ขอทวงสัญญากทม. ทำไมไม่ตั้ง‘พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย’?
นักเขียนการ์ตูนกลุ่มนี้ ขอทวงถามสัญญาที่ทางกทม. ให้ไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว บอกว่า จะทำพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย แต่เหตุใดจึงเงียบหายไป ไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น
"พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยเริ่มจากงานหนังสือโลกที่จัดในเมืองไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีงานนี้ที่กทม.เป็นเจ้าภาพ ก็มีการทำเอกสารในการแข่งขันกับประเทศอื่น และสัญญาว่าจะมีพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยอยู่ในนั้นด้วย แต่พองานหนังสือโลกเสร็จแล้ว ก็ไม่ทำ คุณไม่ทำตามพันธะสัญญานั้นให้บรรลุเป้าหมาย ส่วนความคืบหน้าตอนนี้ก็ทวงถามกันอยู่" โอม รัชเวทย์ ศิลปิน นักเขียนการ์ตูน นักวาดภาพประกอบ เล่าให้ฟังในงาน นิทรรศการการ์ตูนไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ที่ Old Town Gallery แยกแม้นศรี ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ
- การรวมตัวกันครั้งแรก
"ตอนแรกไม่ได้คิดจะจัดงานนี้ เพราะไม่มีการเตรียมการอะไรเลย พอดีช่วงโควิด มีน้องที่ทำแกลอรีเข้ามาคุยว่า พี่มีอะไรทำไหม จัดงานการ์ตูนเพื่อพบปะกันไหม เพราะนักเขียนการ์ตูนอยู่ในโลกโซเชียลไม่ได้เจอกัน แล้วนักเขียนการ์ตูนก็มีจำนวนมาก เราคงดึงมาได้ไม่หมด ก็เลยคิดว่า เอางานนี้เป็นพื้นฐานก่อน เหมือนเป็นการซ้อม เพราะการ์ตูนเราไม่เคยจัดมาก่อน
เป็นงานที่เราช่วยกันทำเป็นครั้งแรก จากที่ต่างคนต่างอยู่ หันหน้าเข้าข้างฝา เขียนงานส่ง ทำแบบนี้กันมานับร้อยปี เราก็มาเจอกันบ้าง ในกลุ่มพี่น้องและแฟนคลับ หลังจากนี้แต่ละคนก็จะมีแฟนคลับชักชวนกันมาทำกิจกรรมต่อไป" โอม กล่าว และว่า ในเมื่อจัดแล้วก็ต้องมีสาระบ้าง
"เมื่อจัดแล้วก็อยากให้เกิดประโยชน์ มีเสวนา มองปัญหาร่วมกัน แล้วหาทางออก เพราะปัญหาบางอย่างหาทางออกได้ทันที แต่บางอย่างก็ต้องใช้เวลา ที่สำคัญนักเขียนการ์ตูนได้โชว์ผลงานเฉพาะในโลกโซเชียล แต่ไม่เคยโชว์ผลงานในแกลอรีอย่างจริงจัง ก็จะได้โชว์ในงานนี้ เราจัดแบบอินดี้ ใครมีกรอบแบบไหนก็เอามาเลย ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการขาย ขายได้ก็ขาย ไม่อยากขายก็เอามาโชว์ได้
คนเขียนการ์ตูนมีหลายแขนงตั้งแต่คนที่เขียนการ์ตูนขายหัวเราะ คนเขียนการ์ตูนเล่มละบาท นิยายภาพก็เป็นอีกวงการ มีการ์ตูนการเมือง มีกลุ่มทอย อาร์ตสมัยใหม่ คนละวงการกัน ก็มาร่วมงาน มาสร้างแรงบันดาลใจกัน"
- การ์ตูน ยกระดับความคิด
โอม เล่าต่อว่า "นักเขียนการ์ตูนสมัยก่อน ไม่เคยมีการรวมตัว ต่างคนต่างทำงาน เลี้ยงชีพกันไป งานสมัยก่อนแข่งขันสูงเพราะทั่วประเทศ ไม่มีสิ่งบันเทิงอื่น ทีวีก็ยังไม่มี การ์ตูนจึงเป็นสิ่งบันเทิงหลัก ถ้าเราเขียนไม่ดี แฟนๆ ก็ไม่ติด เราก็ไม่เกิด สมัยก่อนแบรนด์คุณต้องดี
อยากจะบอกกับนักเขียนการ์ตูนไม่ว่ารุ่นไหน การทำงานการ์ตูนไม่ได้ตอบสนองความสุขเราคนเดียว เราต้องทำเพื่อยกระดับความคิดคน ยกระดับความงาม สุนทรียะ เราต้องศึกษา เราต้องมีใจ มันไม่ง่าย แต่บั้นปลายมันคุ้มค่า ก็อยากให้นักเขียนการ์ตูนทุกรุ่น เอาใจใส่ต่องานตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ใช่เพื่อใคร สุดท้ายก็เพื่อตัวเราเอง"
ทางด้าน เซีย นักเขียนการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พูดถึงสถานการณ์ล่าสุดให้ฟังว่า
"เราเคยเกือบจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยได้ แต่ไม่สำเร็จ ตอนนี้ก็พยายามผลักดันต่อ โดยอาศัยคุณ พลเดช วรฉัตร ซึ่งเกษียณแล้ว ท่านมีประสบการณ์ไปดูพิพิธภัณฑ์มาหลายประเทศ เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และท่านเองก็เป็นนักเขียนการ์ตูนด้วย ศิลปะยึกยือ เราก็เชิญท่านเข้ามาอยู่ในทีม เพื่อที่จะไปเรียกร้องพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย ตอนนี้เพิ่งเข้าไปคุยได้วาระเดียว ยังไม่มีการนัดหมาย
ตอนนี้ผมเองก็ไปช่วยทีวีสื่อสังคม จะไปขอช่องการ์ตูนอย่างเดียวเลย การ์ตูนทั้งวัน มีแต่เรื่องราวของการ์ตูน เสนอโครงการไปแล้ว ช่องนี้ไม่ต้องเสียตังค์ แล้วก็ไม่ได้ตังค์ อาจจะมีช่องทางให้พวกเราทำกิจกรรมการ์ตูนผ่านทีวีได้ ตอนนี้สมาคมการ์ตูนไทย มีผมเป็นอุปนายก มีอะไรก็ติดต่อถึงกันได้หมด มีเฟซบุ๊คสมาคมการ์ตูนไทย" เซีย เล่า
ส่วน โอม บอกว่า ตอนนี้สมาคมการ์ตูนไทยยังไม่มีทำเนียบนักเขียนการ์ตูน
"มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เคยมีทำเนียบนักเขียนการ์ตูนเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ศิลปากร เขาได้มาสัมภาษณ์พวกเรา ทำทุกสิ่งทุกอย่างไปเยอะมาก ในบ้านเราไม่มีข้อมูลเลย มีเก็บไว้ที่ศิลปากรเยอะที่สุด"