เปิดภูมิคุ้มกันคนไทยหลังฉีดวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค’
ปัจจุบันการเปรียบเทียบ'ประสิทธิภาพ' ของ 'วัคซีนโควิด-19'จากการศึกษาเบื้องต้นและการนำไปใช้จริงอาจเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น ไทยจึงมีการศึกษาทั้ง 'แอสตร้าเซนเนก้า’ และ 'ซิโนแวค’ รวมถึงภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพื่อดูการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19
'ประสิทธิภาพ' ของ 'วัคซีนโควิด-19' ซึ่งทำการทดลองในหลายประเทศ และในหลายช่วงเวลา อาจไม่ได้บ่งชี้ถึง 'ประสิทธิภาพ' จริงๆ เมื่อนำไปใช้ในประเทศอื่น ขณะที่ไทยตอนนี้ มีการใช้วัคซีน 'ซิโนแวค' โดยกำหนดให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ จึงจำเป็นต้องศึกษาการสร้างภูมิคุ้มกันในบริบทของไทยด้วย
- 'วัคซีนโควิด-19' ต้องฉีดห่างกันกี่สัปดาห์
ข้อมูลจากแนวทางเวชปฏิบัติจาก กรมควบคุมโรค อธิบายว่า วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า’ ชนิดไวรัลแว็กเตอร์มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อทุกแบบ 54.1% ป้องกันโรคแบบมีอาการ 70.4% ป้องกันโรครุนแรงเสียชีวิต 100% โดยประสิทธิภาพเกิดได้ตั้งแต่การฉีดเข็มแรก ปัจจุบัน แนะนำให้ฉีดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง แต่เดิมให้ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ แต่จากการศึกษาพบว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนห่างกันเกิน 8 สัปดาห์ขึ้นไป ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของไทยกำหนดให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 10-12 สัปดาห์
ส่วน วัคซีน 'ซิโนแวค’ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ในปัจจุบันแนะนำให้ฉีดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพป้องกันโรคที่มีอาการตั้งแต่น้อยมาก 50.4% ป้องกันโรคแบบมีอาการ 65.3% - 91.2% และป้องกันโรครุนแรงเสียชีวิต 100% สิ่งที่น่าสนใจคือ การศึกษาในระยะที่ 2 พบว่า หากเว้นช่วงเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกัน 28 วัน จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า 14 วัน ทั้งนี้ ในประเทศไทย คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ 2 เข็มห่างกัน 2-4 สัปดาห์ โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงแนะนำ ให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์
- ผลการศึกษาภูมิคุ้มกันโควิด-19
ที่ผ่านมา ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อมูล เดือน พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ผลการเก็บตัวอย่าง ‘ผู้ที่หายป่วยจากโควิด’ 263 ราย 4-8 สัปดาห์ หลังติดเชื้อตามธรรมชาติ มีการตรวจภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี พบ 243 ราย สร้างแอนติบอดีตามธรรมชาติหลังรักษาหาย คิดเป็น 92.40%
ส่วนคนฉีดวัคซีนทั้ง ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ และ ‘ซิโนแวค’ มีการเก็บตัวอย่าง พบว่า 4 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' เข็มที่ 1 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 71 ใน 73 ราย หรือกว่า 97.26% ขณะที่ 'ซิโนแวค' 4 สัปดาห์ หลังฉีดเข็มที่ 2 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 196 ใน 197 ราย หรือกว่า 99.49% โดยสรุป คือ กลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนทั้ง ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ และ ‘ซิโนแวค’ มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ประสิทธิภาพของวัคซีน’ สำคัญแค่ไหน ถ้าเทียบกับ การได้ 'วัคซีนที่เร็วที่สุด' ?
- 'วัคซีนซิโนแวค' ช่วยลดอัตราเสียชีวิต 97%
- ส่อง 10 ข้อต้องรู้ วัคซีน ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ที่จะใช้ฉีดคนไทย เป็นอย่างไร?
- 'แอสตร้าเซนเนก้า' ใช้ 171 ประเทศ ไทยติด 44 ของโลก ฉีดวัคซีนแล้ว 3.9 ล้านโดส
- ฉีด 'วัคซีนโควิด-19' มีภูมิฯ 99%
“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อฉีดวัคซีน 'ซิโนแวค' ครบ 2 เข็มแล้ว เป็นระยะเวลา 1 เดือน กับการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' 1 เข็ม เป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโรค 'โควิด-19' ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์หลังจากที่มีการติดเชื้อ
จะเห็นว่าระดับภูมิต้านทานของวัคซีน ‘ซิโนแวค’ เมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml ส่วนภูมิต้านทานหลังฉีด ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 unit/ml เมื่อเทียบกับ ‘ภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ’ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะตรวจพบภูมิต้านทานได้ 98-99% ในขณะที่ผู้ติดเชื้อตรวจพบภูมิต้านทานได้ 92.4%
- วัคซีน ลดความรุนแรงโรค
จากข้อมูลนี้ ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคแล้วระดับภูมิต้านทานก็ยังแตกต่างกันมากและบางคนก็ตรวจไม่พบ แสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทำนองเดียวกันการ ฉีดวัคซีนในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใดจึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ ถ้าเรามีภูมิต้านทานก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโดยทั่วไปจะทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง กลุ่มที่ให้วัคซีนกับกลุ่มที่ให้วัคซีนหลอกหรือไม่ได้ให้วัคซีน แล้วติดตามไปดูว่ากลุ่มไหนจะมีการเกิดโรค 'โควิด-19' มากน้อยแค่ไหน แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบเป็นประสิทธิภาพที่ออกมาเป็นรูปเปอร์เซ็นต์
ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทยกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ระดับภูมิต้านทานจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน ขณะนี้ กำลังติดตามระยะยาว โดยเฉพาะถ้าภูมิต้านทานลดลงมาก ก็อาจจะต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้สูงอยู่ตลอดเวลา เพราะโรค 'โควิด-19' มีระยะฟักตัวสั้นจึงต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดการป้องกันการติดเชื้อ
- 'ประสิทธิภาพ' เปรียบเทียบกันไม่ได้
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงและมีการนำประสิทธิภาพวัคซีนที่มีการศึกษาในหลายประเทศ มาเปรียบเทียบกันอยู่ ศ.นพ.ยง อธิบายว่า ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะไม่ได้ทดลองหรือศึกษาพร้อมกันในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น
1) ความชุกของโรคในขณะทำการศึกษา ถ้าความชุกของโรคสูงตัวเลขประสิทธิภาพจะต่ำกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ ขณะทำการทดลองถึงประสิทธิภาพมีอุบัติการณ์ของโรคในประชากรต่ำกว่าวัคซีน ‘จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน’ ในขณะที่ทำการทดลองในอเมริกาซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุด จึงมองดูตัวเลขแล้ววัคซีนของ ‘ไฟเซอร์’ จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีน ‘จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน’ เพราะเป็นการนับจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงการศึกษา
2) ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ถ้าใช้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการศึกษาในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่ำกว่า เพราะวัคซีนส่วนใหญ่จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรค เช่น วัคซีนซิโนแวค ที่ทำการศึกษาที่บราซิล ใช้กลุ่มเสี่ยงสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย 'โควิด-19' ได้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ในตุรกีได้ตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงกว่าการศึกษาในบราซิลมาก
3) การนับความรุนแรงของโรค วัคซีนของจีน 'ซิโนแวค' ทำการศึกษาในบราซิล ตัวเลขประสิทธิภาพนับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมากเข้าไปด้วยหรือระดับความรุนแรงที่เรียกว่า WHO Grade 2 คือ ติดเชื้อมีอาการ แต่ไม่ต้องการการดูแลรักษา (No Need Medical Attention) ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนอีกหลายตัว ไม่มีการกล่าวถึงความรุนแรงของโรคที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะเป็นความรุนแรงระดับ WHO Grade 3 คือ ป่วยเป็นแบบผู้ป่วยนอกไม่ต้องการนอนโรงพยาบาล แต่ต้องพบแพทย์ (Need Medical Attention) ถ้ายิ่งนับความรุนแรงที่น้อยมากๆ จะมีตัวเลขประสิทธิภาพต่ำ และถ้านับความรุนแรงตั้งแต่ Grade 4 คือป่วยต้องเข้านอนโรงพยาบาลประสิทธิภาพจะยิ่งสูงมาก และถ้ายิ่งความรุนแรงที่สูงไปอีกถึง Grade 7 คือเสียชีวิต ประสิทธิภาพจะใกล้ 100% ของวัคซีนเกือบทุกชนิด
4) สายพันธุ์ของไวรัส การศึกษาของ ‘ไฟเซอร์’ และ ‘โมเดอร์นา’ ทำก่อน ‘จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน’ การทำทีหลังจะเจอสายพันธุ์ของไวรัสที่กลายพันธุ์หลบหลีกวัคซีน ทำให้ภาพรวมของวัคซีนที่ทำก่อนมีประสิทธิภาพดีและไม่ทราบประสิทธิภาพต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ วัคซีนของ ‘จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน’ เห็นได้ชัดเจน การกลายพันธุ์ของไวรัสมีส่วนที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การทำการศึกษาคนละเวลาจึงเป็นการยากที่จะมาเปรียบเทียบตัวเลขกัน ถึงแม้ว่าจะทำในประเทศเดียวกัน
เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในการหลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่แล้ว วัคซีนของอินเดียทำการศึกษาที่หลังสุด และศึกษาในสายพันธุ์อินเดียก็ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ทำการศึกษาในอเมริกาใต้ ข้อมูล ล่าสุดก็เห็นได้ชัดว่าวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ มีประสิทธิภาพลดลงประมาณ 20% ต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และถ้ามาเจอสายพันธุ์อินเดียก็อย่างที่มีข่าวฉีดวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ มาแล้ว 2 เข็ม ก็มาติดเชื้อในอินเดีย เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ดังนั้น ในทางปฏิบัติในการดูวัคซีน เราจะต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมด แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด เราจึงไม่อยากเห็นการใช้ตัวเลขที่ทำการศึกษาต่างระยะเวลากัน ต่างสถานที่กัน มาเปรียบเทียบกันว่าวัคซีนใครดีกว่าใคร
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการวัดระดับภูมิต้านทานวัคซีนในกลุ่ม mRNA จะมีภูมิต้านทานสูงกว่าวัคซีนอื่นทั้งหมด สำหรับประเทศไทยเราต้องการวัคซีนทุกตัวที่สามารถจะนำเข้ามาได้และให้มีการใช้อย่างเร็วที่สุด