'กักตัว' อย่างไร ไม่ให้ ‘อ้วนลงพุง’
การระบาดโควิด-19 ประชาชนทุกคนต้องหยุดอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน ตามสโลแกนที่ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ยิ่งการระบาดครั้งใหม่ทำให้หลายคนต้อง"กักตัว" แต่เมื่ออยู่บ้านนานๆ อาจทำให้เกิดอาการนั่งๆ นอนๆ นำไปสู่ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เกิดโรคอ้วนลงพุงได้
ในช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้าน การควบคุมพฤติกรรมตนเอง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เกินความต้องการของร่างกาย และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ “หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง” ไม่ว่าจะระหว่างการกักตัว การอยู่บ้าน หรือในชีวิตประจำวันปกติ จะสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุงซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
ข้อแนะนำจาก “กรมการแพทย์” ระบุว่า ระหว่างที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านนั้น เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เกินความต้องการของร่างกาย และออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราเลือกรับประทานอาหารอย่างไม่ระมัดระวังเกินความจำเป็นที่ร่างกายต้องการและขาดการออกกำลังกาย หรือขยับร่างกายน้อย
เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ จะทำให้ร่างกายมีภาวะไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุง ซึ่งมีการสะสมไขมันที่บริเวณช่องท้อง หากมีมากเกินไปจะทำให้เห็นพุงยื่นออกมาชัดเจนทำให้เสียบุคลิกภาพ
- “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” คืออะไร
ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือ Sedentary Behavior โดยมีรากศัพท์มาจากคำภาษาละติน Sedere ซึ่งแปลว่า นั่ง “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” จึงหมายถึง การนั่งหรือนอนในกิจกรรมต่างๆ โดยใช้พลังงาน 1.5 MET (หน่วยที่ใช้ในการประมาณค่าของจำนวนออกซิเจนที่ถูกร่างกายใช้) ไม่รวมการนอนหลับ ด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยี วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันจึงถูกปรับเปลี่ยนโดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนสมัยก่อน
ในขณะที่ เรามี "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" ระบบเมตาบอลิกในร่างกายของเราจะทำงานแย่ลง รวมถึงอัตราการเผาผลาญพลังงาน ก็จะน้อยลงไปด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ในที่สุด
- อ้วนลงพุง ต้นตอ NCDs
ผลการวิจัยระบุว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ อาทิ ในผู้ที่อายุ 18 ขึ้นไป “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายจาก โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน และภาวะของเมตะบอลิคซินโดรม หรืออาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “โรคอ้วนลงพุง” มีสาเหตุเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง ส่วนเด็กที่อายุไม่เกิน 8 ปี ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน ปัญหาความดัน ระดับคอเลสตอรอล ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พฤติกรรมการเข้าสังคม และผลการเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ “โรคอ้วนลงพุง” อาจส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังร้ายแรงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง ไตเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคอ้วนลงพุง และไขมันพอกตับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 วิธี ห่าง “โรคอ้วนลงพุง” ช่วงกักตัว
การควบคุมพฤติกรรมการทานอาหารและการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน ดังนี้
- ลดปริมาณข้าว เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก และผลไม้หวานน้อย
- รับประทานอาหารประเภทอบ ตุ๋น ต้ม นึ่ง ย่าง และเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมูไม่ติดมัน เนื้อไก่ไม่ติดหนัง และเต้าหู้ เลี่ยงเมนูอาหารทอดหรือแกงกะทิ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน เลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควรระวังอาหารจานเดียวที่ให้พลังงานสูง เช่น ผัดซีอิ๊ว ข้าวมันไก่ บะหมี่แห้ง ราดหน้า
- เลือกออกกำลังกายให้มีความเหมาะสมต่อตนเอง มีความพอดีต่อสภาพร่างกายและสม่ำเสมออย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
หากสามารถปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมาทั้งหมด ก็สามารถลดโอกาสที่จะเป็น "โรคอ้วนลงพุง" และ "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" อื่นๆ ได้ ส่งผลให้เรามีสุขภาพดีทั้งในระหว่างการหยุดอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้านและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง