‘จะนะ’ควรเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมหรือไม่
การเดินหน้าโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ. จะนะ จ.สงขลา มีคำถามมากมายที่รัฐยังไม่ได้ตอบ แล้วประชาชนจะไม่สงสัยได้อย่างไร..
ในเดือนพฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่ เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ
เช่น กระทรวงการคลังประกาศให้พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร รวมทั้งดำเนินการพัฒนาพื้นที่ศุลกากรเป็นระบบ ตลอดจนภาคเอกชนที่มีแผนงานโครงการ เช่น การพัฒนาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เป็นท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 การวางแผนและลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าทางเลือก และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการมีมติเห็นชอบในหลักการให้เดินหน้าโครงการ ปราศจากการศึกษาผลประโยชน์และต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ตลอดจน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ผู้เขียนพบว่า การเดินหน้าโครงการดังกล่าวมีคำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนและไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน[1] เช่น ผลประโยชน์ของโครงการต่อการจ้างงานทั้งหมดเป็นอย่างไร โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมรายใหญ่ประมาณ 50 ราย จะทำให้เกิดการจ้างงานโดยตรงประมาณ 25,000 ตำแหน่ง แต่การประเมินผลกระทบที่แท้จริงต้องคำนึงทั้งผลกระทบทางบวกและทางลบที่อาจเกิดขึ้นด้วย
กล่าวคือ โครงการจะทำให้เกิดตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นและลดลงกี่ตำแหน่ง และ การลงทุนของโครงการจะช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างไร กล่าวคือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โรงไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าทางเลือก และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีการเชื่อมโยงและช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างไร
เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบทางลบจากโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาทบทวนมติ “เห็นชอบ” การเดินหน้าโครงการ โดยให้ศึกษาประเมินผลกระทบโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความสมบูรณ์และรอบด้านมากขึ้น โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจ ก่อนที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ควรให้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่
เหตุผลสำคัญที่ต้องมีการศึกษาผลกระทบโครงการทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อนเดินหน้าโครงการต่อไป เนื่องจาก
ประการแรก เพื่อประเมินทั้งผลกระทบที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นของโครงการ
ประการที่สอง ปรับปรุงความโปร่งใสของการดำเนินโครงการ เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน และป้องกันการใช้ประโยชน์ในทางมิชอบของกลุ่มผลประโยชน์
ประการที่สาม เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อรับรู้ข้อควรพิจารณาที่หลากหลายและครบถ้วน และเพื่อให้โครงการมีความชอบธรรม
ประการสุดท้าย เพื่อระบุให้ชัดเจนว่า โครงการดังกล่าวจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างไร และมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา
โดยสรุป เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ. จะนะ จ. สงขลา ควรได้ไปต่อหรือไม่? การตัดสินใจเชิงนโยบายดังกล่าว ควรขึ้นอยู่กับเหตุผลเชิงประจักษ์และข้อมูลจากการศึกษาผลกระทบโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
เนื่องจาก การพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและต้องมีความเข้าใจบริบทเชิงพื้นที่อย่างถูกต้องและรอบด้าน ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นจะรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับความต้องการและทิศทางในการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขันของท้องถิ่น
นอกจากนี้ ภาครัฐควรแสดงความจริงใจและสร้างความโปร่งใสของโครงการ โดยกำหนดให้มีตัวแทนจากทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายต่อต้าน และภาควิชาการ เข้ามาเป็นคณะทำงานศึกษาผลกระทบโครงการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและเป็นกลางให้มากที่สุด
.....................
[1] https://tdri.or.th/2020/10/chana-industrial-estate/ และ https://www.isranews.org/article/isranews-article/93588-south.html