รู้จัก 'แอนโทนี่' ผู้เสนอเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนให้ 'อีลอน มัสก์'

รู้จัก 'แอนโทนี่' ผู้เสนอเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนให้ 'อีลอน มัสก์'

ทำความรู้จัก “แอนโทนี-ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์” เด็กไทย วัย 15 ปี จากเชียงราย ที่เสนอโครงการดักจับคาร์บอนในอากาศแปลงเป็นออกซิเจน ให้กับ อีลอน มัสก์ ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นตัวแทนเยาวชนแก้ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 มาเป็นเวลานาน

หลังจากที่ "อีลอน มัสก์" นักธุรกิจและนักประดิษฐ์ชื่อดังระดับโลก ได้ประกาศเงินรางวัล 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ผู้ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีเครื่องดักจับคาร์บอนที่ดีที่สุด (Carbon Capture Technology) เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน โดยให้เงินรางวัลมากถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

  • "อีลอน มัสก์" คือใคร

อีลอน รีฟ มัสก์ (Elon Reeve Musk) อายุ 49 ปี ซีอีโอบริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้า “เทสลา อิงค์” (Tesla Inc.) และบริษัทขนส่งทางอวกาศ “สเปซเอ๊กซ์” (SpaceX) เป็นนักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกัน แอฟริกาใต้ ทั้งยังเป็นวิศวกรและนักประดิษฐ์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัทของ PayPal ในวัยเพียง 29 ปี ตลอดจนบริษัทอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้จุดประกายความคิดระบบขนส่งความเร็วสูงที่เรียกว่าไฮเปอร์ลูป และเครื่องบินใบพัดขับเคลื่อนไฟฟ้าเหนือเสียงแบบขึ้นลงทางดิ่ง

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 เขาได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินทั้งสิ้น 185 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง บริษัทค้าปลีกออนไลน์แอมะซอน

นอกจากนี้ ในเหตุการณ์ช่วยชีวิตทีมหมู่ป่า ติดถ้ำหลวง เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ยังได้เดินทางมาประเทศไทยด้วยตัวเอง เพื่อเก็บข้อมูลภายในถ้ำหลวง พร้อมนำแคปซูลที่เขาและทีมงานประดิษฐ์ขึ้นจากท่อออกซิเจนเหลวของจรวด Falcon 9 มาส่งให้รัฐบาลไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการช่วยเหลือ

161563058563

Cr.wikipedia

  • ประกาศตามหานักประดิษฐ์

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา "อีลอน มัสก์" ได้ประกาศหาผู้ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุด (Carbon Capture Technology) เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเงินรางวัลจำนวนมากถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากนักพัฒนาทั่วโลก และถูกเผยแพร่ไปในสื่อออนไลน์

โดยเทคโนโลยี Carbon Capture Technology ที่ "อีลอน มัสก์" ประกาศเป็น "เทคโนโลยีที่ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์" (Co2) เนื่องจากอีลอน มัสก์ ได้เล็งเห็นว่า โลกใบนี้ ออกซิเจนลดลงเนื่องจากมีการตัดต้นไม้ และขาดสมดุลทางธรรมชาติ จากมลภาวะมลพิษต่างๆ ทั่วโลก ที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น เทคโนโลยีดังกล่าว จะเข้ามาช่วยให้อนาคต มีอากาศบริสุทธิ์ให้มนุษย์ที่อยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างเพียงพอ พร้อมกับเป้าหมายการสร้างเมืองมนุษย์บนดาวอังคาร ซึ่งอีลอน มัสก์ มีความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จให้ได้ในอีก 100 ปีข้างหน้า

  • "แอนโทนี่" กับเทคโนโลยีถึง "อีลอน มัสก์"

หนึ่งในผู้ที่สนใจโครงการดังกล่าว คือเด็กไทยในวัย 15 ปี อย่าง "แอนโทนี-ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์" นักเรียนเกรด 9 จากโรงเรียนนานาชาติเกนส์วิลล์ จ.เชียงราย

“มาเรียม วรกิตติโชติกรณ์” คุณแม่ของแอนโทนี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับมหาวิทยาลัยพะเยา และ อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการพัฒนาผู้เรียนด้านไอที ถือเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันและส่งเสริมให้กับแอนโทนี่ได้ทำในสิ่งที่สนใจ อธิบายว่า ด้วยความที่น้องมีความสนิทกับ คุณลุง ซึ่งเป็นนักบิน F16 กองทัพอากาศ ตั้งแต่ 7 ขวบ ทำให้เรียนรู้คลุกคลีกับการเป็นนักประดิษฐ์มาโดยตลอด

“ประกอบการความชอบส่วนตัวด้านภาพยนตร์ ครีเอทีฟ เล่นดนตรี และความสามารถในการถ่ายทอดจากสิ่งเข้าใจยากให้เข้าใจง่าย ดังนั้น ความใฝ่ฝันของแอนโทนีในอนาคต คือ การเรียนทางด้านภาพยนตร์ที่ตัวเองสนใจ นอกจากนี้ แอนโทนี่ ยังมักเรียนรู้ฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง และสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลจีนไปเรียนชั้น ม. 1 ที่กวางโจว 1 ปี โดยกลับไทยมาก่อนโควิด-19 เพียง 1 เดือน”

