สธ.ยกทีมแจงยิบกรณีจัดหา 'วัคซีนโควิด-19'

สธ.ยกทีมแจงยิบกรณีจัดหา 'วัคซีนโควิด-19'

สธ.แจงละเอียดกรณีจัดหา”วัคซีนโควิด-19” ยันไม่ล่าช้า-เพียงพอ-ราคาไม่แพง บ.แอสตราเซนเนก้าเป็นผู้เลือกบ.สยามไบโอไซเอนฯเองฐานผลิตวัคซีน เพราะมีศักยภาพพร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลิตเสร็จขายให้รัฐบาลไทยในราคาต้นทุน ย้ำข้อดีไทยทยอยฉีดวัคซีนแบบไม่เร่ง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงการจัดหาวัคซีนโควิด-19ของประเทศไทย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้มีข้อสงสัย และอาจจะมีการกล่าวหารัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวข้องกับการเมืองวัคซีน และบริษัทที่เกี่ยวข้องต่างๆ กล่าวหารัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้วัคซีนมาด้วยความนิ่งนอนใจ ล่าช้า ราคาแพง ไม่หลากหลาย ไม่คลอบคลุมกับประชาชน กระทรวงจึงต้องมีการออกมาชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริง


“ขอแสดงความสำนึกต่อสถาบันกษัตริย์ไทย ที่มีต่อวงการสาธารณสุขมาตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนวันนี้ระบบการแพทย์ของประเทศไทยไม่น้อยหน้าใครในโลก และในรัชกาลที่ 10 ในช่วงปี 2562-2563 มีการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาให้หลายครั้งรวมกว่า 4 พันล้านบาท และพระราชทานอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงรถโมบายตรวจหาเชื้อนิรภัย ช่วยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพระราชทานขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 ยันไม่ได้ล่าช้า
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มจัดทำแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่วัคซีนยังอยู่ในขั้นการทดลอง โดยได้ศึกษาติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาว่าใครทำอะไรถึงไหนอย่างไรแลเว ซึ่งยังเป็นช่วงที่มีข้อมูลจำกัดและยังมาไม่มีข้อมูลสำเร็จเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า ประเทศไทยจึงเริ่มจากการตั้งเป้าหมายจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทย 50 % โดยพิจารณาใน 3 แนวทาง 1.การจองซื้อผ่านความนร่วมมือโครงการโคแวกเป้าหมาย 20 % ที่เป็นเหมือนวัคซีนถังกลาง โดยเอาวัคซีนหลายเจ้ามารวมกัน ให้หลายประเทศมาซื้อ

ประเทศไทยก็สนใจและมีการเจรจาหลายครั้ง แต่เงื่อนไขในการจองซื้อราคาค่อนข้างสูง บวกกับการฝ่ายตรงข้ามเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ อาจยุ่งยากทำสัญญาจองซื้อและการได้มาของวัคซีนก็ยังเป็นปัญหา แต่เมื่อประเมินถึงปัจจุบันแล้ว แนวทางนี้เป็นไปได้ยาก 2.การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี 20 % ซึ่งก็คือจากบริษัทแอสตราเซนเนก้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทสยามไบโอไซเอน 26 ล้านโดส และ3.เปิดทางไว้เพื่อเจรจากับบริษัทอื่นๆ อีก 10 % นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19ภายในประเทศ เพื่อที่ในอนาคตประเทศไทยจะพึ่งพาตัวเองในเรื่องวัคซีนได้


“เราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว สถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีข้อมูลสำเร็จรูป ณ เวลาใดเลาหนึ่ง ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางตามสถานการณ์ การได้มาจำนวนหนึ่งจากซิโนแวค ในเดือนก.พ.-เม.ย.2564 และ 26 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราฯในเดือนพ.ค.2564 และเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมให้ได้ตามเป้า 50% ในปลายปี 2564 ไม่ได้ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วไป ซึ่งประเทศที่ฉีดก่อนก็จองซื้อตั้งแต่การวิจัยเป็นวุ้น มีข้อแตกต่างกับการดำเนินการของประเทศไทยที่ต้องรอบคอบในการดำเนินการ”นพ.ศุภกิจกล่าว

161104412249
ดูหลายส่วนก่อนจองซื้อ
นพ.นคร กล่าวถึงการจองซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราฯภายใต้เงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทในประเทศไทยว่า การจัดหาวัคซีนโคิวด 19 ต่างจากสถานการณ์ปกติ จึงใช้ความรู้ประสบการณ์เดิมไม่พอ เพราะเป็นการบริหารจัดการในภาวะเร่งด่วน และไม่แน่นอน ดังนั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ดำเนินการจองล่วงหน้า ใช้หลายองค์ประกอบไม่ใช่แค่เจรจาจัดซื้อวัคซีนโดยทั่วไป จะต้องพิจารณารูปแบบวัคซีนที่พิจารณาอยู่เป็นอย่างไร แนวโน้มใช้การได้ และนำมาใช้ในประเทศไทยได้อย่างไร ไม่ใช่ตามชื่อบริษัทหรือตัววัคซีนอย่างเดียว


 บ.สยามไบโอไซฯมีศักยภาพ
นพ.นคร กล่าวอีกว่า กรณีการจองซื้อกับบริษัท แอสตราเซนเนก้า ไม่ใช่จองซื้อทั่วไป แต่มีข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทยด้วย ซึ่งบริษัทฯต้องหาผู้มารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่จะถ่ายทอดทั่วไปได้ ในช่วงเวลาเร่งด่วนนี้ไม่ใช่เรียนทำวัคซีนปกติ จะต้องพร้อมที่สุด มั่นใจมากที่สุด โดยบริษัทแอสตราฯได้ทบทวนคุณสมบัติบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ใช่แค่บริษัทเดียว แต่มีเพียงบริษัท สยามไบโอไซเอนฯ ที่มีศักยภาพพร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบไวรัลเวคเตอร์ ไม่ใช่จะเลือกเอาเอกชนรายใดมาทำก็ได้ แม้แต่องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ศักยภาพก็ไม่เพียงพอที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีความพร้อม และคนมาสอนไม่เสียเวลามากไปเพราะเรื่องเร่งด่วน


 แอสตราฯเป็นผู้เลือกบริษัทผลิต
“บริษัท แอสตราฯเป็นผู้คัดเลือก โดยจากที่มีเครือข่ายทำงานร่วมกัน ม.ออกฟอร์ด เครือเอสซีจี จึงเจรจาให้แอสตราฯมาประเมินศักยภาพบริษัท สยามไบโอไซฯ บวกกับบริษัท แอสตราฯมีนโยบายขยายกำลังการผลิตทั่วโลก ระดับกำลังการผลิตได้ 200 ล้านโดสต่อปี เมื่อพิจารณาบริษัท สยามไบโอไซฯเข้าหลักเกณฑ์ที่บริษัทแอสตราฯต้องการ ซึ่งการที่ไทยได้ข้อตกลงลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่หลายประเทศอยากได้ มีผู้พยายามแข่งเข้ามาเพื่อให้แอสตราฯคัดเลือก แต่ความพยายามทำงานทีมไทยแลนด์ ในการเจรจา แสดงศักยภาพ และรัฐบาลมุ่งมั่นสนับสนุนพัฒนาศักยภาพบริษัทฯเต็มที่ จากเดิมผลิตชีววัตถุ ยาเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ให้มีศักยภาพผลิตวัคซีนรูปแบบไวรัลเวคเตอร์ จำนวน 599 ล้านบาทและเอสซีจี 100ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องมือพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มเติม"นพ.นครกล่าว 


นพ.นคร กล่าวด้วยว่า เหล่านี้ไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน เรามีพื้นฐานอยู่เดิม ในหลวงร.9 พระราชทานไว้ วางแนวทางไว้ว่าบริษัทผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล ผลกำไรแต่ละปีไม่คืนทุนเวลารวดเร็วเป็นการขาดทุน แต่ผลกำไรที่ประเทศไทยคือมีศักยภาพเรื่องชีววตัถุ ลดการนำเข้า ประหยัดงบสาธารณสุข คนที่ไม่เห็นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสนับสนุนบริษัทที่ขาดทุน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่นี่เป็นตามหลักการที่ร.9พระราชทานไว้ ทำมาต่อเนื่องจนมีต้นทุน มีความรู้ จึงได้รับการคัดเลือกจามกแอสตราฯในวันนี้ ถ้าไม่ได้ทำไว้ก่อนนับสิบปีที่ผ่านมา วันนี้จะไม่มีทางเข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดส และรัฐบาลอนุมัติจองซื้อเพิ่ม 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดสเพื่อให้เพียงพอ


