‘เปิดเทอม’ 14 มิ.ย.นี้ ‘เรียนออนไลน์’ ให้สนุก สุดปัง
ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการ ‘เปิดเทอม’ แรกของปีการศึกษา 2564 แต่ใช่ว่าจะเป็นการเปิดให้ไปเรียนในโรงเรียน มีบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ต้อง 'เรียนออนไลน์'
14 มิ.ย.นี้ ชัดเจนว่าจะมีการ ‘เปิดเทอม’ ทำให้แต่ 'สถานศึกษา' แต่ละพื้นที่ต้องเตรียมความพร้อม เลือกรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ตนเอง โดยคำนึงถึงการเรียนรู้อย่างสนุก เด็กต้องมีความสุขในการเรียน
ว่ากันว่า ใน ‘พื้นที่สีแดงเข้ม’ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ หากต้องการเปิดสอนก่อน สามารถจัดการเรียนได้ในรูปแบบการสอนออนไลน์ และออนแอร์เท่านั้น ทั้งนี้ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดไม่พร้อมกัน แต่ต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ต.ค. 2564 เพื่อไม่กระทบกับปฏิทินการสอบต่างๆ
‘พื้นที่สีแดง’ มี 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ยะลา, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สงขลา และสุราษฎร์ธานี ให้ใช้อาคารสถานที่ฯ เปิดเรียนได้ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ส่วนที่เหลือ 56 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุม หรือ 'พื้นที่สีส้ม' เปิดเรียนได้ตามมาตรการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โรงเรียนจะต้องเลือกรูปแบบการเรียนการสอน ที่มีทั้งหมด 5 รูปแบบการเรียนรู้ คือ
1.On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
2.On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV
3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต
5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น
เรียนให้สนุก มีความสุขในการเรียน เป็นหลักสำคัญในการเรียนรู้ ยิ่งการ ‘เรียนออนไลน์’ แล้วจะให้นั่งฟังครูพูดหน้าจอเป็นเวลา 30- 40 นาที คงเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ
- เทคนิค ‘เรียนออนไลน์’ อย่างไร? ให้สนุก
1.ผู้เรียนต้องปรับมุมมอง สร้างทัศนคติที่ดีต่อการ ‘เรียนออนไลน์’
เช่น ไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียนแต่เช้าให้เหนื่อย ได้แต่งตัวตามใจชอบ ไม่ต้องเรียนเต็มตลอด 40 นาที สนุกกับการ ‘เรียนออนไลน์’ ได้ทุกที่หากอุปกรณ์พร้อม ไม่ว่าจะบริเวณไหนของบ้าน ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ในสวน สามารถเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนได้ทุกวัน
2.ทำทุกอย่างให้เหมือนเรียนในห้องเรียนจริง ๆ
‘เรียนออนไลน์’ สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ แต่หากจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีความคล้ายกับห้องเรียน มีความเงียบ ไม่มีเสียงดังรบกวนจากรอบข้าง เพื่อไม่เป็นการรบกวนไปยังคุณครูและเพื่อนร่วมชั้นในขณะที่กำลังทำการเรียนการสอนอยู่ด้วย และน้องๆ ต้องสร้างความรู้สึกให้ตัวเอง โดยให้คิดว่าเหมือนเป็นการเรียนในห้องเรียนจริง ๆ มีการจัดตารางเรียนในแต่ละวัน ว่าวันนี้มีเรียนวิชาอะไรบ้าง ยิ่งครูผู้สอนของแต่ละโรงเรียนมีการเช็คชื่อนักเรียนที่เรียนชั้น‘เรียนออนไลน์’ อย่างเช็คผ่านไลน์กลุ่ม จะทำให้เหมือนกับการเรียนจริง ๆ มากยิ่งขึ้น
รวมถึงควรจัดพื้นหลังหรือ BACKGROUND ในการ ‘เรียนออนไลน์’ ให้เหมาะสมและสุภาพ หากเป็นไปได้พยายามอย่าให้มีพื้นที่หรือทางเดินผ่านข้างหลังท่านเพื่อหลีกเลี่ยงทำให้คุณครูและเพื่อนร่วมห้องของท่านเสียสมาธิได้
3.จัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนให้พร้อมก่อนเข้าเรียน
น้องๆ ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ หรือแอปพลิเคชั่น ในคอมพิวเตอร์หรือมือถือ และสมัครใช้งาน เตรียม USSER และ PASSWORD ให้พร้อม ตามที่โรงเรียนกำหนด ว่าเรียนผ่านระบบอะไร เช่น เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต (ONLINE) ผ่านทางระบบ Video Conference ระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน และระบบอื่นตามที่ สพท. จัดเตรียมให้ เรียนผ่าน Google classroom
เรียนผ่านทางเว็บไซต์ DLTV (www.dltv.ac.th) ช่อง Youtube (DLTV Channel 1-15) หรือแอปพลิเคชั่น DLTV บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต รวมถึงการเรียนผ่านทีวี (ON-AIR) ผ่านระบบดาวเทียม KU-BAND (จานทึบ) ช่อง 186-200 ระบบเคเบิลทีวี (Cable TV) และระบบ IPTV
อีกทั้งต้องมีการตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้พร้อมแนะนำให้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบความเร็วสูง ทดสอบคุณภาพเสียงอุปกรณ์ของท่าน ลำโพงและไมค์ทำงานได้ดีหรือไม่ โดยหากเรียนในคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีกล้องเพื่อเชื่อมต่อให้ผู้สอนและเพื่อนในชั้นเรียนได้เห็นท่านในการทำกิจกรรมในคลาสและควรตั้งกล้องให้อยู่ในระดับสายตา หลีกเลี่ยงการตั้งกล้องมุมเสยรวมไปถึงมุมย้อนแสง เพื่อที่ทำให้ใบหน้าของท่านอยู่ในตำแหน่งที่พอดีและสามารถเห็นได้ชัดเจน
- ลองทำดู!! 'เรียนออนไลน์' ด้วยวิธีง่ายๆ
4.เข้า ‘เรียนออนไลน์’ เพียงลำพัง
เปรียบบ้านเป็นห้องเรียน ที่เวลาไปเรียนเราก็นั่งเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ไม่ได้มีพ่อแม่ พี่น้อง ปู่ยาตายายนั่งเรียนด้วย ดังนั้น ระหว่าง ‘เรียนออนไลน์’ ไม่ควรมีบุคคลอื่นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวของท่านเข้ามามีส่วนร่วมในคลาสเรียนด้วย เพื่อที่ผู้เรียนจะได้สามารถให้ความสนใจกับคลาสเรียนได้เต็มที่
นอกจากนั้น ควรเรียนไปพร้อมกับเพื่อนคนอื่นผ่านหน้าจอออนไลน์ เพราะถึงแม้ว่าจะอยู่คนละที่กัน แต่สามารถสื่อสารกันได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยอาจจะเป็นการวิดีโอคอลกับเพื่อน ๆ เพื่อเรียนไปพร้อม ๆ กัน และหากใครมีปัญหาอะไรจะได้ปรึกษา พูดคุย สอบถามผ่านการวิดีโอคอลกันได้
5.ตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้
ก่อนที่จะเริ่มเรียน น้องๆ ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเรียนรู้วิชานี้ เรื่องนี้เพื่ออะไร มีเป้าหมายในการเรียนคาบนี้อย่างไร สามารถเอาเนื้อหาที่เรียนไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง แล้วลองทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ จะทำให้เราตั้งใจในการเรียนครั้งนี้ และควรจัดตารางเวลาให้เป็น กำหนดให้ชัดเจนว่าเวลาเรียนมีตอนไหนบ้าง ถ้าไม่สะดวกหรือมีเหตุจำเป็น ต้องแจ้งครูผู้สอนให้ชัดเจน สื่อสารกับเพื่อน ครู
