เช็ค!! 'หน่วยบริการฉีดโควิด 19' สำหรับผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว
กระทรวงสาธารณสุข เพิ่ม 'หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19' สำหรับผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว โดยใช้พื้นที่ของโรงพยาบาล จิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมเปิด 'หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19' แก่ 'ผู้ป่วยจิตเวช' 'กลุ่มเปราะบางที่มีความบกพร่องทางจิต' และ 'ครอบครัว' ณ สถาบันราชานุกูล เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายอนุทิน กล่าวว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการลงทะเบียนและเริ่ม 'ฉีดวัคซีน'ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังต้องคำนึงถึงผู้ป่วยอีกกลุ่มในสังคม นั่นคือ 'ผู้ป่วยจิตเวช'และผู้มีความบกพร่องทางจิต เช่น เชาวน์ปัญญาบกพร่อง ออทิซึม โรคจิตเภท และโรคทางอารมณ์ เป็นต้น
- ลงทะเบียน 'หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19'ได้ตั้งแต่ 28 พ.ค.
ซึ่งยังมีความยากลำบากในการเข้าถึงวัคซีนและมีความเสี่ยงจากอาการทางจิตที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการป้องกันการติดโรคของตนเอง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดให้มีหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับกลุ่มเฉพาะดังกล่าว และมอบหมายให้โรงพยาบาลสังกัด 'กรมสุขภาพจิต' ทั่วประเทศจำนวน 20 แห่งดำเนินการทันที โดยเริ่มเปิดบริการครั้งแรกวันนี้ที่ สถาบันราชานุกูล เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
ด้านนพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า 'ผู้ป่วยจิตเวช'มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดมากกว่าประชาชนทั่วไปถึง 6 เท่า และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโควิด 19 และใช้เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต มากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อเกิดการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว เท่าเทียม และทั่วถึง
กระทรวงสาธารณสุขจึงขอความร่วมมือ 'ผู้ป่วยจิตเวช'ที่กำลังรับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงสถานพยาบาลภาคเอกชนต่าง ๆ สามารถลงทะเบียน ณ โรงพยาบาลจิตเวชใกล้บ้านได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้ามารับบริการประมาณ 1 ล้านคน ภายในช่วงระยะเวลา 2 เดือน
- ข้อปฎิบัติสำหรับ 'ผู้ป่วยจิตเวช' เข้ารับบริการฉีดวัคซีน
พญ.พรรณพิมล กล่าวเสริมว่า 'ผู้ป่วยจิตเวช' และผู้มีความบกพร่องทางจิตนั้นเป็นประชาชนกลุ่มเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ข้อปฏิบัติเฉพาะในการรับวัคซีน ได้แก่
1) รับบริการกับบุคคลและสถานที่คุ้นเคย โรงพยาบาลจิตเวชจึงเป็นที่ที่เหมาะสมในการให้บริการวัคซีน
2) รับบริการพร้อมสมาชิกในครอบครัว เพื่อลดความกังวล และง่ายต่อการติดตามมารับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม
ทั้งนี้ 'กรมสุขภาพจิต' จะเริ่ม 'ฉีดวัคซีน'ให้แก่ 'ผู้ป่วยจิตเวช'กลุ่มที่มีอาการรุนแรงในโรงพยาบาลและกลุ่มผู้ป่วยในที่กำลังจะกลับไปใช้ชีวิตในสังคม และให้ความยินยอมในการรับวัคซีน เป็นลำดับแรก จากนั้นจะกระจายไปยังผู้ป่วยจิตเวชอื่น ๆ เป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ "ผู้ป่วยจิตเวช"ทุกโรคสามารถรับวัคซีนได้โดยไม่ต้องหยุดยาหรือลดยาที่รับประทานแต่อย่างใด หากต้องการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนให้ติดต่อโรงพยาบาลจิตเวชใกล้บ้านท่าน หรือสถานพยาบาลที่ท่านรับบริการอยู่