป็นโอลิมปิกสำหรับนักวิ่ง  นักวิ่งมาราธอนที่อยาก go ultra อยากเจอความท้าทายใหม่ก็เลยมาวิ่งเทรล” 

หากพูดถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พชรภรณ์ที่ปกติเป็นนักวิ่งเทรลอยู่แล้วมองว่า ประเทศไทยเริ่มอิ่มตัวกับการท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็ก ฟูลมูน หรือคอนเสิร์ตแล้ว การท่องเที่ยวที่่ควรทำต่อไปคือ Sport Travelling นักวิ่งเทรลเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เห็นได้จากเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์วิ่ง ทั้งตัวราคาเป็นแสนเพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก 

นอกจากนี้นักวิ่งเทรลจะต้องเป็นคนมีวินัย หมั่นฝึกฝน รู้จักบริหารตัวเอง ไม่ใช่แค่ใช้อุปกรณ์จำเป็นที่มีคุณภาพที่สุด แต่ยังรวมไปถึงการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำให้ตนเองไม่สบายตัวขณะวิ่ง พชรภรณ์จึงเชื่อว่า วินัยเหล่านี้เป็นการคัดกรองนักวิ่งไปในตัว ภาพลักษณ์ของการวิ่งเทรลจึงดีด้วยตนเอง 

“การสนับสนุนการวิ่งเทรลจะทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยดีขึ้นด้วย”  พชรภรณ์กล่าว 

จากมุมมองของผู้จัดถึงปากคำจากนักวิ่ง ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ภริยา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาแข่งขันในระยะทาง 10 กิโลเมตรด้วย

160457800568

"ตอนแรกก็คิดว่าโหดเล็กน้อย แต่พอได้วิ่งเข้าจริงโหดมาก... ไม่ใช่โหดแค่วิ่งขึ้นทางชันอย่างเดียว ด้วยความที่ฝนตกหนักด้วยอ่ะค่ะ พื้นก็ทั้งเหนียว ทางก็ชัน ลงก็ยาก เหนื่อยมากๆ แต่ก็ติดใจมาก เป็นความมีเสน่ห์ ด้วยความเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เราวิ่งไปไม่ได้เห็นแค่ทางในป่า แต่มีที่โล่ง มีนาข้าว มีหลายๆ บรรยากาศให้เราได้เห็น ประทับใจมากๆ เลยค่ะ" สุวรรณาเล่าประสบการณ์การวิ่งเทรลครั้งแรกของเธอจากที่เคยแค่วิ่งมาราธอน แต่มาลองในครั้งนี้เพราะเชื่อมั่นในตัวผู้จัดและสถานที่คืออุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 

“การวิ่งเทรลมีเสน่ห์มาก ไม่เหมือนการวิ่งมาราธอนทั่วไป ที่เซ็ตเป้าหมาย วางระยะทาง นั่นก็สนุก แต่วิ่งเทรลเราไม่รู้ว่าข้างหน้าเราจะเจออะไร อย่างที่นี่ขึ้นๆ ไปแล้วพ้นโค้ง อ้าว... ยังขึ้นต่ออีก ไม่หยุด ไม่หย่อน ท้าทายเราตลอดเวลา ก็เลยอยากให้ทุกคนถ้ามีโอกาสลองมาวิ่งเทรลดู สนุกจริงๆ” 

การวิ่งเทรลไม่ได้สนุกแค่นักวิ่งเท่านั้นกองเชียร์ก็สนุกไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา ลูก เพื่อนฝูง อย่างนรีลักษณ์ โฆษิตพัฒกร พนักงานธนาคารจากกรุงเทพฯ มาเชียร์สามีวิ่งกับเพื่อนๆ ในระยะทาง 80 กิโลเมตร  ส่วนตัวเธอวิ่งถนนมาก่อนโดยมีสามีมาคอยขับรถรับส่งจนสามีกลายมาเป็นคนวิ่งเทรลเพราะรักธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

“การที่เขามาวิ่งเทรลก็ทำให้เราได้ไปเที่ยวที่แปลกๆ ในประเทศไทยที่ชีวิตจริงเราคงไม่ได้มา เขาได้วิ่งในรูทที่เป็นธรรมชาติ” นรีลักษณ์กล่าวพร้อมเผยถึงความสนุกของการเป็นกองเชียร์

160457803317

“ทั้งลุ้นคนที่ได้ที่ 1 ลุ้นสามีตัวเอง สภาพอากาศก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ เวลาเห็นคนเข้าเส้นชัยมา เราก็เฮ้ย.. เขาเก่งจังเลย มีความสุขไปกับทุกคนที่เข้าเส้นชัย แฮปปี้กับการที่ได้มาเชียร์ ชอบบรรยากาศสนุกสนาน” 

Thailand ดอยอินทนนท์ By UTMB ครั้งที่ 1 ผ่านพ้นไปอย่างสวยงาม ด้วยชัยชนะของสัญญา คานชัย วัย 46 ปี พิชิตระยะทาง 170 กม. ในระยะเวลา 26:40:06 ชั่วโมง ที่ 1 ฝ่ายหญิงตกเป็นของพิชชานันท์ มหาโชติ ทำเวลา 36:16:38 ชั่วโมง รวมไปถึงคนอื่นๆ อีกมากมายที่แม้ไม่ได้ถ้วยรางวัล แต่การฝ่าฟันความยากลำบากเข้าถึงเส้นชัยได้นั่นคือสุดยอดแห่งรางวัลชีวิต 

 ส่วนคนที่อยากเจอความท้าทายแปลกใหม่ขอแค่หยิบรองเท้าแล้วออกมาวิ่ง การจัดแข่งขันวิ่งเทรลรายการของ UTMB ที่ประเทศไทยจะกลับมาอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย.2564