ยันวัคซีนเพียงพอ
ไม่ต้องกังวลว่าวัคซีนไม่เพียงพอ มีเพียงพอแน่ ซึ่งการมีศักยภาพผลิตในประเทศ เราผลิตได้เอง แม้สิทธิจำหน่ายเป็นของแอสตราฯแต่ก็อยู่บนฐานความร่วมมือ ที่จะทำให้ไทยพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต หากมีโรคติดต่ออุบัติใหม่ เพราะฉะนั้น การที่บริษัท สยามไบโอไซฯ มาร่วมทีมไทยแลนด์เป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ เพราะบริษัทต้องหยุดการผลิตสินค้าชีววัตถุเดิมที่สร้างรายได้แต่ละปี และมาพัฒนาขีดความสามารถวัคซีนตลอด 24 ชั่วโมงตอลบอด 7 วัน เพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย ซึ่งบริษัทฯรับการถ่ายทอดการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ โดยแอสตราส่งวัคซีนมาให้เพียง 1 ซีซี ต้องมาขยายการผลิตให้ได้ 2,000 ลิตร เจ้าหน้าที่ทุ่มเทมาก เพื่อผลิตให้ได้จำนวนตามกำหนด และคุณภาพตามกำหนด ตอนนี้ก็เป็นไปตามแผน มั่นใจได้วัคซีนแน่ปลาย พ.ค. และคุณภาพวัคซีน ตรงตามม.ออกฟอร์ดและแอสตรากำหนด”นพ.นครกล่าว


 ขอผู้วิจารณ์ใช้ข้อมูลครบถ้วน
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า การจัดหาวัคซีนโควิด-19ที่ตั้งเป้า 50% ของประชาชน จำนวน61ล้านโดส เป็นเป้าของปี 2564 ซึ่งการกระจายวัคซีนต้องใช้ความสามารถอย่างมาก จึงไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนหามาทีเดียวเต็ม 100% ของจำนวนคนไทย โดยการคาดการณ์ของยูนิเซฟ ระบุว่าปลายปีนี้ จำนวนวัคซีนจะเพียงพอกับประชากรทั้งโลก แต่ตอนนี้ที่มีการใช้เป็นไปในภาวะเร่งด่วน จึงรีบร้อนนำมาใช้


“ผู้วิพากษ์วิจารณ์มีข้อมูลไม่ครบควรต้องใช้ความสามารถตรวจสอบข้อมูลมากกว่านี้ ประเทศแรกที่ใช้วัคซีนก่อนหน้าเริ่มมีรายงานเจ็บป่วยผลจากวัคซีน สะท้อนเรื่องความมั่นใจการใช้วัคซีน ถ้าประเทศรีบนำมาใช้และไม่ปลอดภัย เรานำมาใช้ต้องมั่นใจความปลอดภัย อาจมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์แต่รับได้ก็ไม่เป็นไร แต่ที่เกิดรุนแรงต้องระวัง การรีบร้อนไม่ใช้ข้อมูลศึกษาให้ดี เร่งอยากใช้อาจเกิดผลเสีย ประเทศไทยจึงพยายามขอข้อมูลผู้ผลิตต่างๆ เพื่อได้ข้อมูลชัดเจนเรื่องคุณภาพประสิทธิภาพ ขอให้คนวิพากษ์วิจารณ์ใช้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ด้านเดียว หรือนึกคิดเอาเองตามประสบการณ์เดิมๆ จะช่วยลดความเข้าใจผิด”นพ.นครกล่าว

