จากโควิดระบาดหนัก 'เรือนจำ' ไทย สู่วิธีรับมือโควิดใน 'คุก' ทั่วโลก

จากโควิดระบาดหนัก 'เรือนจำ' ไทย สู่วิธีรับมือโควิดใน 'คุก' ทั่วโลก

จากกรณีคลัสเตอร์คุก "กรมราชทัณฑ์" เปิดแผนสกัดโควิดที่ระบาดหนักใน "เรือนจำ" ไทยอย่างเร่งด่วน พร้อมชวนดูวิธีรับมือโควิดใน "คุก"แห่งอื่นๆ จากผลสำรวจของ Global Prison Trends 2021 ที่รายงานผลกระทบของโควิด-19 ต่อเรือนจำทั่วโลก

เมื่อมีรายงานว่าเกิดการระบาดโควิด-19 อย่างหนัก ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลาง จนมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 2,835 ราย "กรมราชทัณฑ์" จึงได้ตั้งแผนรับมือ พร้อมออกมาแถลงถึงมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดใน "คุก" ที่เกิดเหตุอย่างเร่งด่วน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สรุปมาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์คุกครั้งนี้ มาให้รู้กันชัดๆ อีกครั้ง พร้อมชวนไปดูวิธีรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ใน "เรือนจำ" แห่งอื่นๆ จากทั่วโลก

1. "กรมราชทัณฑ์" สั่งแยกผู้ติดเชื้อโควิดทันที

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุในการแถลงมาตรการฯ (13 พ.ค.64) ว่า การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำจำนวนมากครั้งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายในทันที และจะมีการแจ้งไปยังญาติผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะราย (ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ต้องขัง) พร้อมทั้งเร่งสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อดังกล่าว ไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกราย โดยจะตรวจซ้ำยืนยันภายใน 7 วัน และ 14 วัน

2. "เรือนจำ" ขอตั้งโรงพยาบาลสนามได้

ส่วนกรณีที่พบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือเป็นกลุ่มสีเขียว เรือนจำใดที่มีจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก สามารถขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เรือนจำได้ ภายใต้ความเห็นชอบของฝ่ายปกครองพื้นที่สาธารณสุขจังหวัด โดยจะต้องจัดเตรียมบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อม สำหรับวิธีรับมือเบื้องต้นกับสถานการณ์ของ "เรือนจำ" ที่เกิดเหตุขณะนี้ คือ

  • เร่งการตรวจคัดกรอง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกไปผู้ต้องขังรายอื่นๆ และส่งตัวไปรักษาต่อ
  • ให้ผู้ต้องขังสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำหรือทัณฑสถาน
  • เพิ่มปริมาณของคลอรีนในการฆ่าเชื้อเพิ่มเติมในพื้นที่อาบน้ำ
  • จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจและยารักษาผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

3.  เร่งจัดหาอุปกรณ์/เวชภัณฑ์/วัคซีนโควิด

วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับการอนุเคราะห์รถพระราชทาน วิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (PCR) มาสนับสนุน จึงทำให้ตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำได้ 100% ด้านทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็ได้เร่งดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้แก่

  • จัดหาอุปกรณ์และเวชภัณฑ์เพิ่มเติม ได้แก่ ยาต้านไวรัส Favipiravir, ยากลุ่มพิเศษ (High cost), เครื่องช่วยหายใจ 5-15 เครื่อง, ชุด PPE, ชุด Rapid test, อุปกรณ์จำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม
  • เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลสนาม และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนัก(ระดับสีแดง)ได้
  • เตรียมเสนอให้มีการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขังที่ไม่ติดเชื้อ โดยเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุ-กลุ่มมีโรคประจำตัว

4. เปิด 3 มาตรการสกัดโควิดใน "เรือนจำ"

สำหรับการวางแผนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวม ที่อาจจะต้องขยายผลไปสู่เรือนจำแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ 

- Bubble and Seal : ใช้กับเรือนจำที่มีการระบาดใหญ่ ปรับลดการรับตัวผู้ต้องขังรายใหม่ลง โดยส่งเรื่องพิจารณาให้ศาลทราบและพิจารณาหนทางต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ รวมถึงการไต่สวนทางระบบ Conference เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผู้ต้องขังไปศาล

- คัดกรองรายใหม่ เพิ่มเวลาแยกกัก : ผู้ต้องขังเข้าใหม่, ออกศาล หรือกลับจากโรงพยาบาล จะต้องแยกไปอยู่ในแดนกักควบคุมโรคอย่างน้อย 21 วัน เร่งตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักตัวไปยังแดนทั่วไป 

- ให้เจ้าหน้าที่กักตัวและตรวจ Swab : เจ้าหน้าที่เรือนจำทุกแห่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้อยู่ในพื้นที่บ้านพัก ลดการสัมผัสกับครอบครัว และต้องเข้ารับตรวจ Swab ค้นหาการติดเชื้อที่อาจรับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวโดยวิธี RT- PCR ทุก 14 วัน

5. "โควิด" ระบาดใหญ่ กระทบ "เรือนจำ" ทั่วโลก

Global Prison Trends 2021 รายงานประจำปีที่จัดทำโดย Penal Reform International (PRI) และ Thailand Institute of Justice (TIJ) ได้ทำการสำรวจถึงประเด็นการจัดการเรือนจำ และผลกระทบของโควิด-19 ต่อระบบเรือนจำทั่วโลก โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรือนจำที่อยู่ในภาวะวิกฤติ โดยในรายงานระบุว่า

“เรือนจำ” ถือเป็นแหล่งแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลัสเตอร์ใหญ่ ที่ซ้ำเติมปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผลสำรวจพบว่าใน 118 ประเทศ มีจำนวนนักโทษมากเป็นสองเท่าของพื้นที่ในเรือนจำที่จะรองรับได้ (เกินกว่า 100%) และอีก 11 ประเทศที่มีระดับสูงกว่า 250% เรือนจำกำลังทำงานเกินขีดความสามารถ

162092322355

6. มาตรการ "ลดจำนวนนักโทษ" จากคุกหลายๆ ประเทศ 

การรับรู้ถึงความเสี่ยงของ COVID-19 ต่อประชากรในเรือนจำนั้น รัฐบาลหลายประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการลดจำนวนประชากรในเรือนจำเพื่อลดความแออัดยัดเยียดด้วยการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างในคุก แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เรือนจำทำได้คือการมุ่งเป้าไปที่ "มาตรการปล่อยตัวพิเศษ" เช่น นิรโทษกรรม, การอภัยโทษ, การลดโทษและปล่อยตัวเร็วขึ้น, การปล่อยตัวแบบชั่วคราว รวมถึงการปล่อยตัวด้วยความเห็นอกเห็นใจ

แผนการปล่อยตัวจำนวนมากเน้นที่กลุ่มนักโทษความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว, ทุพพลภาพ, สตรีมีครรภ์ และแม่ลูกอ่อน ตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงผู้ที่ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดี และผู้ที่รับโทษสั้นๆ หรือนักโทษที่ใกล้จะพ้นโทษแล้ว แต่นั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความหนาแน่นของประชากรเรือนจำน้อยลง

7. ประเทศที่ปล่อยตัวนักโทษ ลดการระบาด "โควิด"

- ตุรกี : ประชากรคุกได้รับการปล่อยตัวมากถึง 40% หรือประมาณ 114,460 คน

- จอร์แดน : ประชากรคุกได้รับการปล่อยตัว 30% หรือประมาณ 6,000 คน

- สเปน, ไซปรัส, นอร์เวย์, โปรตุเกส, ฝรั่งเศส และสโลวีเนีย : นักโทษกว่า 15% ได้รับการปล่อยตัว

- เอธิโอเปีย : นักโทษกว่า 40,000 คนได้รับการปล่อยตัว

- อินเดีย : นักโทษกว่า 14% หรือ 68,000 คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

- อินโดนีเซีย : ประชากรในเรือนจำลดลง 12% จากทั้งหมด

- ฟิลิปปินส์ : นักโทษถูกปล่อยตัว 82,000 คน

8. ปัญหาโควิดระบาดในเรือนจำ อาจแก้ไม่ตรงจุด

แม้จะมีประโยชน์ที่ชัดเจนของมาตรการปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำ แต่ก็ยังพลาดเป้าหมายใหญ่ในการลดจำนวนประชากรที่แออัดในคุก มีเพียงคนส่วนน้อยที่ได้รับการป้องกันจากการแพร่เชื้อด้วยมาตรการนี้

อุปสรรคของมาตรการนี้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและภูมิภาค ในกรณีที่มีความแออัดยัดเยียดเรื้อรัง มาตรการนี้ก็ยิ่งได้ผลน้อย เช่น ประเทศมาลาวีพบว่าจำนวนนักโทษลดลงเพียง 12% ในช่วงโควิดระบาด เนื่องจากนักโทษอาศัยอยู่เกินพื้นที่ความจุถึง 260% มาตรการนี้จึงไม่เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่อมามาตรการปล่อยตัวนักโทษช่วงโควิดระบาดจะถูกยกเลิกในบางประเทศ สำหรับประเทศไทยคงต้องติดตามความคืบหน้าของกรมราชทัณฑ์ต่อไปว่า มาตรการที่นำออกมาใช้ควบคุมการระบาดโควิดในเรือนจำครั้งนี้ จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

-----------------------------------

อ้างอิง : 

ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

knowledge.tijthailand.org/th

Thailand Institute of Justice

Penal Reform International