‘โคมไฟจีน ชุมชนเจริญไชย’ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม
เมื่อ “โคมไฟจีน” ที่เคยส่องแสงให้ “เยาวราช” กำลังถูกหลงลืมจนเริ่มมืดมิด งานวิจัยที่เข้าถึงแก่นสารจึงมาช่วยให้โคมไฟได้เฉิดฉายแสงอีกครั้ง
สีสันของ เยาวราช ฉายชัดตามเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตรุษจีน สารทจีน ไหว้พระจันทร์ หรืออื่นๆ ผ่านแสงสีสดใสของ โคมไฟกระดาษ ที่ถูกประดับประดาตกแต่งตามอาคารบ้านเรือนถนนหนทาง ภาพที่คุ้นตาเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้คนระลึกและจดจำ แต่ยังทำให้ชุมชนเก่าแก่ในย่านเยาวราชดำรงอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจไว้ได้
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดทำ “โครงการวิจัยการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมอัจฉริยะ : กรณีศึกษาย่านเยาวราช-เจริญกรุง” ภายใต้ความร่วมมือกับชุมชน ภาคเอกชน ธุรกิจและภาคีเครือข่าย ทำให้ทราบปัญหา ความต้องการและศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะด้านศิลปะและวัฒนธรรม การศึกษาวิจัยเกิดขึ้นหลายด้านทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ชุมชน สถาปัตยกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ไปจนถึงด้านศิลปะและการออกแบบ
สำหรับด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ทีมวิจัยจากคณะมัณฑนศิลป์ได้ร่วมกับชุมชนเจริญไชย สืบค้นจนเจออัตลักษณ์ของชุมชน แล้วพลิกฟื้น “โคมไฟกระดาษ” และการพับ “ดอกไม้จีน” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
จากอดีตถึงปัจจุบัน ชุมชนเจริญไชย เป็นแหล่งผลิตกระดาษไหว้เจ้า ที่ยังคงประเพณีในเทศกาลไหว้เจ้าแบบดั้งเดิม มีการประดับจัดวางโต๊ะไหว้เจ้าด้วยเครื่องไหว้และโคมกระดาษนานาชนิด บ้านเรือนได้รับการตกแต่งเพื่อสื่อความหมายอันเป็นมงคลให้กับการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ภายในชุมชนเจริญไชยมีพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่องที่นำเสนอประวัติศาสตร์ชุมชน เรื่องราวความทรงจำ วัตถุด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น โคมกระดาษแบบต่างๆ การพับกระดาษไหว้เจ้า ทว่าหลายปีที่ผ่านมาชุมชนเจริญไชยเริ่มประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองซึ่งกระทบต่อการอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพดั้งเดิม
“ชุมชนนี้มีปัญหาในเรื่องของสัญญาเช่ากับเจ้าของพื้นที่ แต่การขับเคลื่อนในด้านการค้าขายของย่านนี้ทั้งตัววัสดุและผลิตภัณฑ์กระดาษไหว้เจ้า ทั้งทางคณะนักวิจัยคณะโบราณคดีและคณะสถาปัตยกรรมได้ชี้ประเด็นที่น่าสนใจมา เราจึงมาลองทำงานกับชุมชนดู จริงๆ วัตถุประสงค์แรกตอนที่เข้าไปคืออยากนำกระดาษไหว้เจ้าเหล่านี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ แต่พอลงไปทำจริงๆ ทีแรกชุมชนไม่ยินดี บอกว่ามาทำไมอีก มีคนมาทำอะไรไปเยอะแยะแล้ว และเขาก็ไม่เห็นได้อะไร ผมก็ต้องไปนั่งคุยใหม่ เหมือนล้างไพ่เลย ถามชุมชนว่าอยากได้อะไร ผมมีหน้าที่พัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ในชุมชน” ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิจัยร่วมในโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในย่านเยาวราช-เจริญกรุง” เล่าถึงก้าวแรกที่เข้าไปในชุมชน