ที่สำคัญระหว่างเรียน ควรจดโน้ต เพราะจะช่วยให้สมองของน้องๆ มีการคิดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เข้าใจบทเรียนเร็วขึ้น และช่วยให้จดจ่อกับสิ่งที่เรียนนานยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นกลยุทธ์ที่ดีที่จะทำให้คุณมีสมาธิกับสิ่งที่เรียนไม่ว่าคุณจะเรียนผ่านช่องทางออนไลน์หรือเรียนในห้องเรียน
6.ผู้ปกครองเป็นครูได้ สร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัล
ในการ 'เรียนออนไลน์' ที่บ้านนั้น ผู้ปกครองคงเป็นครูให้ผู้เรียนได้ดีที่สุด ดังนั้น หากไม่เข้าใจในบทเรียน หรือเนื้อหาในขณะที่กำลังเรียน ผู้เรียนควรสอบถามผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าใจเนื้อหานั้น ๆ เพราะหากไม่เข้าใจแล้วอาจะจะทำให้ไม่อยากเรียนเรื่องต่อไปได้
อีกทั้ง ควรลองสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง โดยอาจจะให้รางวัลกับตัวเอง เมื่อทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อย่างน้อย ๆ ก็เป็นกำลังใจเล็ก ๆ ให้กับน้องๆ อย่างเช่น ตั้งเป้าหมายว่า เรียนเรื่องนี้จบ และสามารถทำแบบทดสอบได้คะแนน 80% ขึ้นไป จะสั่งของอร่อย ๆ มารับประทาน เป็นต้น
7.ตั้งกระทู้พูดคุยจากสิ่งที่ได้เรียนรู้
การบอกเพื่อน ๆ เกี่ยวกับคอร์สที่คุณกำลังเรียนอยู่ โพสต์สิ่งที่คุณทำได้สำเร็จลงบนโซเชียลมีเดียของคุณ หรืออาจจะเขียนบล็อกสรุปเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน เพื่อให้กลุ่มเพื่อน ๆ หรือครอบครัวคอยติดตามและช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนการเรียนรู้ของคุณ
หรืออาจจะสร้างกรุ๊ปพูดคุยสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเรียนจะทำให้คุณสามารถถามคำถามเกี่ยวกับการบ้าน หัวข้อที่เรียน แชร์เทคนิค และไอเดียซึ่งกันและกันได้ดี นอกจากนี้มันอาจจะเพิ่มเติมอาจจะช่วยเพิ่มความรู้ใหม่ ๆ อย่างไม่รู้ตัว
8.สื่อสารกับอาจารย์และเพื่อนร่วมวิชา
ส่งข้อความผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นที่เราเรียนไปหาอาจารย์เพื่อสอบถามข้อสงสัย หรือพูดคุยกับเพื่อนคนอื่นในวิชา โดยส่วนใหญ่เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น 'เรียนออนไลน์' จะมีฟังก์ชั่นนี้ไว้ให้อยู่แล้ว ทำให้เปิดโลกการเรียน และสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายมากขึ้น จึงควรสื่อสารกับคนอื่น ในคลาสเรียน
9.ฟัง พ็อดคาสท์ (Podcast) เพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจ
หลังเรียนแล้ว หลายคนอาจจะทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ หรือฟัง Podcast การฟังรายการผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็น รายการที่แบ่งเป็นตอนๆ โดยส่วนใหญ่จะสามารถฟังได้ฟรี ซึ่งข้อดีของ Podcast นั้น มีเนื้อหาหลากหลาย สามารถเลือกฟังหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตัวเองสนใจเรียนเพื่อเพิ่มความสนุกและแรงบันดาลใจในการเรียนได้มากขึ้น
สำหรับ ข้อควรปฏิบัติระหว่างเรียนที่น้องๆ ควรจะรู้ไว้
- ควรปิดโทรศัพท์หรือเปิดเป็นโหมดปิดเสียงตลอดช่วงเวลาที่เรียน
- ในขณะเรียน อย่าลังเลหากมีข้อซักถาม ให้รอจังหวะผู้สอนพูดจบ ท่านสามารถยกมือเพื่อขอซักถามในข้อสงสัยได้
- ควรมีสมาธิในการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนและครู
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เช็ค! เปิดเทอม 14 มิ.ย.นี้ 'โรงเรียน' พื้นที่ไหนเปิด-ไม่เปิด 'ภาคเรียน'
ห้ามพลาด!! 'เปิดเทอม' รอบนี้ รับมืออย่างไรให้ดีกว่าเดิม?
