น้ำหนักเท่าไหร่? ถึงเรียกว่า ‘โรคอ้วน’ ควรฉีดวัคซีนโควิด
"โรคอ้วน" เป็น 1 ใน 7 โรคปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต แต่จะรู้ได้อย่างไร?ว่าน้ำหนักเท่าใดถึงเรียกว่า "โรคอ้วน" แล้วสามารถฉีดวัคซีนโควิด -19 ได้
เข้าสู่วันที่ 13 ของการเปิดให้ประชาชน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ7 กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้ลงทะเบียน"จองฉีดวัคซีน"โควิด-19 ผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” และโรงพยาบาล รพ.สต. และอสม. โดยข้อมูลล่าสุด วันนี้ (13 พ.ค.2564) เวลา 14.00 น. พบว่า มีผู้ลงทะเบียน "จองฉีดวัคซีน"สะสมรวม 3,091,871 คน แบ่งเป็นจำนวนการ"จองฉีดวัคซีน"ในกรุงเทพมหานคร 610,433 คน และจำนวนการ "จองฉีดวัคซีน"ต่างจังหวัด 2,481,438 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ ระบุชัดเจนว่า 7 อันดับโรคประจำตัว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง 73% โรคเบาหวาน 55% โรคไขมันในเลือดสูง 30% โรคไตเรื้อรัง 17% โรคหัวใจ 13% โรคอ้วน 8% และโรคปอด 8% อีกทั้งข้อมูลลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิต ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-10 พ.ค.2564 รวม 327 ราย พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 86% และผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัว 14%
ดังนั้น ในส่วนของ “ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง” ทั้ง 7 กลุ่ม มีความสำคัญอย่างมากที่ต้องได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรง และอัตราการเสียชีวิต แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัว หรือ 7 โรคเรื้อรังเหล่านี้ โดยเฉพาะ “โรคอ้วน” น้ำหนักเท่าใด? ถึงเรียกว่าอ้วน แล้วหากไม่เคยมีประวัติการรักษา และไม่เคยเข้ารับการรักษาในระบบของสถานพยาบาลจะลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนได้อย่างไร วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” มีคำตอบ
- เช็คก่อน!! น้ำหนักเท่าไหร่ถึงเรียกว่า "โรคอ้วน"
ข้อมูลจาก Chulacancer ระบุว่า ผู้ที่มีภาวะอ้วน คือ ผู้ที่มีไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพในอัตราส่วนที่สูงในร่างกาย วิธีการวัดภาวะโรคอ้วนโดยมากจะคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง ที่เรียกว่า "ดัชนีมวลกาย หรือ body mass index (BMI)" โดยค่า BMI คืออัตราส่วนระหว่าง น้ำหนัก(กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เซ็นติเมตร) นอกจากนี้ค่า BMI ยังแสดงถึงภาวะอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินได้แม่ยำกว่าการประเมินจากน้ำหนักอย่างเดียว แนวทางการประเมินค่า BMI ในผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือเท่ากับ 20 ปี มีดังนี้ <18.5 เท่ากับผอม (underweight) 18.5-24.9เท่ากับ สมส่วน (healthy)25-29.9 เท่ากับ น้ำหนักเกิน (overweight) และ >30 เท่ากับภาวะอ้วน (obese)
ทั้งนี้ เมื่อน้ำหนักเกิน เป็นคนอ้วนมักจะมีปัญหาสุขภาพ และหากติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน หรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยปกติคนอ้วนจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ หากติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นและอาจถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลผู้เสียชีวิตโรคโควิด -19 ในไทย ขณะนี้ พบผู้ป่วยโรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตได้
สำหรับหลักเกณฑ์ "โรคอ้วน" ที่จะสามารถลงทะเบียนขอจองฉีดวัคซีนกับ ไลน์หมอพร้อมได้นั้น เบื้องต้น มีหลักเกณฑ์กว้างๆ คือ ต้องเป็น คนอ้วนที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม หรือ คนที่มีดัชนีมวลกาย 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (BMI 35)
ผู้ที่เป็น “โรคอ้วน” สามารถลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนผ่าน แอปพลิเคชันไลน์ “หมอพร้อม” หรือไปติดต่อขอจองวัคซีนจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งจะเป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกา โดยจะเริ่มฉีดวันที่ 7 มิ.ย.- 31 ก.ค.2564 กรกฎาคม 64
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ก่อนฉีด 'วัคซีนโควิด' เช็คให้พร้อม วิธีเตรียมตัว ต้องรู้อะไรบ้าง?
- ไม่เคยเข้ารับรักษา "โรคอ้วน" สามารถลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนได้
แต่หากพิจารณาว่าตนเองอยู่ในผู้ป่วยกลุ่ม "โรคอ้วน" แต่ไม่เคยรับการรักษาในระบบของสถานพยาบาล จะไม่มีประวัติการรักษา ทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนในระบบ “หมอพร้อม” ได้ ก็สามารถขอเพิ่มชื่อตนเองที่โรงพยาบาลได้ ทั้งนี้ หากแพทย์ พิจารณาว่าท่านมีความเสี่ยงจะได้รับการเพิ่มชื่อเพื่อรับการฉีดวัคซีนโควิดในระบบได้
การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อ วันที่ 12 พ.ค.2564 ได้เห็นชอบให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนโดยไม่ต้องนัดหมาย เพื่อกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีประวัติการรักษาในสถานพยาบาล เป็นบุคคลกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น กลุ่มพนักงานขับรถโดยสาร หรือ คนขับรถแท็กซี่ โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆ ที่จัดให้เป็นจุดวัคซีน เช่น สถานีกลางบางซื่อ จามจุรีสแควร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว เดอะมอลล์บางกะปิ
อีกทั้งยังมีการแบ่งสัดส่วนของการ "ฉีดวัคซีน"ให้กับประชาชน แบ่งเป็นสูตร 30 : 50 : 20 คือ
- การนัดหมายผ่าน LINE แอดหมอพร้อมหรือแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม ร้อยละ 30
- กลุ่มประชาชนที่ทางโรงพยาบาลประสานร้อยละ 50
- ผู้ที่เดินทางเข้ารับวัคซีนด้วยตนเองโดยมิได้นัดหมายร้อยละ 20
ที่สำคัญ คือ การเข้ารับวัคซีนนั้นจะใช้ เกณฑ์ตามข้อบ่งชี้การใช้ทางการแพทย์ ไม่มีการเลือกยี่ห้อวัคซีนเองได้ ทั้งนี้ หากจังหวัดใดมีความพร้อมทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถดำเนินการได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ภาพรวมของการฉีดวัคซีน ข้อมูลวันที่ 28 ก.พ.-12 พ.ค.2564 ฉีดแล้ว 2,040,363 โดส แบ่งเป็น เข็มแรก สะสม 1,395,130 ราย เข็มสอง สะสม 664,233 ราย