WHO เชิญไทย กำหนดเส้นชัย กำจัดไข้มาลาเรียเป็นศูนย์
WHO เชิญประเทศไทย ร่วมโครงการริเริ่มกำจัดไข้มาลาเรีย สธ. ตั้งเป้าให้กำจัดไข้มาลาเรียเป็นศูนย์ภายในปี 2567 เร่งรัดในพื้นที่ 40 จังหวัดที่ยังมีการแพร่เชื้อ ด้วยมาตรการ 1-3-7
วันนี้ (23 เมษายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก ปี 2564 ผ่าน Facebook Live ว่า วันมาลาเรียโลก วันที่ 25 เมษายนปีนี้ ได้กำหนดคำขวัญ คือ Zero Malaria - Draw the Line Against Malaria หรือ “กำหนดเส้นชัย กำจัดไข้มาลาเรียเป็นศูนย์” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกประเทศตระหนักว่า การกำจัดโรคไข้มาลาเรียยังต้องการความร่วมมืออย่างมากจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชุมชน
ซึ่งจะส่งผลให้การกำจัดโรคไข้มาลาเรีย มีความยั่งยืน โดยองค์การอนามัยโลกได้เชิญประเทศไทยให้เข้าร่วมโครงการริเริ่มกำจัดไข้มาลาเรีย ภายในปี 2568 (E-2025 initiative) เนื่องจากมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ได้แก่ มีแผนกำจัดโรคไข้มาลาเรียของประเทศไทย ตั้งเป้าหมายกำจัดโรคไข้มาลาเรียในปี 2567 ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559
มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง คือ กลุ่มมาลาเรีย กองโรคติดต่อนำโดยแมลง มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ น้อยกว่า 5,000 ราย และมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดให้มาลาเรียเป็นโรคที่ต้องแจ้งและผู้ป่วยมาลาเรียทุกรายได้รับตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากที่กรมควบคุมโรคได้มีมาตรการเร่งรัดการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่ที่ยังมีการแพร่เชื้อ (40 จังหวัด) มีเป้าหมายหยุดการแพร่เชื้อ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้สถานการณ์โรคลดลงเป็นอย่างมาก จากในปี 2559 ที่พบผู้ป่วยเกือบ 20,000 ราย ลดลงเหลือเพียง 4,000 รายในปี 2563 จากมาตรการการแจ้งเตือนภายใน 1 วัน การสอบสวนภายใน 3 วัน และการตอบโต้ภายใน 7 วัน (มาตรการ 1-3-7)
การติดตามผลการรักษาจนครบทุกราย และการพัฒนาแผนเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียโดยหน่วยงานในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ไม่มีการแพร่เชื้อ (37 จังหวัด) ต้องไม่มีพื้นที่กลับมาแพร่เชื้อใหม่ โดยการเตรียมความพร้อมป้องกันการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ บูรณาการงานป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียกับระบบสาธารณสุขปกติในพื้นที่ และขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า กองโรคติดต่อ นำโดยแมลงได้พัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่แพร่เชื้อ และร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ กระทรวงกลาโหม เน้นการควบคุมโรคในกลุ่มทหาร ทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วย
ในทหารได้ร้อยละ 90 ในเวลา 2 ปี กระทรวงมหาดไทย เน้นการมีส่วนร่วมในการลงทุนโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการให้ความรู้ในเด็กนักเรียนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันตนเอง
ทั้งนี้ ประชาชนเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง ป่าเขา สวนยาง สวนผลไม้ ควรเน้นการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง ทายากันยุง และเมื่อกลับจากพื้นที่ดังกล่าว ถ้ามีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ควรเข้ารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422