‘LGBT’ เรียนรู้ให้ ‘เท่ากัน’ ก็ ‘เท่าเทียม’
เมื่อความเท่าเทียมของ "LGBT" ไม่เป็นเพียงเรื่องลมปาก แต่คือหลักวิชาการที่เรียนรู้ได้ ธรรมศาสตร์อันขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เคารพทุกสิทธิจึงนำร่องหลักสูตรเพื่อความหลากหลายทางเพศ
ขณะที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นดินแดนที่ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย แต่ในรายงานผลการสำรวจโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อสอบถามประสบการณ์การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561-2562 พบว่า ชีวิตของ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในประเทศไทยนั้นยังคงถูกจำกัดสิทธิและการแสดงออกทางเพศด้วยการตีตราและการเลือกปฏิบัติ
นอกจากนั้นผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าในสังคมไทยยังมีความเชื่อและทัศนคติแง่ลบ ต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขาแสดงและพัฒนาศักยภาพของพวกเขาไม่ได้เต็มที่ ทั้งในฐานะแรงงาน นักเรียน ไปจนถึงสมาชิกของสังคม
อนึ่ง รายงานฉบับนี้เป็นการสำรวจระดับประเทศเรื่องประสบการณ์การถูกตีตราของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและทัศนคติของสังคมที่มีต่อพวกเขาที่ใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งในประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 2,210 คน แบ่งเป็นผู้ที่ร่วมตอบแบบสอบถามสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 1,349 คน และผู้ร่วมตอบแบบสอบถามสำหรับกลุ่มชายหญิงรักต่างเพศจำนวน 861 คน โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถามมีอายุระหว่าง 18 ถึง 57 ปี และการวิจัยครั้งนี้ยังได้รวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสนทนากลุ่ม (focus group) จำนวน 12 กลุ่ม โดยผู้เข้าร่วมเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พิษณุโลก และ ปัตตานี ทั้งหมด 93 คน
ในที่ทำงานการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การเลือกปฏิบัติแบบเป็นทางการมักจะมาในรูปของเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขั้นตอนการรับสมัคร, ค่าตอบแทน, การถูกปฏิเสธไม่ให้เลื่อนตำแหน่ง ส่วนแบบไม่เป็นทางการมักจะมาในสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นการถูกระรานเลยทีเดียว
ความไม่เท่าเทียมที่แฝงตัวอยู่ในฉากหน้าของความเท่าเทียม ทำให้เกิด “โครงการอบรมหลักสูตร LGBT Inclusive Workplace: A Practical Training for Employers and HR Professionals” โดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Consulting Networking and Coaching Center - CONC Thammasat) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School)
รองศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาว่าถูกออกแบบจากงานวิจัยและประสบการณ์โดยตรงด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรยุคใหม่ที่ต้องการก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก
ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ และการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่าง กำลังเป็นหัวใจหลักที่ไม่ว่าจะองค์กรหรือภาคส่วนใดก็ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะความแตกต่างหลากหลายทางเพศจำเป็นที่ต้องเชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจยอมรับ
“ในโลกปัจจุบันเราไม่สามารถแบ่งแยกเพศสภาพเป็นได้แค่ผู้ชายกับผู้หญิง สิ่งพวกนี้มีอยู่มาตั้งนานแล้วในสังคม แต่เราเลือกที่จะหลับตาข้างหนึ่ง ซึ่งจริงๆ กลุ่ม LGBT เขามีความสามารถในหลายด้าน แต่ระบบของ HR ค่อนข้างเข้มงวดและมองแบบด้านเดียวก็เลยไม่เข้าใจ สองคือไม่รู้จะบริหารคนที่มีความแตกต่างอย่างไร
ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว จริงๆ คือถึงเวลามาตั้งนานแล้ว แต่เหมือนมีอะไรบางอย่างทำให้ไม่เกิด เราเห็นว่าเหมือนจะยอมรับ เช่นให้ออกทีวี แต่จริงๆ เราไม่ได้ให้สิทธิอะไรเขาเลยนะ แต่งงานได้ไหม ของเราคือให้แต่งแบบไทย ควรจะให้สิทธิเท่าเทียมกันสิ แต่ที่ผ่านมาบ้านเราถูกกดโดยธรรมเนียม จารีต ประเพณี
คนที่ควรมาเรียนรู้หลักสูตรนี้ มีทั้ง HR ซึ่งเป็นหนังหน้าไปโดยตรง อีกกลุ่มคือ CEO เพื่อจะได้รู้ว่าจะการทำงานกับคนที่เป็น LGBT ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ถ้าเขาใส่ใจเรื่องความหลากหลาย เขาควรจะมา” รองศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ กล่าว
เพราะจากผลสำรวจดังกล่าวของ UNDP มีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกด้วยว่า คนทั่วไปมีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่ม LGBT และพร้อมสนับสนุนเรื่องสิทธิความเท่าเทียม แต่การยอมรับและสนับสนุนกลับลดลงเมื่อกลุ่ม "LGBT" เป็นนักเรียน บุคคลในที่ทำงาน สมาชิกในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด
นั่นทำให้ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามที่เป็น "LGBT" รู้สึกว่าตนถูกตีตราจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายที่รักสองเพศมีประสบการณ์การถูกตีตราหลายรูปแบบกว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ
หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่ว่า มีเพียงร้อยละ 44 ของกลุ่ม "LGBT" ที่ทราบว่ามีพระราชบัญญัติความเท่าเทียม ระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ในขณะที่เกินกว่าครึ่งของกลุ่มประชากรทั่วไปที่ร่วมตอบแบบสำรวจทราบว่ามีกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งการสนับสนุนกฎหมายและนโยบายเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในภาพรวมได้คะแนนมาก แต่เมื่อลงรายละเอียดในประเด็นที่ได้รับความสนใจมาก เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อของคนข้ามเพศ การสนับสนุนนั้นกลับลดลง
เมื่อความหลากหลายของ "LGBT" จำเป็นต้องเกิดความเข้าใจทั้งองคาพยพ หลักสูตรดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมความแตกต่างหลากหลายทางเพศกับศาสตร์แห่งการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าของกิจการ ผู้บริหารองค์กร ภาคเอกชน ภาครัฐ และบุคลากรมืออาชีพที่ทำงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคล และผู้สนใจในสาขาการบริหารบุคคล รวมถึงบุคลากรที่ทำงานด้าน Corporate Social Responsibility (CSR) และด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
"หลายมหาวิทยาลัยเขายังไม่กล้าทำ สองเขายังไม่เห็นความสำคัญว่าถึงเวลาหรือยังต้องทำ เขาก็เลยไม่ได้นำเสนอชัดเจน แต่ด้วยแนวคิดของธรรมศาสตร์หรือเสรีภาพทางความคิดและแนวคิดอะไรใหม่ๆ ที่นี่เลยตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อธรรมศาสตร์เริ่มทำจะมีความสำคัญที่ได้ปลุกระดมสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่ควรจะทำด้านนี้ เพราะถ้าเราต้องการการเปลี่ยนแปลง สถานที่เดียวหรือหน่วยงานเดียว ทำไม่ได้ ต้องให้หลายๆ ที่ทำงานร่วมกัน เปิดหลักสูตรคล้ายๆ กันนี้ได้" วิทยา แสงอรุณ ประธานกลุ่ม LGBT SMEs and Professionals Thailand อธิบาย
เรื่องสิทธิและความเท่าเทียม อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องสอนสั่งกันได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเกิดการผนึกกำลังสร้างเครือข่ายร่วมกันเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Mercedez-Benz, IBM (Thailand), Facebook, Axxa Insurance Thailand, Esso (Thailand), และ Chevron ขณะที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศทางเพศ พ.ศ. 2558 ทว่าหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังขาดองค์ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศและไม่ทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อหน่วยงานที่ยังไม่ได้ปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในทิศทางนี้
บางบริษัทเกิดความขัดแย้งเรื่องการสื่อสารไปยังสาธารณะว่า บริษัทกีดกันทางเพศในการจ้างงาน จนกลายเป็นประเด็นดราม่า และส่งผลกระทบต่อแบรนด์ เป็นเหตุให้บริษัทต้องออกมาชี้แจง และเร่งจัดเทรนนิ่งและคิดหากิจกรรม CSR เพื่อปรับทัศนคติของสังคมต่อแบรนด์ (Cute Press & Oriental Princess VS กรณีไม่รับคนข้ามเพศเข้าทำงาน / สิงหาคม 2563)
"ที่ต่างประเทศเรื่องนี้ทำกันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ที่ประเทศไทยเป็นเรื่องใหม่ มันสำคัญอย่างไร ถ้าเกิดองค์กรให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมอย่างแท้จริงด้วยการมีองค์ความรู้ เขาจะมีการบริหารจัดการระบบได้ดี ทำให้ไม่ต้องปัดคนบางกลุ่มออกไป มีตัวอย่างหนึ่งเป็นนักศึกษาจบจากที่ธรรมศาสตร์นี่แหละ ตอนนี้เขาเป็น Fund Manager ที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งได้แล้ว แต่กว่าที่เขาจะได้ตำแหน่งนี้มาต้องสมัครงานถึง 10 ครั้ง ทั้งที่เขาจบเกียรตินิยมแต่หางานไม่ได้แค่เพราะเขาเป็นทรานส์เจนเดอร์ ด้วยเหตุผลที่หลายบริษัทให้ว่า การเป็นทรานส์เจนเดอร์ทำให้ธุรกิจการเงินไม่น่าเชื่อถือ ได้ยินแบบนี้ก็อึ้งนะ แต่สุดท้ายหลังจากสมัครไป 10 บริษัทก็ได้งาน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่มีแบบนี้เยอะมาก เราไม่ได้บอกว่า HR หรือองค์กรของเขาไม่ดี แต่เขาขาดองค์ความรู้ที่จะบริหารจัดการ เขาก็เลือกที่จะเพิกเฉยหรือปฏิเสธ
ถ้าหลักสูตรนี้สำเร็จ อนาคตของ LGBT จะดีขึ้น ยกตัวอย่างการกลั่นแกล้ง (bully) จะน้อยลง การที่เขากลั่นแกล้งเพราะเขาไม่รู้ว่าทำไม่ถูก ไม่มีใครบอกเขา ก็เลยเกิดการกลั่นแกล้งกันประจำ พอทุกคนมีองค์ความรู้ การกลั่นแกล้งจะลดลง ความขัดแย้งในองค์กรจะลดลง การทำงานก็จะดีขึ้น และจะสะท้อนในภาพรวมด้านอื่นๆ ครอบครัวก็จะได้รับความรู้นี้ เท่ากับว่าองค์กรได้สนับสนุนการเป็นอยู่ของ LGBT เท่ากับลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างไปโดยอัตโนมัติ" วิทยากล่าว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีภาพชัดถึงการสนับสนุนความเท่าเทียม ทั้งในเรื่องการแสดงออกทางความคิด และเพศวิถี จึงนำร่องให้เกิดความเข้าใจอย่างเป็นหลักวิชาการ ไม่เพียงแค่พร่ำบอกว่าต้อง “เท่ากัน” เท่านั้นถึงจะ “เท่าเทียม”
“โครงการอบรมหลักสูตร LGBT Inclusive Workplace: A Practical Training for Employers and HR Professionals” เปิดอบรมวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 - 16.00 น. ณ อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์