ไทยเปิดเจรจา ผู้บริหารกองทุน COP29 โชว์ศักยภาพ เพื่อรับการสนับสนุนระดับโลก

ไทยเปิดเจรจา ผู้บริหารกองทุน COP29 โชว์ศักยภาพ เพื่อรับการสนับสนุนระดับโลก

การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก เช่น การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 1.5°C เหนือระดับก่อนอุตสาหกรรม ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ การสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้สามารถทำตามพันธสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก

กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในการประชุมสภาพภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกนในปี 2009

เพื่อให้การสนับสนุนในการเสริมสร้างศักยภาพประเทศต่างๆ พัฒนา และดำเนินโครงการด้านสภาพภูมิอากาศ จุดเด่นที่สำคัญของ GCF คือ ใช้วิธีขับเคลื่อนโดยประเทศ ซึ่งหมายความว่าประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นผู้นำในการวางแผน และดำเนินโครงการที่ได้รับทุนจาก GCF

ทั้งนี้ ในงาน COP29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้มอบหมายให้ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับ นายเฮนรี่ กอนซาเลซ Chief Investment Officer ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF)

ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ภายใต้ Thailand Country Programme ทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเด็นความชัดเจนเกี่ยวกับการเพิ่มโอกาสให้ไทยได้รับสนับสนุนทางการเงินมากยิ่งขึ้น

ทั้งในด้านการดำเนินโครงการ และการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Investment) พร้อมทั้งเร่งรัดติดตามการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติของหน่วยงานไทย ทั้งนี้ ผลจากการหารือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทาง และแนวทางที่ชัดเจนในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียวต่อไป

ไทยเปิดเจรจา ผู้บริหารกองทุน COP29 โชว์ศักยภาพ เพื่อรับการสนับสนุนระดับโลก

การเข้าถึงกองทุน

กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) ระดมทุนผ่านการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ และการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เช่น รัฐบาล เอกชน องค์การระหว่างประเทศ ผู้อุปถัมภ์ สถาบันการเงิน องค์กรการกุศล และการบริจาคจากประเทศพัฒนาแล้วภายใต้กรอบ UNFCCC

ผู้สมัครที่สามารถขอรับทุนประกอบด้วย

1. รัฐบาล : รัฐบาลแห่งชาติ และรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนาสามารถขอรับทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. หน่วยงานภาคเอกชน : บริษัทและธุรกิจที่มีส่วนร่วมในโครงการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และความยืดหยุ่นทางภูมิอากาศ

3. องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐบาล (NGOs) : NGOs ที่ทำงานเกี่ยวกับโครงการ และการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศ

4. สถาบันการเงิน : ธนาคาร และสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนทางการเงินสีเขียว และสนับสนุนโครงการที่ยั่งยืน

5. องค์กรระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ : องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก

เงินให้เปล่า - เงินกู้

กองทุนภูมิอากาศสีเขียวให้การสนับสนุนทางการเงินในหลายรูปแบบ ได้แก่

  • ทุนสนับสนุน (Grants) : เงินสนับสนุนที่ไม่ต้องชำระคืน มอบให้กับโครงการ และกิจกรรมเฉพาะด้านสภาพภูมิอากาศ
  • เงินกู้ (Loans) : เงินทุนที่ต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย โดยมักจะให้ในเงื่อนไขที่ผ่อนปรนเพื่อทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
  • การลงทุนในหุ้น (Equity) : การลงทุนในโครงการหรือบริษัทโดยแลกกับการถือหุ้นในองค์กรนั้นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทน และบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ
  • การค้ำประกัน (Guarantees) : เครื่องมือทางการเงินที่ลดความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน กระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนในโครงการด้านสภาพภูมิอากาศ

ความก้าวหน้าของไทยช่วงสัปดาห์แรก

ดร.พิรุณ ได้ประชุมร่วมกับคณะผู้แทนไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการเจรจาในช่วงสัปดาห์แรก เตรียมพร้อมก่อนเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (Resumed High-level Segment) ของ COP29 ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย.2567 โดยคณะผู้แทนไทยได้รายงานความก้าวหน้าผลการเจรจาในสัปดาห์แรกของการประชุม COP29 มีประเด็นสำคัญ 10 ประเด็น ดังนี้

1) เป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่ (New Collective Quantified Goal: NCQG) เพื่อระบุจำนวนเงินต่อปีที่ชัดเจนความโปร่งใสของการสนับสนุน และการเข้าถึงได้ง่ายของประเทศกำลังพัฒนา

2) การทบทวนสถานการณ์ และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เพื่อจัดทำในครั้งที่ 2 และเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่การจัดทำ NDC 2035 และการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิก

3) การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายระดับโลก

4) การเร่งสร้างกติกา และกลไกดำเนินงานของกองทุนจัดการความสูญเสีย และความเสียหาย (Loss and Damage Fund)

5) การหาข้อสรุปให้เกิดความร่วมมือ และกลไกที่เอื้ออำนวยการดำเนินงานระหว่างภาคีด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส

6) การสร้างช่องทางออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเกษตรด้านวิชาการ และสนับสนุนทางการเงิน

7) การเสริมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (Action for Climate
Empowerment: ACE)

8) การกำหนดสาระของรายงานผลความคืบหน้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสองปี ที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องจัดส่งภายในสิ้นปี ค.ศ.2024

9) การขับเคลื่อนศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยี และสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว

และ 10) การสร้างกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะมีการรวมทั้งรวบรวม และจัดทำสรุปผลการประชุม COP29 เพื่อเผยแพร่ในวันสิ่งแวดล้อมไทย วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์