ด้วยความที่ครอบครัวอาศัยอยู่ที่ จ.เชียงราย และพบว่าปัญหาหมอกควันจากการเผา และมลพิษทางอากาศ มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้แอนโทนี่ มีความตั้งใจอยากให้คนไทยได้มีอากาศบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศในภาคเหนือ และ จ.เชียงราย ที่ตนเองอาศัยอยู่

  • “เชียงราย” กับปัญหาฝุ่นตั้งแต่ต้นปี

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จ.เชียงราย พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน คณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กจังหวัดเชียงราย มีมติให้ความเห็นขอบในการประกาศ 90 วันปลอดการเผา นับระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564

พร้อมมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากไฟป่า หมอกควัน และลดมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย ปี พ.ศ.2550 กำหนดห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิด 90 วันปลอดการเผา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ห้ามเผาทุกชนิดในที่โล่ง ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

  • ส่งโครงการถึง อีลอน มัสก์

หลังจากที่ "แอนโทนี" เห็นประกาศของอีลอน มัสก์ จึงร่วมมือกับคุณลุงผู้เป็นนักประดิษฐ์ ในการผลิตเครื่องมือที่มีกลไกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเป็นก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์เพื่อทำเชื้อเพลิง และก๊าซออกซิเจนเพื่อคืนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเครื่องดังกล่าวยังสามารถกำจัดฝุ่น PM 2.5 ในอากาศได้ พร้อมกับรวบรวมข้อมูลต่างๆ สรุปให้เข้าใจง่าย ให้มีความแตกต่างในการนำเสนอ เพื่อแข่งขันกับผู้ที่มีนวัตกรรมจากทั่วโลก และตัดต่อคลิปวิดีโอเผยแพร่ลงบนยูทูบ เพื่อให้อีลอน มัสก์ ได้พิจารณา

โดยในเนื้อหาของคลิปวิดีโอ เป็นการกล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมเครื่องดักจับคาร์บอน พร้อมกับบอกเล่าถึงความประทับใจที่ อีลอน มัสก์ ได้เดินทางมาช่วยช่วยภารกิจ 13 หมูป่า ที่ถ้ำขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย และรู้สึกประทับใจที่เขาสามารถคิดค้นนวัตกรรมกู้ภัยได้อย่างรวดเร็ว จึงอยากให้เขาเห็นว่าคนไทยสามารถผลิตนวัตกรรมดักจับคาร์บอนได้

คลิปวิดีโอ : The solution to win Elon Musk $100 Million Best Carbon Capture Technology from Anthony Thailand

  • แปลงคาร์บอนฯ สู่เชื้อเพลิง

แอนโทนี่ ระบุว่า สำหรับเทคโนโลยีระบบ Co2 to Fuel มีกลไกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ และก๊าซออกซิเจน รวมถึงภายในเครื่องมือ ยังสามารถดักจับฝุ่นละลอง PM2.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศได้ และเมื่อมีการเปลี่ยนก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซไฮโดรเจนแล้ว จะสามารถนำก๊าซไฮโดรเจนไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงมีเทนและปิโตรเลียม ขณะที่ก๊าซออกซิเจนสามารถปล่อยคืนสู่ชั้นบรรยากาศได้

  • ความแตกต่างจากผู้แข่งขันประเทศอื่น

สำหรับระบบดังกล่าว มีความแตกต่างด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า จากเทคโนโลยีระบบอื่นเป็นอย่างมาก และสามารถแปลงไฮโดรเจนต่ำวกว่า 50 เซ็นต์ต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ไฮโดรเจนที่ได้จากระบบ Co2 to Fuel ยังสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลงในการเผาไหม้และอะไรก็ได้รวมถึงการเป็นเชื้อเพลิงพลังงานให้ยานอวกาศและการเป็นเชื้อเพลงที่มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารได้

แอนโทนี่ อธิบายต่อไปว่า ก๊าซออกซิเจนที่ได้ ใช้ในการหายใจที่เป็นอากาศบริสุทธ์ ระบบที่มีสามารถแปลงจากคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเชื้อเพลงให้พลังงานและออกซิเจน ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และแก้ปัญหา PM2.5 ได้ ระบบนี้ไม่ใช่ระบบดักจับคาร์บอนฯ แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถแปลงคาร์บอนให้เป็นพลังงานได้

  • เดินหน้าสู่การปฏิวัติเทคโนโลยี

สำหรับการเปิดตัวเทคโนโลยีดังกล่าว คาดว่า จะนำมนุษยชาติไปสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งใหม่ เนื่องจากไฮโดรเจนที่ได้จากการเปลี่ยนโดยตรงจากเชื้อเพลงฟอสซิล ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่บริสุทธ์และหมุนเวียนในระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นคือไฮโดรเจน

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีนี้ “ยกระดับและแก้ไข” สิ่งสะดุด หลักของการปฏิวัติไฮโดรเจน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีต้นทุนต่ำในการได้รับไฮโดรเจน และนั่นคือพื้นฐานของการสังเคราะห์อินทรีย์ในอนาคตทั้งหมด