กระดาษไหว้เจ้า เป็นโจทย์แรกที่ถูกโยนเข้าไปกลางวงว่าน่าจะเอามาต่อยอดได้ แต่ถูกคัดค้านด้วยเหตุผลว่านี่คือสิ่งที่มาพร้อมกับความเชื่อ กระดาษพวกนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อนำไปเผา หากจะนำมาพับเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปขายคงไม่เหมาะ แม้โจทย์นี้จะถูกตีตก แต่ความพยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยังไม่หมดหนทางเสียทีเดียว เนื่องจากชุมชนต้องการส่งเสริมกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ เพราะจำเป็นต้องผลักดันตัวตนให้เป็นที่ประจักษ์ ผ่านการทำกิจกรรมระหว่างคนในชุมชนกับผู้ที่สนใจภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ช่วยสนับสนุนการคงอยู่ของชุมชนไว้อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้
“พี่ๆ ในชุมชนเขาเลยบอกว่า อาจารย์ไปศึกษาการทำโคมไฟวันไหว้พระจันทร์ได้ไหม เป็นโคมไฟที่ในสมัยก่อนเวลาถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ลูกเล็กเด็กแดงจะต้องหิ้วถือโคมไฟเหล่านี้เดินกันให้ทั่วถนน เป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งของงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ และช่วยสร้างบรรยากาศและความทรงจำที่ดีกับเทศกาลนี้ด้วย โคมไฟดังกล่าวทำด้วยลวด ทำด้วยหวาย แล้วแปะด้วยกระดาษแก้ว ทำกันมา 30 - 40 ปีก่อน หรือลึกๆ กว่านั้น ตั้งแต่สมัยที่ยังต้องใส่เทียนเป็นเล่มๆ ในโคมเวลาใช้งาน”
หลังจากได้ข้อสรุปว่า ชุมชนต้องการรื้อฟื้นผลิตภัณฑ์ “โคมไฟกระดาษ” เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ไม่เพียงเชื่อมโยงความทรงจำของเทศกาลเท่านั้น แต่ยังช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการทำวิจัยระหว่างนักวิจัยกับชาวชุมชนเจริญไชย การมีส่วนร่วมได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่รับโจทย์ใหม่ ซึ่ง ผศ.ดร.วีรวัฒน์ ได้นำงานวิจัยบรรจุเข้าสู่การเรียนการสอน รวมถึงการพานักศึกษาหลายๆ ระดับการศึกษามาลงพื้นที่สำรวจชุมชนด้วยตัวเอง เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของหอศิลป์กรุงไทย พูดคุยกับนักประวัติศาสตร์เยาวราช สมชัย กวางทองพาณิชย์ รวมถึงศึกษาและจัดทำต้นแบบโคมไฟรูปทรงต่างๆ ทั้งเครื่องบิน กระต่าย จรวด ฯลฯ โดยรูปทรงเหล่านี้แม้จะไม่ได้มีการสร้างสรรค์ในลักษณะที่แปลกตา แต่เป็นการศึกษาและพัฒนาการสร้างโคมไฟจากรูปแบบเก่าๆ ด้วยวัสดุในปัจจุบันเพื่อหวนระลึกถึงอดีต
เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากความร่วมมือของนักศึกษาแล้ว ในงานเสวนาวันไหว้พระจันทร์ในโครงการปีแรก (2561) โคมไฟกระดาษน้อยใหญ่ถูกแขวนตกแต่งในลักษณะกึ่งนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชน “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” ชุมชนเจริญไชย ได้มีผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาพูดคุย จนเกิดคำถามสำคัญต่อคณาจารย์นักวิจัยและชาวบ้านว่า โคมไฟจะเป็นอย่างไรต่อไปโดยที่ไม่หยุดแค่การประดับตามบ้านเรือนในเทศกาลด้วยหน้าตาเดิม ๆ ซึ่งได้กลายเป็นโจทย์ต่อยอดให้กับงานวิจัยในปีต่อ ๆ มา โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องไม่ใช้กระดาษไหว้เจ้ามาเป็นวัสดุ นักวิจัยจึงลองสรรหากระดาษอื่นมาทดแทน ตอบโจทย์ที่ทำให้ชุมชนสบายใจได้เปลาะหนึ่ง
“ในระหว่างทำ เราได้มีการศึกษาร่วมกับคณะอื่น ๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มองไปถึงว่าเราจะทำผลิตภัณฑ์อย่างไรเพื่อโน้มน้าวให้คนในชุมชนหรือคนที่มาซื้อผลิตภัณฑ์เลิกเผากระดาษ ลดการเผากระดาษ เพราะมีเรื่องของจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวเลือกในการเลือกกระดาษอันใหม่ก็คือ ซื้อไปไม่เผาแน่นอน