ประกาศ!! แนวปฏิบัติการ 'เปิดภาคเรียน'ที่ 1/ 2564 ฉบับใหม่
- เปิดเทคนิคครู 'สอนออนไลน์' ให้สุดปัง
ขณะที่ คุณครู ‘สอนออนไลน์’ ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเช่นเดียวกัน เพราะ 'โควิด 19' คงอยู่กับเราไปอีกนาน การจะกลับมาเรียนในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอในการเติมเต็มความรู้ให้แก่เด็กๆ อีกทั้งต้องมีการเตรียมสอบความพร้อมของครู ทั้งด้านอุปกรณ์ และทำความเข้าใจกับครู ดังนั้น ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ในการ 'สอนออนไลน์' แก่เด็กด้วย
1.สำรวจความเชี่ยวชาญของตนเอง
การจะเริ่มทำการ ‘สอนออนไลน์’ ให้น่าสนใจ คุณครูจะต้องทราบความเชี่ยวชาญของตนเอง เพราะการถ่ายทอดความรู้ หากขาดองค์ความรู้ที่ครอบคลุมในเรื่องนั้น ๆ อาจจะก่อให้เกิดความสับสนระหว่างนักเรียนและครูผู้สอนได้ ข้อดีของการเรียนออนไลน์นี้ ครูสามารถคัดเลือกความถนัดด้านใดด้านหนึ่งมาเป็นคอร์สเรียนได้
2.จัดลำดับเนื้อหาที่สอน
การเรียนการสอนจะต้องเริ่มต้นด้วยความผ่อนคลาย เข้าสู่เรื่องอย่างชาญฉลาด ให้นักเรียนค่อย ๆ ปรับตัวและได้คิดตามสิ่งที่ครูต้องการจะสื่อ การเริ่มต้นบทเรียนจึงไม่ควรเข้าสู่ใจความหลักในทันทีที่เริ่มชั่วโมงสอน เพราะผู้เรียนอาจตั้งตัวไม่ทันและสับสน ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องวางแผนการสอนมาเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีทริคหรือเทคนิคการจำเนื้อหาต่าง ๆ ให้ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกว่าบทเรียนนี้ไม่ได้ซับซ้อนจนหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อ รวมไปถึงการมีมุกตลก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน หรือเรื่องเล่าที่ช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนให้อยู่กับการเรียนก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากที่ทำให้การเรียนการสอนมีความสนุก
3.หาสื่อที่มีสีสันและภาพประกอบเพื่อดึงดูดเด็ก
สื่อที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงความสนใจของนักเรียนได้ โดยสื่อที่ใช้ควรจะมีสีสันประกอบที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและสามารถจำเนื้อหาได้ มีการสรุปเนื้อหาออกเป็นประเด็นย่อย ๆ รวมถึงการมีภาพกราฟิกหรือภาพประกอบต่าง ๆ การมีสื่อการสอนที่ดีช่วยให้การสอนง่ายขึ้นด้วย การอธิบายเนื้อหาจากสื่อที่มีความสวยงาม ครบถ้วน ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจดจำบทเรียนให้ผู้เรียนด้วย เนื่องจากภาพและสีต่าง ๆ จะกระตุ้นกระบวนการทำงานของสมอง เร้าความสนใจ และทำให้เกิดการจดจำภาพและสีได้ดีกว่าตัวอักษร
4.ฝึกทักษะการพูดให้ลื่นไหล รู้จักใช้น้ำเสียง
การ ‘สอนออนไลน์’ เป็นการสื่อสารทางเดียว ครูจะไม่ทราบปฏิกิริยาของนักเรียน ทำให้การวางแผนการสอนอาจจะลำบากขึ้น เพราะฉะนั้นครูควรเตรียมการพูดให้น่าฟัง มีความตื่นเต้น ใช้โทนเสียงสูงต่ำเหมาะสม หลีกเลี่ยงการอ่าน หรือการท่องด้วยน้ำเสียงโทนเดียว เพราะนักเรียนอาจจะละความสนใจจากครูได้ การฝึกซ้อมพูดเป็นประจำจะช่วยให้ครูมั่นใจ กล้าที่จะถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน และการ ‘สอนออนไลน์’ เป็นประจำจะช่วยให้ครูสามารถคาดเดาปฏิกิริยาของนักเรียนได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมแผนการสอนออนไลน์ในอนาคต
5.เข้าใจการสรุปและย่อบทเรียนให้เข้าใจง่าย
การ 'สอนออนไลน์' ที่ไม่น่าเบื่อคือการสอนที่แตกต่างจากในห้องเรียน ครูต้องมีวิธีการพูดและสรุปบทเรียนให้น่าสนใจ กระชับ และสิ่งสำคัญ คือ บทเรียนนั้นจะต้องเข้าใจง่าย ครูต้องเน้นการพูดโดยไม่ท่องตามหนังสือเรียน การพูดด้วยสไตล์ของตนเองจะทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจขึ้น เพราะนักเรียนจะรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างการอ่านหนังสือเอง การเรียนในห้องเรียน และการ 'เรียนออนไลน์' ความรู้สึกแตกต่างแปลกใหม่นี้เองที่ช่วยทำให้บทเรียนออนไลน์สนุก