 จัดซื้อราคาต้นทุน
นพ.นคร กล่าวอีกด้วยว่า ประเทศไทยซื้อวัคซีนจากแอสตร้า ฯ โดยที่แอสตราฯจ้างบริษัทสยามไบโอไซฯ ผลิตวัคซีน แต่การจ้างก็ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วยซึ่งลักษณะแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบให้เปล่าไม่ต้องเสียค่าถ่ายทอด เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีต้นทุนที่ดี แอสตราฯก็ไม่ถ่ายทอดให้แน่นอน เมื่อผลิตเสร็จแล้วแอสตราฯก็ขายให้ไทยบนพื้นฐาน ไม่มีกำไร แต่จะไม่ขาดทุน ขายโดยคิดราคาต้นทุน

ดังนั้น ค่าจ้างในการผลิตที่บริษัทสยามไบโอไซฯก็คิดในราคาทุนจากแอสตราฯเช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องกำไร เป็นเรื่องการทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีน ซึ่งก็ เป็นนโยบายของม.อ๊อกฟอร์ดด้วยเช่นกันเรื่องไม่คิดกำไร เมื่อไม่มีกำไร จึงไม่มีผลประโยชน์อะไรมาเคลือบแคลงในการเจรจาจัดซื้อวัคซีน เพราะทุกอย่างเป็นการจัดซื้อที่สะท้อนในราคาต้นทุนทั้งสิ้น

 ขอหยุดกล่าวหาคลาดเคลื่อน
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้รับงบฯ 600 ล้านบาท และให้เป็นทุนพัฒนาศักยภาพของบริษัทสยามไบโอไซฯเพิ่มเติม โดยในสัญญาการรับทุน บริษัทสยามไบโอไซฯเสนอเองขอให้ระบุว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้แล้วตามมาตรฐานของแอสตราฯ จะคืนทุนให้เป็นวัคซีนในจำนวนที่เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับทุน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเพราะปกติจะให้ทุนลักษณะให้เปล่า เพื่อลบข้อสงสัยว่าสนับสนุนบริษัทเอกชน จึงแสดงเจตจำนงไว้ในสัญญา


“เพราะฉะนั้นข้อกล่าวหาอันคลาดเคลื่อนและเลื่อนลอย ควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปเชื่อมโยงกับเรื่องของการทำงานของสถาบันที่พวกเราเคารพรัก”นพ.นครกล่าว

จัดซื้อในราคาไม่แพง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.)กล่าวว่า เรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย เราไม่ได้ทำตามกะแสกดดันหรือทำตามประเทศอื่น ซึ่งในเรื่องการดูแลความปลอดภัยนั้นมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เป็นผู้พิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ โดยตามแผนเดิมมีแผนจัดหามาฉีดประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2564 แต่เมื่อมีการระบาดมากขึ้นที่จ.สมุทรสาคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จึงมอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดย คร. ไปเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เบื้องต้นได้ของซิโนแวคมา 2 ล้านโดส และมีการเจรจาอีกประมาณ 4 บริษัท แต่บริษัทเหล่านี้ต้องนำเอกสารมายื่นต่ออย.ด้วย

“การฉีดวัคซีนฟรีแก่ประชาชนจำนวนมาก ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งในการหารือเมื่อเดือน มี.ค.- เม.ย. 2563 เคยประมาณการณ์ว่าวัคซีนอาจจะมีราคาสูงถึงหลัก 1,000 บาทต่อโดส แต่ราคาที่ประเทศไทยจองซื้อกับบริษัทแอสตราฯอยู่ที่ 5 เหรียญต่อโดส หรือประมาณ 150 บาท ถูกที่สุดในท้องตลาดขณะนี้ แต่ของบางบริษัทที่บางประเทศจัดซื้อนั้นราคาประมาณ 19 เหรียญ แพงกว่าไทยจองซื้อ 4 เท่า และบางบริษัทราคาขึ้นไปกว่า 30 เหรียญ ดังนั้นในทางกลับกันวันนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนได้ในราคาที่ถูกที่สุดด้วยซ้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการจัดหาวัคซีนมาให้คนไทยนั้นจดำเนินการอย่างรอบคอบ นำวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและราคาที่เหมาะสม”นพ.โอภาสกล่าว