'ผู้สูงอายุ' กทม. คุณภาพชีวิตต่ำกว่าในชนบท
ส่องผลวิจัย เพราะเหตุใด "ผู้สูงอายุ" ที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ จึงมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าผู้สูงวัยในชนบทและในเมือง? แล้วทางออกควรเป็นอย่างไร?
ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน : ระยะที่ 1 การพัฒนาตัวชี้วัดของชุมชนที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย โดย ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันฯ (https://thaitgri.org) พบว่า ผู้สูงวัยในเขตกรุงเทพฯ มีความพึงพอใจในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรโดยรวม “ต่ำกว่า” ผู้สูงวัยในชนบทและในเมือง รวมถึงความพึงพอใจด้านกิจกรรมทางสังคม ด้านระบบบริการสังคมและสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
ส่วนผู้สูงวัยในชนบทมีความพึงพอใจในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย ด้านอาคารสถานที่และการสัญจร รวมถึงความพึงพอใจด้านที่อยู่อาศัยและที่พักพิง ต่ำกว่าผู้สูงวัยในกรุงเทพฯ และผู้สูงวัยในเมือง
การวิจัยครั้งนี้ยังสามารถสรุปได้ว่าการอาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย ส่งผลเชิงบวกต่อพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างชัดเจน แต่เป็นที่น่าสนใจว่าผู้สูงวัยที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ มีพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตต่ำกว่าผู้สูงวัยในชนบทและผู้สูงวัยในเมือง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีผลต่อพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย นั่นอาจหมายถึงว่าสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรในเขตเมืองหลวง เช่น กรุงเทพฯ อาจมีข้อเสียเปรียบ หรือไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรในเขตเมือง หรือเขตชนบท
ดังนั้น การปรับปรุงหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออาทรและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยในเมืองหลวงที่มีความเจริญและแออัดสูง จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง โดยสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยที่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน คือ สิ่งแวดล้อมด้านกิจกรรมทางสังคม ด้านระบบบริการสังคมและสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ
ส่วนในเขตชนบท คือการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเรื่องอาคารสถานที่ การสัญจร และเรื่องที่อยู่อาศัย-ที่พักพิงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรส่งเสริมให้ผู้สูงวัยในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้
มูลนิธิสถาบันวิจัยฯ ยังเผยแพร่รายงานการวิจัยที่ได้ให้ทุนสนับสนุน เรื่อง “การวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ภาระโรคและความต้องการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ” โดย นพ.สกานต์ บุนนาค และคณะ โดยพบว่าผู้ป่วยสูงอายุชายที่มารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 จำนวนกว่า 5.1 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 19.90 อันดับ 2 โรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 5.83 ตามด้วยอันดับ 3 โรคข้อเสื่อม ส่วนผู้ป่วยสูงอายุหญิงจำนวนกว่า 6.4 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวานมากที่สุดเช่นกัน โดยมีสัดส่วนร้อยละ 30.97 อันดับที่ 2 คือโรคข้อเสื่อม ร้อยละ 12.67 อันดับที่ 3 ต้อกระจก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภาระโรคพบว่าสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะ (เป็นจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย) มากที่สุดในผู้สูงอายุทั้งเพศชายและเพศหญิงคือโรคหลอดเลือดสมอง และหากจำแนกตามกลุ่มอาการสูงอายุ โรคที่พบบ่อยมากที่สุดคือปัญหาช่องปาก ข้อเข่าเสื่อม และการมองเห็น