6.พยายามโยงบทเรียนเข้าสู่ประสบการณ์ชีวิต
การเล่าเรื่องกระตุ้นความสนใจได้ดีเสมอ โดยการเล่าเรื่องช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย และเร้าความสนใจที่จะฟัง ครูต้องเลือกเรื่องเล่าที่สอดคล้องกับบทเรียน และพยายามโยงเรื่องนั้นเข้าสู่บทเรียนให้ได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของเนื้อหาที่เรียนกับการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
7.หาวิธีการรับฟังคำถามและความคิดเห็นนักเรียน
ข้อเสียของการ ‘เรียนออนไลน์’ คือ การเรียนบางรูปแบบ เช่น ออนแอร์ เรียนผ่านทีวี ครูไม่ทราบความคิดเห็นของนักเรียน ขณะเดียวกัน นักเรียนก็ไม่สามารถตั้งคำถามถึงครูเมื่อเกิดข้อสงสัยได้ทันที การมีช่องทางในการรับฟังคำแนะนำ ความรู้สึกของนักเรียน รวมถึงคำถามระหว่างบทเรียนต่าง ๆ จะช่วยให้ครูสามารถนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุงการวางแผนการสอนของตนเองต่อไปในอนาคตได้ ทำให้การสอนออนไลน์เรียนสนุกยิ่งขึ้น
- ศธ.เปิด ‘ครูพร้อม’ แหล่งรวบรวมความรู้แก่นักเรียน-ครู
เว็บไซต์ ‘ครูพร้อม’ หรือ www.ครูพร้อม.com เว็บไซต์ที่จัดตั้งขึ้น โดย ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียน ครู ทำความเข้าใจเรื่องการ ‘เรียนออนไลน์’ และการ ‘สอนออนไลน์’ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัด ศธ. โดย เว็บไซต์ ‘ครูพร้อม’ จะมี 6 เมนู ให้เลือกเรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละคน ได้แก่ เมนู อยากเรียน สำหรับนักเรียนทุกระดับชั้น และผู้สนใจ เรียนวิชาต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเรียน
เมนู อยากสอน เป็นกิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษา การใช้เทคโนโลยี และการจัดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในอนาคต
เมนู อยากรู้ รวบรวมสื่อและกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจ ที่นอกเหนือจากวิชาการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย
เมนู อยากดู เป็นรายการไลฟ์สดที่น่าสนใจ เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายวงการ หลายความคิดมากประสบการณ์
เมนู อยากทำ เพื่อพัฒนาทักษะส่วนบุคคล พัฒนาทักษะทางอาชีพหรือความรู้เพิ่มเติมที่สามารถเรียนรู้จากการลงมือทำได้ทันที
เมนู อยากแชร์ นำคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียน การสอน นวัตกรรมใหม่ มาเผยแพร่ในแคมเปญ “ครูพร้อมอยากแชร์ Challenge”
นอกจากนั้น หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในวันที่ 1 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป จะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนและครู โดย สพฐ. ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนที่น่าสนใจ โดยเรียนรู้เทคนิควิธีการสอนผ่านคลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ (รับชมได้ตั้งแต่วันที่ 12-28 พ.ค.)
รวมถึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาครูให้สามารถ 'สอนออนไลน์' ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประสานกับ DLTV ในเรื่องการจัดตารางการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการจัดตารางเรียนปกติที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564 และยังได้เตรียมกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ ให้นักเรียนได้เลือกทำตามความสมัครใจ ในลักษณะเป็นงานอดิเรกของนักเรียน หรือหากโรงเรียนใดจะใช้โอกาสนี้ในการซักซ้อมการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็สามารถทำได้เช่นกัน
อ้างอิง : กรุงเทพธุรกิจ