สองปีที่แล้ว (2562) เราจึงทำการวิจัยโดยนำนักศึกษาปริญญาโท ของคณะมัณฑนศิลป์มาลงพื้นที่และระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์จัดทำโคมไฟออกมาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ทรงแปดเหลี่ยม สะท้อนภาพชุมชนและกิจกรรมของชุมชน ทำเป็นช่องประตูเปิดที่เป็นลักษณะหน้าบ้านและสถาปัตยกรรมของชุมชน บานประตู บานเฟี้ยม มองเข้าไปเห็นเป็นภาพกิจกรรมชุมชน เมื่อทำเสร็จแล้วมีนักศึกษาปริญญาเอกออกแบบโคมไฟสำหรับห้อยบนราวแขวนต่างๆ จึงมีทั้งสองแบบไปจัดแสดงผลงานและประดับตกแต่งสถานที่ในกิจกรรมเสวนางานเทศกาลไหว้พระจันทร์ (2562) ที่ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ซึ่งเป็นตึกเก่าแก่ย่านนี้ โดยได้นำผลงานจำนวนหนึ่งมาแบ่งจัดแสดงและตกแต่งที่บ้านเก่าเล่าเรื่องและตรอกชุมชนเจริญไชยด้วย ซึ่งก็ได้รับการชื่นชมและตอบรับที่ดีทั้งจากชุมชนเองและสื่อมวลชนที่เข้ามาทำข่าว”
หลังจากโคมไฟโฉมใหม่ภายใต้งานวิจัยดังกล่าวได้ปรากฎสู่สายตาสาธารณชน รวมถึงเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่นำไปร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 และ 2563 จึงมีการพัฒนาโจทย์ให้ใหญ่ขึ้นว่า “โคมไฟกระดาษ” จะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้ชุมชนและช่วยสร้างสีสันให้แก่งานเทศกาลประจำท้องถิ่นได้หรือไม่ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชน และแม้ว่าลักษณะโดยทั่วไปของการทำการค้าในชุมชนย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นยี่ปั๊ว รับของมาจากโรงงานเพื่อขายปลีกส่ง ไม่ใช่ทุกบ้านจะเป็นผู้ผลิตเอง แต่หลังจากจากโคมไฟกระดาษถูกแขวนไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่องเป็นเวลากว่าปี ปรากฏว่าแขกไปใครมามักจะถามว่าโคมไฟแบบนี้มีขายไหม ขายที่ไหน ราคาเท่าไร เหมือนเป็นการสำรวจตลาดทางอ้อมไปในตัวที่ทำให้ชาวชุมชนเริ่มมั่นใจมากขึ้น
ผศ.ดร.วีรวัฒน์ อธิบายว่าหลังจากงานวิจัยมีแนวโน้มก้าวไปสู่เชิงพาณิชย์ จึงได้พัฒนาไปเป็นโจทย์การทำงานในปี พ.ศ. 2563 โดยมีภารกิจที่จะต้องไปจัดกิจกรรมที่ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงเมืองทางกายภาพตามกาลเวลาและบริบทที่เปลี่ยนไป การที่ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้ปิดชุมชนเพื่อปรับปรุงมากว่า 11 ปี และรวมตัวกันเป็นชุมชนเข้มแข็ง กระทั่งก่อตั้ง “บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด” โดยมีเจ้าของตึกแถวแต่ละคูหาเป็นหุ้นส่วน แน่นอนว่าปัญหาระหว่างผู้อาศัยย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่โดยภาพรวมการรวมตัวกันของชุมชนทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เห็นชอบในแนวทางดังกล่าวของชุมชนที่จะอนุรักษ์ย่านและสภาพแวดล้อมด้วยการปรับปรุงอาคารสถาปัตยกรรมทั้งหมด ปัจจุบันชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้ทำการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นบ้านเรือนของตนเองเรียบร้อยแล้ว
“เราได้ศึกษาวิจัย เก็บข้อมูล วางแผนการออกแบบโคมไฟเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ที่จะจัดกิจกรรมในบริเวณพื้นที่ของชุมชนเลื่อนฤทธิ์ โจทย์จากเลื่อนฤทธิ์ทำให้ผู้วิจัยต้องไปดูว่าจะจัดกิจกรรมบนพื้นที่แบบไหน การออกแบบโคมเพื่อจัดแสดงต้องเป็นอย่างไร ขนาดของพื้นที่จึงมีผลกับขนาดของชิ้นงาน ตอนนั้นเป็นการออกแบบโคมที่มีขนาดใหญ่มาก ประมาณ 1.30 เมตร และในขั้นตอนการทำชิ้นงานต้นแบบ ทำด้วยกระดาษแข็ง แต่เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมการจัดงานกลางแจ้งในกลางเดือนกันยายนซึ่งเป็นฤดูฝนแล้ว จึงต้องเปลี่ยนแผนรองรับและทำการเปลี่ยนจากวัสดุกระดาษเป็นวัสดุพลาสติกซึ่งไม่ได้อยู่ในทางเลือกแรก
ในที่สุดได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องใช้วัสดุพลาสติก PE ซึ่งมีแหล่งขายอยู่ที่ถนนเสือป่า จึงนำมาทดลองตัดเลเซอร์และประกอบตามแบบออกมาเป็นโคมขนาดใหญ่ มีจำนวน 2 ชิ้น 2 ขนาดคือ 1.30 เมตร และ 1 เมตร มอบให้ชุมชนเลื่อนฤทธิ์และเจริญไชย โดยมีภาพรวมเดียวกันแต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน ผมออกแบบโลโก้ด้านล่าง เมื่อเปิดไฟในเวลากลางคืน แสงที่ส่องผ่านโคมจะเห็นโลโก้ของชุมชน ส่วนลวดลายซุ้มประตูที่ตกแต่งในโคมนั้นเป็นซุ้มประตูตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีการตกแต่งเฉพาะของแต่ละชุมชน
นอกจากนี้ยังมีโคมไฟเล็กๆ อีกเกือบร้อยอันสำหรับใช้ตกแต่งสถานที่ ถือว่าประสบความสำเร็จที่ชาวบ้านให้ความสนใจ และตัวชิ้นงานซึ่งได้วางแผนออกแบบไว้นั้นได้ทำหน้าที่ในตัวของมันโดยสมบูรณ์ คือเป็นทั้งส่วนสร้างอัตลักษณ์ สร้างจุดสนใจให้กับงาน รวมถึงการสร้างเสริมบรรยากาศให้กับเทศกาลทั้งชุมชนด้วย
เมื่อกิจกรรมที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์จบลง ทางคณะผู้วิจัยก็ได้หารือกับทางชุมชนเจริญไชยจนได้ข้อสรุปว่า นอกจากโคมไฟแล้วชุมชนยังมีแผนที่จะทำการ์ดอวยพรตามเทศกาลจีน ซึ่งผู้วิจัยตั้งใจจะจัดเวิร์กชอปในเดือนธันวาคม 2563 แต่ว่าไม่ทันการระบาดของโควิด-19 เราจึงจัดกิจกรรมลงพื้นที่ไม่ได้ ก็เลยออกแบบบัตรอวยพรแล้วจัดกิจกรรมสาธิตการทำบัตรอวยพรเหล่านั้น นำไปพูดคุยกับชุมชน ซึ่งก็ตรงกับโจทย์ของชุมชนคือ ทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปได้ในการทำขาย”
ผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ ที่เป็นผลิตภัณฑ์เป็นรูปธรรมในปีที่ผ่านมาได้แก่ การ์ดอวยพร 2 แบบ โคมไฟแบบสามมิติ 3 แบบ และ ชิ้นงานป็อปอัพสามมิติชิ้นใหญ่อีก 2 ชิ้น ซึ่งได้ปรับรูปแบบการนำเสนอให้กับชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยวิธีการสาธิตและถ่ายทำวีดีโอการทำการ์ดอวยพรโดย ดร.หลิว เว่ย หนึ่งในผู้ช่วยวิจัยที่สำคัญของโครงการวิจัย เพื่อเผยแพร่ให้กับชุมชนเจริญไชยได้เรียนรู้และต่อยอดต่อไป
แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ชุมชนเจริญไชยและเยาวราชได้มีทีมวิจัยเข้ามาทำงาน แต่โครงการวิจัยนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างการทำงานที่เปิดให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่การระดมความคิดเห็น เปิดรับข้อเสนอแนะ จนถึงการลงมือปฏิบัติ ยกตัวอย่าง การ์ดอวยพรเป็นผลผลิตจากการอภิปรายของคนในชุมชน ซึ่งครบคุณสมบัติของการเป็นสินค้าเพื่อการจำหน่าย ทั้งขนาดเล็กต้นทุนไม่มาก ขายได้ราคาไม่แพง สำหรับโคมไฟกระดาษก็เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการพัฒนาต่อยอด เพียงแต่ว่าต้องใช้วัสดุอื่นออกแบบให้มีขนาดที่เหมาะสม ได้เป็นแนวความคิดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
คำว่า “ผลิตภัณฑ์” ในสายตาของ ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จึงผูกติดกับคำว่า “ชุมชน” อย่างแยกไม่ออก ถึงตอนนี้โครงการวิจัยได้จบแล้ว แต่การนำไปใช้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของชุมชนเจริญไชยอยู่ในขั้น Prototype หรือ ตัวต้นแบบ ที่อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรออกแบบทั้งหมด ชาวบ้านเองจะต้องนำไปปรับให้ลงตัว และด้วยความที่ชุมชนเจริญไชยเป็นชุมชนเก่าแก่ รวมทั้งโคมไฟกระดาษก็เป็นหัตถกรรมที่มีความเป็นมายาวนาน เรื่องราวของชุมชนและโคมไฟจึงน่าสนใจ เป็นจุดขายที่นักวิจัยบอกว่าต้องผลักดันเต็มที่
“คนในชุมชนเขาเคลมว่าการขายกระดาษไหว้เจ้าเป็นอัตลักษณ์ในชุมชน แต่แน่นอนว่าการออกแบบเป็นคาแรกเตอร์ เป็นโลโก้ เป็นสัญลักษณ์มันชัดเจนกว่า ชุมชนก็ได้นำสิ่งที่พวกเราออกแบบไปทำเป็นกระเป๋าผ้า ขึ้นเป็นโลโก้ของชุมชนบนเว็บไซต์เขา และการทำวิจัยเพื่อพัฒนาสิ่งที่ชุมชนเจริญไชยมีอยู่ให้โดดเด่นก็นำไปต่อยอดในชุมชนอื่นๆ ได้ แต่อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกับการนำไปใช้ เช่น ผู้นำชุมชน ความเป็นปึกแผ่น และแน่นอนว่าเรื่องของผลิตภัณฑ์ ซึ่งผมโฟกัสศิลปะและการออกแบบคือ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีกระบวนการผลิตและการออกแบบ เผยแพร่ ยากง่ายอย่างไร เป็นปัจจัยต่างๆ ที่กรอบการทำงานจะต้องเจอ”
ถึงวันนี้ แม้ว่าโคมไฟจะได้เปล่งแสงส่องสว่างให้ชุมชน แต่หากถามว่านี่คือความยั่งยืนหรือไม่ นักวิจัยตอบว่าอาจไม่ขนาดนั้นในทันที ทว่าการสร้างสรรค์กิจกรรมและผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ จะกระตุ้นให้ชุมชนได้สื่อสารกับสังคมด้วยรูปแบบใหม่ๆ แต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นสารของวัฒนธรรม ประเพณี และคติความเชื่อของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมีศิลปะจากองค์ความรู้ของสถาบันการศึกษาเข้ามาบูรณาการกับศิลปะที่เป็นรากเหง้าเดิมของชุมชน สิ่งเหล่านี้ช่วยชุมชนให้ขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้คนโดยกว้าง ขยายผลให้ชุมชนได้เป็นที่รู้จักในบทบาทการส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม อันเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการดำรงอยู่ของชุมชนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้
“จุดมุ่งหมายของการทำวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับชุมชนนี้ ผมแบ่งเป็น 2 ประเด็นครับ อันดับแรกคือสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ชุมชนแต่ละชุมชนอาจจะมีสัญลักษณ์ ความเชื่อ หรือรูปแบบของศิลปะที่เข้ากับวิถีชีวิตของเขาอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้ไปยุ่งเลย เขาก็มีของเขาอยู่ การที่เข้าไปมีส่วนร่วม แน่นอนว่าชุมชนต้องเห็นพ้องต้องกัน ยินยอมพร้อมใจที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เราแค่เข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ขยับให้เข้ากับยุคสมัย หรือทดลองให้แปลกไปจากของเดิมที่เคยมีแต่ยังคงสอดคล้องกับความเชื่อและวิถีของเขา เราเข้าไปศึกษาของเดิมว่ามีจุดตันอย่างไร แล้วไปนำเสนอทางออกใหม่ๆ ซึ่งเวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง ก็อาศัยงานวิจัยนี่แหละเป็นตัวทดลอง แล้วชุมชนช่วยวัดผล เพราะฉะนั้นจึงได้ทั้งงานศิลปะ งานออกแบบ และกิจกรรมเชิงเทศกาลที่มีกลิ่นอาย รูปแบบ ที่เข้าไปเสริมให้ชุมชน โดยชุมชนเองก็เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นั้นด้วย”
นับได้ว่าต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ชุมชนได้พัฒนาต่อยอดของดีที่มีให้ทันยุคสมัย ทีมวิจัยได้นำความรู้และภูมิปัญญามาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน อีกทั้งยังได้ศึกษาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่หยั่งรากลึกใน “เยาวราช” ย่านการค้าที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน