นายกฯเอื้อเอกชนนำเข้า"วัคซีนทางเลือก"รองรับคนมีเงิน
นายกฯไฟเขียวเอกชนจัดหา "วัคซีนทางเลือก"อีก 10 ล้านโดส ตอบสนองกลุ่มคนมีเงินจ่ายเอง ตั้งคกก.พิจารณาใน 1 เดือน เร่งแผนสำรองเตียงกทม.
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล แถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มเติม โดยข้อสรุปศบค.ชุดเล็ก จะมีผลตั้งแต่ 10 เม.ย.2564 ใน 3 ข้อใหญ่ คือ 1.การปิดสถานบริการ สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดที่ได้ตรวจพบการระบาดแล้ว และมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคที่จำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน ให้สั่งปิดสถานที่ไว้เป็นชั่วคราวอย่างน้อย 14 วันใน 41 จังหวัดนับตั้งแต่ 10-23 เม.ย.2564
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมาย สำหรับสถานประกอบการอื่น ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอื่น ที่ยังไม่ได้สั่งปิดสถานที่นั้นเป็นการชั่วคราว หากเห็นว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค สามารถสั่งปิดได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ทั้งนี้ให้เป็นไปตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
2.ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ อาจจะเร็วขึ้นในการควบคุมโรค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะการโรคติดต่อจังหวัด ให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายการบังคับใช้ได้ก
และ3.ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่อื่น ที่มีหน้าที่รับผิดชอบประสานปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดและเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าตรวจพื้นที่ สถานที่กิจการหรือกิจกรรมต่างๆที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างสม่ำเสมอ และสั่วปิดเป็นการชั่วคราวได้ มีผลตั้งแต่ 10 เม.ย.2564
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ. ศอ. ได้ขอเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาประชุมในเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนไม่รับตรวจเชื้อ เพราะน้ำยาหมดจริงหรือไม่ ซึ่งพบว่าน้ำยายังไม่หมดยังมีอยู่ โดยนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเป็นตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนต่างๆเข้ามาประชุมด้วย พบว่า น้ำยายังพอมีแต่เกณฑ์เดิม คือมหากรพ.ใดตรวจพบต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นจะปล่อยให้เดินออกไปไม่ได้ แต่เตียงรพ.เอกชนก็เต็มแล้วเกินศักยภาพแล้ว จึงไม่สามารถที่จะรับตรวจต่อได้ ก็ต้องแจ้งว่าไม่สามารถตรวจเชื้อต่อได้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลเอกชนบอกว่ายินดีที่จะตรวจให้ แต่เตียงไม่พอรองรับ นายกฯจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน ทั้งนี้ สิ่งที่กทม.รายงานว่า 1.สามารถขยายศักยภาพของโรงพยาบาลกทม.ได้ถึงประมาณ 5,000 กว่าเตียง 2.การเพิ่มการรักษาในโรงแรมที่มีจำนวนห้องที่ว่างทำเป็นฮอสพิเทลให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยเข้ารับการดูแลในโรงแรมภายใต้การควบคุมของสถานพยาบาลได้จำนวนหนึ่ง และ 3.โรงพยาบาลสนาม ซึ่งก็มีพื้นที่บางขุนเทียนบางกอกอารีน่า พื้นที่กว้างสามารถจัดเตรียมการได้
"ส่วนการผูกติดเรื่องว่ารพ.เอกชนตรวจแล้วต้องนอนโรงพยาบาลก็ให้ไปหาข้อสรุปมา เพื่อผ่อนคลายเพราะภาคเอกชนยังเป็นความสะดวกของประชาชนที่จะเข้าไปตรวจ แต่ตรวจเสร็จแล้วเจอติดเชื้อ ต้องหาทางส่งต่อ ต้องจัดรถรับส่งพาไปยังจุดเป้าหมายที่จะให้คนๆเข้ารับการดูแล ถ้าเป็นกลุ่มไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อเตรียมการทรัพยากรโรงพยาบาลเอาไว้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการมากๆ ก็ต้องมีระบบแยกแยะผู้ป่วยอาการต่างๆ ซึ่งกรมการแพทย์ สธ.จะดำเนินการในเรื่องนี้ ทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
และ2.เรื่องการจัดหาวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่รัฐจัดหาขณะนี้มีราว 63-70ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชน 31-35 ล้านคน ซึ่งการจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติรายงานว่า จะต้องให้กับคนไทยราว 40 ล้านคน แสดงว่าจะต้องจัดหาเพิ่มอีกให้อีก 5 ล้านคนหรือ 10 ล้านโดส ดังนั้น ขอให้เป็นวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนได้หรือไม่ โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอตัวว่ามีความสามารถกับทางสภาหอการค้าฯที่จะสามารถเชื่อมโยงไปกับภาคเอกชนบริษัทเอกชนทั้งหลาย เพียงขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวก แต่ติดขัดหลายเรื่อง เช่น ที่ผ่านมาผู้ผลิตเจ้าของวัคซีน ต้องการจดหมายรับรองของภาครัฐ หรือให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)สั่งซื้อให้เพื่อที่จะให้นำเข้ามาโดยตรงแล้วให้ภาคเอกชนขอแบ่งซื้อมา โดยมีหลากหลายรูปแบบ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยทั้งสิ้น อยากให้มีการทำยังไงก็ได้ให้มีการใช้โควตาวัคซีนอีก 10 ล้านคน ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหากมีศักยภาพ และขอให้ภาครัฐสนับสนุนและนำมาสู่การเติมวัคซีนนี้ให้กับประชาชน อาจจะได้เร็วได้ช้าอาจจะมีราคาต้องสูงขึ้น แต่ต้องปลอดภัยต่อประชาชน
" นายกฯมอบหมายให้ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เลขาฯอย. อธิบดีกรมควบคุมโรคและผอ. สถาบันวัคซีน รวมถึง นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมจัดเป็นคณะกรรมการประชุมปรึกษาหารือ ขอให้ได้ผลภายใน 1 เดือนเพื่อให้ขับเคลื่อนเรื่องของวัคซีนทางเลือกในอีกช่วงเวลา โดยตอนนี้ไทยมีขึ้นทะเบียนมี 3 ยี่ห้อคือแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หากมีทางเลือกอื่นๆก็ยังมีไฟเซอร์ ซีโนฟาร์มหรือ สปุตนิกวี ก็ไม่ควรซ้ำกัน เพื่อให้เป็นทางเลือกกระจายความเสี่ยงและผู้ที่มีกำลังซื้อก็ไปติดต่อขอซื้อฉีดวัคซีนเป็นการเฉพาะได้ หากมีความคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป"นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารจัดการวัคซันให้ดำเนินการเร่งการฉีดและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ทั้งเรื่องพื้นที่และบุคคลกลุ่มเป้าหมาย อย่าง 41 จังหวัดที่มีภาพกระจายของการติดเชื้อไปตรงนั้น โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้ก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจ