การเป็นผู้ให้ นำไปสู่ความสุขและแสดงถึงความฉลาด

การเป็นผู้ให้ นำไปสู่ความสุขและแสดงถึงความฉลาด

ช่วงปลายปีที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นช่วงเวลาของการ “ให้” ทั้งการให้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเทศกาล รวมทั้งการให้ (ในรูปแบบการบริจาค) ก่อนสิ้นปีเพื่อเหตุผลทางภาษี

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการให้รูปแบบใดก็ตาม พบว่ามีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นผู้ให้ที่นำไปสู่ความสุข และการเป็นผู้ให้แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของบุคคลผู้นั้น

ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีบทความใน Wall Street Journal ที่อ้างอิงงานวิจัยต่างๆ ที่ระบุว่ายาลดความเครียดที่ดีที่สุดประการหนึ่งคือการเป็นผู้ให้ การให้ที่เป็นกุศลสำหรับผู้อื่นนั้นนำไปสู่อารมณ์ที่ดีขึ้น ลดระดับความดันและทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

การให้ที่เป็นกุศลกับผู้อื่นสามารถนำไปสู่การหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี (Dopamine) ฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า (Serotonin) และช่วยลดฮอร์โมนที่นำไปสู่ความเครียด (Cortisol)

นอกจากนี้ในบทความดังกล่าวยังได้ระบุว่า การเป็นผู้ให้ที่นำไปสู่การสร้างความสุขแล้ว ถ้ารู้จักที่จะให้และมีการบริหารการ “ให้” ที่ดี ก็ยังสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดีใช่ว่าการ “ให้” ทุกครั้งและทุกอย่างจะส่งผลดีต่อตัวผู้ให้เท่าๆ กัน วิธีการที่จะให้มีความสำคัญมากกว่าจำนวนหรือปริมาณที่จะให้ ดังนั้นไม่ใช่ยิ่งบริจาคเงินมาก จะไปสู่ความรู้สึกที่เป็นสุขและสุขภาพที่ดีมากกว่าผู้ที่บริจาคเงินที่น้อยกว่า

หรือการให้นั้นก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของเงิน แต่การให้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น สละเวลาเพื่อเป็นอาสาสมัคร ก็สามารถที่จะส่งผลในเชิงบวกกลับมาได้มากกว่าการบริจาคเงิน

ปัจจัยสำคัญของการ “ให้” ที่จะนำไปสู่ความสุข คือ ความตั้งใจที่จะให้ คือเมื่อให้ด้วยใจ ด้วยความสมัครใจ ด้วยความเต็มใจ จะนำไปสู่ผลทางสุขภาพใจและกายมากกว่า ให้เพราะเป็นหน้าที่ ความจำเป็นหรือรู้สึกผิด

ความสุข ความรู้สึกที่ดีที่เกิดขึ้นจากการให้นั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Giver’s High

และมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าความสุขจากการให้จะอยู่ยาวนานกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการใช้เงินเพื่อซื้อของ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Shopping Therapy (ที่เป็นการบำบัดความเครียดและสร้างความสุขจากการซื้อของ)

นอกจากนี้ ถ้าพบว่าการ “ให้” นำไปสู่ประโยชน์หรือมีผลที่ชัดเจน จะยิ่งช่วยยกระดับความสุขและความอิ่มเอมใจขึ้นไปอีก

การบริจาคเงินเพียงไม่กี่สิบบาทสำหรับผู้ที่ขาดแคลนและพบว่าเงินดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ที่ขาดแคลนสามารถซื้ออาหารได้อิ่มท้องไป 1 มื้อ จะยิ่งช่วยยกระดับของความสุขที่เกิดขึ้นให้เพิ่มไปอีก และนำไปสู่ความปรารถนาที่จะให้ต่อไป

การให้ที่นำไปสู่ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของเงินหรือสิ่งของเสมอไป “การให้เวลา” ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ในด้านความสุขในระดับเดียวกัน และยังจะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดีมากกว่าเพียงแค่การบริจาคเงิน

มีงานวิจัยที่พบว่าการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมหรืองานการกุศลต่างๆ แม้เพียงแค่สองชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็เพียงพอต่อการนำไปสู่การลดระดับความเครียด และทำให้รู้สึกถึงคุณค่าและประโยชน์ของตนเองด้วย

การเป็นผู้ให้ยังเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงระดับความสามารถทางสมองได้ด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ Adam Grant นักวิชาการจาก Wharton อ้างอิงจากงานวิจัยต่างๆ ที่พบว่าผู้ที่มีความสามารถของสมองที่ดีมักจะเป็นผู้ให้ มากกว่าการเป็นผู้รับ และคิดถึงแต่ตนเอง

ถึงแม้ความสามารถทางสมองที่ดี เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคคลประสบความสำเร็จ นำไปสู่โอกาสและความสามารถในการให้ที่มากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะต้องประสบความสำเร็จและพร้อมก่อนที่จะเป็นผู้ให้ แต่เป็นเพราะผู้ที่มีความสามารถทางสมองที่ดี จะมีความเห็นใจ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และปรารถนาจะช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่า

มีตัวอย่างมากมายที่พบว่า การเริ่มต้นจากการเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะในเรื่องของเวลาผ่านงานอาสาทั้งหลายนำไปสู่โอกาสทางสังคม ซึ่งก็นำไปสู่โอกาสของความสำเร็จในการทำงาน และวนกลับไปสู่โอกาสการเป็นผู้ให้ได้มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็เป็นวงจรแห่งความดีและความสำเร็จไปเรื่อยๆ

มีตัวอย่างของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เก่งและมีศักยภาพ ที่มีความเป็นผู้ให้ และการให้นั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน แต่เป็นการให้ในเรื่องของเวลา การแบ่งปันความรู้ ความสามารถ ผ่านทางการสร้างหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่นำไปสู่ประโยชน์แก่ผู้อื่น

สรุปคือการให้ที่นำไปสู่ความสุข และแสดงถึงระดับความสามารถทางสมองนั้น จะต้องเป็นการให้ด้วยใจ และมีความตั้งใจจริง จะต้องมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งสุดท้ายผู้ให้เองก็จะเป็นผู้รับโดยไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ นั้นคือนำไปสู่ความสุข ทั้งสุขภาพใจและกายที่ดีขึ้น