รู้จัก 'ความเหลื่อมล้ำ' ของเด็ก ที่ 'นักเรียนเลว' ไม่ได้บอก
ย้อนมอง "ความเหลื่อมล้ำ" ที่ซ่อนอยู่กับความเป็นเด็ก นอกเหนือจากข้อเรียกร้องของ "นักเรียนเลว"
เครื่องแบบนักเรียนที่ถูกแขวนบนรั้วกระทรวงศึกษาธิการ และข้อความ "ชุดนักเรียนไม่ปลอดภัย" รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อสารผ่านกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งออกมารวมตัวเคลื่อนไหวในแคมเปญ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ เป็นส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องในการปฏิรูปการศึกษา โดยมีเนื้อหาหลัก 3 เรื่อง คือ หยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบที่มีเนื้อหากดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในตัวนักเรียน และปฏิรูปการศึกษา
แม้ข้อเรียกร้องดังกล่าวจะออกมาจากปากของตัวนักเรียนเอง แต่ต้องยอมรับว่า นั่นเป็นเพียงบางส่วนของภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาบ้านเราเท่านั้น ขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายความเหลื่อมล้ำ ที่เหล่านักเรียนเลว ไม่ได้บอก
- ใครบ้างที่หายหน้าไปจากระบบการศึกษา
เด็กเกือบทุกคน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมัธยมเด็กกลับหายไปเกือบครึ่ง เหลือเพียงร้อยละ 65 เท่านั้นที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นี่เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปรากฏอยู่ใน รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2562 ที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟจัดทำขึ้น
"เด็กในครัวเรือนที่ร่ำรวยมากมีอัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสูงกว่ากลุ่มที่ยากจนมาก ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้จะสูงยิ่งขึ้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย" ข้อความในรายงานสำรวจฉบับดังกล่าวยิ่งทำให้เรื่องของ จิต (นามสมมติ) มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ด้วยความเป็นเด็กจากพื้นที่สูงทำให้ทางเลือกทางการศึกษา และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ได้มีมากนัก และนั่นทำให้เธอตัดสินใจเป็น “เด็กส่งยา” ก่อนจะจบอนาคตตัวเองลงหลังกรงห้องขัง
สิ่งที่สังคมอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับพวกเธอก็คือ มีเด็กราว 160,000 คน ไม่ได้เรียนเพราะอยู่ห่างไกล และเด็กอีกกว่า 30,000 คน ติดคุกคดียาเสพติด.ไม่ต่างจาก คำแลง เยาวชนไร้สัญชาติ ที่ต่อให้มีเกรดเฉลี่ยระดับ 3.8 ซึ่งเจ้าตัวตั้งใจเอาไว้สมัครเรียนแพทย์ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะ "ไม่มีสถานะทางทะเบียน" รวมทั้งความฝันของเด็กอีกราว 200,000 คนที่ต้องสลายไปเพราะคำว่า “ไร้สัญชาติ”
จิต และคำแลง เป็นตัวอย่างของสถานการณ์เด็กที่อยู่ใน “ภาวะเปราะบาง” ของประเทศไทยที่มีการทำสำรวจเอาไว้โดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ที่ทำให้เห็นว่า หลายเรื่อง “ถูกมองข้าม” และหลายเรื่อง “มองไม่เห็น”
- ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ก้อนใหญ่แค่ไหนในสังคมไทย
หากดูจาก รายงานสถานการณ์เด็ก และเยาวชนในสภาวะเปราะบาง ก็จะพบว่า มีเด็กไทยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้อยู่ นอกจากการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กถูกดำเนินคดี เด็กติดเชื้อ HIV หรือเด็กไร้สัญชาติแล้ว ยังมี แม่วัยรุ่นอีกราวแสนกว่าคนที่ขาดความรู้ และความพร้อมในการเลี้ยงดูโดยมีอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำในแม่วัยรุ่นกลุ่มนี้สูงถึง 3 หมื่นคน หรือ ร้อยละ 20 ของเด็กกลุ่มนี้เลยทีเดียว
ในกลุ่มเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาก็ไม่ได้หมายความว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีเด็กอยู่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1.7 ล้านคนที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ อาทิ เด็กออทิสติก หรือ เด็กสมาธิสั้น รวมทั้งยังมีเด็กอีกเกือบ 5 แสนคน เผชิญภาวะยากจนทำให้ไม่สามารถเรียนจนจบได้อย่างที่ควรจะเป็น
แน่นอนว่า เรายังมีเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน ลูกหลานแรงงานต่างด้าว อีกเกือบ 4 แสนชีวิต ซึ่งเมื่อพวกเขาถูกตัดออกจากระบบของสังคมก็จะเข้าสู่กลุ่มค้ามนุษย์ ยาเสพติด ตลอดจนความรุนแรงไปโดยปริยาย
เรื่องนี้ คนที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเด็กและเยาวชนมามากกว่า 20 ปีอย่าง ป้ามล - ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เคยบอกเอาไว้ว่า "เมื่อประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกก็เปิดออก" เธอกำลังหมายถึงเด็กที่ถูกคัดออกจากระบบการศึกษาปีละไม่ต่ำกว่าแสนคน
"ตรงนี้มันบ่งบอกถึงความล้มเหลวทางการศึกษามาตั้งนานแล้ว แต่ทุกคนก็ยังดีใจกับฟิสิกส์โอลิมปิก คณิตศาสตร์โอลิมปิก หรือว่าเด็กที่สอบได้ ขึ้นไวนิลหน้าโรงเรียน ก็ยังปลื้มกับตัวเลขแบบนั้นอยู่ แล้วเราก็ไม่เคยเหลียวมาดูคนที่เราทิ้งไว้ข้างหลังที่เป็นผู้ก่ออาชญากรรม" เธอขยายความเพิ่มเติม
- ปากท้องในโรงเรียนก็เหลื่อมล้ำ
นอกจากนั้น ภาวะความทุพโภชนาการเรื้อรัง ของเด็กในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศก็เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนออกมาจาก “งบอุดหนุนอาหารกลางวัน 20 บาท” เมื่อมื้อกลางวันที่โรงเรียนจะเป็นโอกาสเดียวที่เด็กๆ จะได้รับสารอาหารครบถ้วนที่สุดของวัน
จากรายงานวิจัยการประเมินภาวะโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ของ สุกัญญา บัวศรี จากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงรายพบว่า เด็กๆ ในพื้นที่แถบนี้ ถึงจะได้รับอาหารครบ 3 มื้อ แต่ล้วนประสบภาวะ “ทุพโภชนาการ” โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่พบว่า กว่าร้อยละ 18 มีระดับโภชนาการ “ต่ำกว่าเกณฑ์”
เมื่อภาวะโภชนาการต่ำตามมาตรฐานของประเทศไทยอยู่ที่ ร้อยละ 8 ตัวเลขนี้ สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการที่ปรึกษาสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. ยืนยันว่า เท่ากับภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเอธิโอเปียเลยทีเดียว
“ต้นทุน” ที่ต่างกันระหว่าง “คนข้างบน” กับ “คนข้างล่าง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหายังแก้ไปไม่ถึงไหน และเป็นหลักฐานยืนยันว่า 20 บาทในเมืองไม่เท่ากับ 20 บาทในป่า
แตงโมหั่นชิ้นถุงละ 25 บาทกลางสยาม อาจแลกแตงโมลูกละเกือบกิโลที่เทอดไท
แต่สมการนี้ใช้กับ “ค่าอาหารกลางวันเด็ก” ไม่ได้ เพราะยิ่งไกล ราคาก็ยิ่งแพง จาก 20 บาท ที่บ้านเทอดไท อาจต้องบวกไปเป็น 30 บาท เมื่อวัตถุดิบเดินทางไปถึง ศูนย์เด็กเล็กบ้านจะตีที่ห่างจากตัวตำบลออกไป 30 กิโลเมตร ยิ่งไปกว่านั้น เด็กไม่ถึง 20 คน คูณ 20 บาท คำนวณมุมไหนก็ไม่คุ้ม จึงไม่มีผู้รับเหมารายไหนกล้าเสี่ยงขึ้นไปจัดการเรื่องอาหารกลางวันให้
ผลก็คือ ครู 1 คนต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ขึ้นมาทำกับข้าว หิ้วไปสอน หลังเที่ยงก็เก็บล้าง และทำหลักสูตรการสอน โดยที่ศูนย์เด็กเล็กอีก 2 แห่งใน 18 แห่งก็มีชะตาไม่ต่างจากนี้
เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่า โรงเรียนบนพื้นราบจะไม่เจอปัญหา เพราะอย่างที่ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี เอง การจัดอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน 100 คน ต้องมีงบประมาณ 2,000 บาท ต่อวัน แต่วัตถุดิบประกอบอาหารมีราคาสูง เช่น ไข่พะโล้ต้องใช้เงิน 1,300 บาท ผัดกะเพรา 1,200 บาท ขนมจีนน้ำยา 1,700 บาท ต่อมื้อ หากต้องทำอาหาร 2 อย่างตามระเบียบ เช่น มีทั้งไข่พะโล้และผัดกะเพราจะต้องใช้เงินถึง 2,500 บาท เกินงบประมาณต่อวัน
เมื่อความเหลื่อมล้ำถือเป็น 1 ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มีความสำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะกับเด็ก และเยาวชน เมื่อเทียบเคียงกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ และมุ่งสู่สังคมที่เป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแล้วล่ะก็...
ความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ในความเป็นเด็กเหล่านี้จึงถือว่าเป็นความท้าทายของบรรดาผู้ใหญ่ในสังคมอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ต้องให้นักเรียนเลวมาบอกด้วยซ้ำ