คนกรุง ทุบสถิติ ใส่หน้ากาก 99.37% สูงสุดตั้งแต่รายงานมา
อว. เผยคนกรุงเทพใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะแล้ว 99.37% ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่รายงานมา อย่างไรก็ตามช่วงศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ยังมีแนวโน้มอัตราส่วนการใส่หน้ากากอนามัยน้อยกว่าช่วงวันทำงาน และในช่วงเย็นที่มีอัตราการใส่หน้ากากอนามัยน้อยกว่าในตอนเช้า
วันนี้ (2 พฤษภาคม 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รายงานผลการติดตามการใส่หน้ากากอนามัย โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) แบบเรียลไทม์ โดยเอสไอไอที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า ในขณะนี้คนกรุงเทพใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะสูงถึง 99.37% ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดเท่าที่ได้ประเมินการให้ความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัย โดยมีผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่ไม่ถูกต้องรวมกันเพียง 0.63% หรือเท่ากับมีผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยเพียง 2 ใน 1000 คน และใส่แต่ไม่ถูกต้องเพียง 4 ใน 1000 คนเท่านั้น
ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานว่า "ข้อมูลเล่าสุดได้ประเมินแบบอัตโนมัติในประชากร 11,894 คน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 จาก 30 จุด ใน 28 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร โดยทุกจุดมีผู้ใส่หน้ากากอนามัยมากกว่า 95% และมี 8 จุดในเขตยานนาวา มีนบุรี ภาษีเจริญ พระนคร บางคอแหลม ดอนเมือง จตุจักร และคลองเตย ประชาชนที่สัญจรไปมาได้ใส่หน้ากากอนามัย 100% แล้ว"
"อัตราการใส่หน้ากากอนามัยขณะนี้ ทำสถิติสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มรายงานมา อย่างไรก็ตามช่วงศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ก็ยังมีแนวโน้มอัตราส่วนการใส่หน้ากากอนามัยน้อยกว่าช่วงวันทำงาน และในช่วงเย็นที่มีอัตราการใส่หน้ากากอนามัยน้อยกว่าในตอนเช้า
ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า อย่างไรก็ตาม การสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจการใส่หน้ากากในพื้นที่สาธารณะ หากเป็นไปได้ ในสถานที่ทำงาน หรือบุคคลใกล้ชิด ก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยเช่นกัน
"ที่ผ่านมา พบว่า ในช่วง มี.ค. 64 เป็นช่วงการ์ดตก และเริ่มมีการระบาดในเดือนเม.ย. 64 ดังนั้น ขอเน้นย้ำมาตรการสถานประกอบการ และสถานที่ทำงานต่างๆ คิดว่าท่านเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้คนในการดูแล สามารถเข้มข้นมาตรการในการดูแลตนเอง ขณะในที่ทำงาน ไม่มีการรวมกลุ่ม แยกของเครื่องใช้ ปฏิบัติตามมาตรการ เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพื่อลดยอดผู้ติดเชื้อ ให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาอย่างปลอดภัย และลดตัวเลขของผู้เสียชีวิตในที่สุด"