เปิดประเทศ...รับเสี่ยงโควิดต่ำ แบบปลอดภัย-เศรษฐกิจไทยไปรอด
เพราะแต่ละประเทศทั่วโลกมีระดับความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19ไม่เหมือนกัน บางประเทศเสี่ยงน้อยกว่า หรือใกล้เคียงกับไทย
แต่บางประเทศเสี่ยงสูงกว่ามาก บวกกับองค์ความรู้และศักยภาพระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น วันนี้ประเทศไทยจึงพร้อมเปิดประเทศรับต่างชาติจากประเทศเสี่ยงต่ำ ภายใต้ ความปลอดภัยและเศรษฐกิจไทยไปรอด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน Smart Living with COVID-19 เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด เมื่อเร็วๆนี้ว่า วันนี้ต้องสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน โดยมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆเพื่อให้เศรษฐกิจของไทยได้ฟื้นตัวสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ เพราะภารกิจของกระทรวงไม่เพียงดูแลสุขภาพวิถีชีวิตของประชาชน แต่ต้องทำให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพทำมาหากินและใช้ชีวิตอย่างปกติสุขด้วย โดยการหาวิถีทางและชี้แนะแนวทางให้ประชาชนสามารถอยู่กับสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติทั่วโลก เช่น โรคโควิด-19ได้
"ประเทศไทยไม่มีคนติดเชื้อเลยไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป้าหมายคือเมื่อมีคนติดเชื้อต้องคุมโรคให้ได้โดยเร็ว ซึ่งการเปิดประเทศและลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน จะทำในประเทศที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 ต่ำ ส่วนที่ยังมีความเสี่ยงสูงจะยังกักตัว 14 วันเช่นเดิม ทั้งหมดนี้ เชื่อมั่นว่าคนไทยจะเข้าใจ ทุกอย่างจะดำเนินการเปิดประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยก่อน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ไปรอด เพื่อที่ไทยจะได้พลิกฟื้น กลับสู่ปกติก่อนคนอื่น สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป" นายอนุทินกล่าว
สำหรับภาพรวมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขนั้น ในการเฝ้าระวังควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเชิงรุก จัดทีมสอบสวนโรคและหากพบการติดเชื้อจะต้องรายงานภายใน 3 ชั่วโมงกว่า 3,000 ทีมทั่วประเทศ
ศักยภาพตรวจเชื้อเฉพาะกรุงเทพมหานครได้ถึงวันละ 10,000 ตัวอย่าง ต่างจังหวัดตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ 238 แห่งทั่วประเทศ
ด้านการรักษาพยาบาล ขณะนี้มีเตียงทั่วประเทศกว่า 20,000 เตียง การรับผู้ป่วยจะพิจารณาจากคนไข้ที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู ทั้งนี้ จากการระบาดรอบแรกคนไข้นอนไอซียูเฉลี่ยประมาณ 17 วัน
ดังนั้น การเตรียมพร้อมครั้งนี้ ในกรุงเทพมหานครสามารถรองรับได้ 230-400 คน ทั่วประเทศรองรับได้ 1,000-1,740 คน ยาและเวชภัณฑ์ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2563 มียาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย 126 ราย หน้ากากN95 คงเหลือ 2,782,082 ชิ้น ชุด PPE คงเหลือ 1,959,980 ชิ้น มี 40 โรงงานกำลังการผลิต 6 หมื่นชุดต่อวัน และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คงเหลือ 50,922,050 ชิ้น มี 60 โรงงาน กำลังการผลิต 4,700,000 ชิ้น/วัน
สถานกักกันโรคที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine : ASQ) ปัจจุบันมี 107 แห่ง สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine : AHQ) รองรับผู้ป่วยโรคอื่นที่เดินทางเข้ามารับการรักษา ปัจจุบันมี 173 แห่ง และสถานกักกันโรคประเภทต่างๆมีห้องรองรับมากกว่า 8,000;ห้อง รวมถึง มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนในการเฝ้าระวัง
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การเปิดประเทศแบบแง้มๆจะมีการจัดกลุ่มประเทศตามระดับความเสี่ยงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย โดยการลดวันกักตัวเหลือ 10 วันนั้น จะดำเนินการในประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ใกล้เคียงกับไทยและมากกว่า+1 อาทิ ไต้หวัน เวียดนาม จีน นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยหากนำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)ในสัปดาห์นี้แล้วได้รับความเห็นชอบ ก็จะเริ่มดำเนินการเพื่อประเมินผลเป็นเวลา 3 เดือน หากมีคนติดเชื้อหลุดรอดจากการคัดกรองสัปดาห์ละ 2 รายถือว่าอยู่ในระดับที่ระบบรับได้ แต่ถ้ามากกว่านั้ยจะต้องมีการปรับแผนใหม่ หรือหากน้อยกว่านั้นก็อาจจะขยับลดวันกักตัวลงเหลือ 7 วันในกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่อไป
ยกตัวอย่าง ประเทศจีนที่ขณะนี้มีความเสี่ยงโรคโควิด-19ใกล้เคียงกับไทย มีการคาดการณ์ว่าหากเดินทางเข้าประเทศไทย 10 ล้านคนต่อปี จะมีคนติดเชื้อหลุดรอดการคัดกรองราว 100 คนต่อปี ถือว่าระบบยังรับได้ ซึ่งที่ผ่านมาคนจีนเข้ามาในไทยราว 5,153 คนตรวจพบเชื้อขณะเข้ารับการกักกันเพียง 1 ราย ส่วนไต้หวันเข้ามา 8,559 คน พบเชื้อ 3 ราย และญี่ปุ่น เข้ามา 9,872 คน พบเชื้อ 21 คน
"การกักตัว 10 และ 14 วันมีความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดตรวจพบเชื้อภายใน 10 วัน การพบเชื้อหลัง 10 วัน ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ มีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ อีกทั้ง เมื่อลดวันกักตัวมีการเติมมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคอย่างครบถ้วน เช่น ต้องมีผลการตรวจไม่พบโควิด-19ก่อนการเดินทางจากประเทศต้นทาง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงประมาณ 50% การเพิ่มการตรวจหาเชื้อระหว่างการกักตัวเป็น 3 ครั้ง ร่วมกับการเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันกรณีพบเชื้อเพื่อยืนยันว่าเพิ่งติดเชื้อหรือติดมานานแล้ว และ4 วันต่อจากที่ครบกักตัว10 วันจะมีริสต์แบนด์ติดตามตัว เป็นต้น จึงมีความมั่นใจที่จะค่อยๆเปิดประเทศให้ประชาชนปลอดภัยและเศรษฐกิจไทยรุ่ง"นพ.เกียรติภูมิกล่าว