ส่องสถานการณ์ 'ขยะพลาสติก' ช่วง 'โควิด-19' กับความท้าทาย 'โรดแมพ' ปี 65

ส่องสถานการณ์ 'ขยะพลาสติก' ช่วง 'โควิด-19' กับความท้าทาย 'โรดแมพ' ปี 65

ปี 2565 ไทยวางแผนเพื่อเดินตามเป้า 'โรดแมพ' การจัดการ 'ขยะพลาสติก' โดยการลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด และนำขยะพลาสติก 7 ชนิดมาใช้ใหม่ 50% กระทั่งเกิดวิกฤต 'โควิด-19' ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นมาจนน่าตกใจ ขณะที่ปี 65 ใกล้เข้ามา

ประเทศไทยก่อ 'ขยะพลาสติก' กว่า 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ช่วงโควิด 19 แม้นักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงเกือบจะเป็นศูนย์ แต่ขยะพลาสติกกลับเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของไทย ตั้งเป้าลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด และ นำขยะพลาสติก 7 ชนิดมาใช้ใหม่ 50% ในปี 2565 วิกฤตโควิด จึงเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อไปถึงเป้าหมาย

 

'ขยะพลาสติก' เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก หากไม่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ มีการคาดการณ์ได้ว่าทั่วโลกภายในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ จะส่งผลทำให้มีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมมากถึง 700 ล้านตัน

  • 'โควิด-19' ปริมาณ 'ขยะพลาสติก' เพิ่ม

ข้อมูลภาพรวมการจัดการ 'ขยะพลาสติก' ของประเทศไทย จาก กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี 'ขยะพลาสติก' 2 ล้านตันต่อปีตั้งแต่ในช่วงก่อน 'โควิด-19' หลังจากมี'โควิด-19' พบว่า แม้นักท่องเที่ยวหายไปมาก แต่ขยะพลาสติกไม่ได้ลดลง ช่วง'โควิด-19' ระลอกใหม่ 1 เมษายน 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน'โควิด-19' จะพบว่า ในสถานการณ์ปกติ ม.ค. – ธ.ค. 62 คนไทยสร้าง 'ขยะพลาสติก'เฉลี่ย 96 กรัม/คน/วัน ถัดมาในช่วง 'โควิด-19' เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2563 'ขยะพลาสติก' เพิ่มขึ้นกว่า 40% เฉลี่ย 134 กรัม/คน/วัน และล่าสุด ในการระบาดระลอกใหม่ ตัวเลขเดือนเม.ย. 64 'ขยะพลาสติก'เพิ่มขึ้น 45% หรือเฉลี่ย 139 กรัม/คน/วัน

  • 'โรดแมพ' จัดการ 'ขยะพลาสติก' 2561-2573

ขณะที่ 'โรดแมพ' การจัดการ 'ขยะพลาสติก' พ.ศ. 2561 – 2573 เป้าหมายที่ 1 การลด และเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลิกใช้พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (OXO) , พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) และไมโครบีด (Microbead) จากพลาสติก ภายในปี 2562 และเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว แบบบาง< 36 ไมครอน , กล่องโฟมบรรจุอาหาร , แก้วพลาสติกแบบบาง<100 ไมครอน และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ในปี 2570

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • ทิ้งให้ถูกที่ ใช้ให้เกิดประโยชน์

“อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในงานเสวนา เรื่อง 'ขยะพลาสติก' : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” ว่า ช่วงก่อนโควิด-19 จะเห็นว่ามีการประชาสัมพันธ์ในการลดใช้พลาสติกและผลค่อนข้างดี ประชาชนให้ความสนใจ แต่พอโควิด-19 มา ขยะพลาสติกกลับมารุนแรงกว่าเดิม ทำให้เป้าหมายในปี 2565 กลายเป็นความท้าทาย เพราะในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ซึ่ง ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 15 ก.พ.64

เป้าหมายที่ 1 คือ ลด และเลิกใช้ พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ กล่องโฟมบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง<36 ไมครอน แก้วพลาสติกแบบบาง <100 ไมครอน และหลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 คือ นำขยะพลาสติก 7 ชนิด กลับมาใช้ใหม่ 50% ในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติก ถาดกล่องอาหาร ฝาขวด และแก้วพลาสติกแบบหนา จึงต้องพูดคุยว่าจะทำได้ตามโรดแมปหรือไม่ เพราะ ปี 2565 ใกล้เข้ามา

“หลังจากสถานการณ์โควิดเชื่อว่าเศรษฐกิจคงจะกลับมาเหมือนเดิม และสิ่งที่ตามมาคือ “ขยะ” วัฒนธรรมของเราเปลี่ยน เรื่องของการเดินทาง การทำงานที่บ้าน การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากมาย คงจะรณรงค์ให้เลิกพลาสติกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องทิ้งให้ถูกทางและถูกนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และมีวิธีกำจัดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

  • ตั้งเป้าลดนำเข้าเศษพลาสติก

สำหรับอีกหนึ่งเป้าหมาย คือ การห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 100% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดการนำเข้าเศษพลาสติกในปี 2564 ปริมาณ 2.5 แสนตันต่อปี หรือประมาณ 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโรงงานในฐานปี 2563 ร่วมกับการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ ถัดมาในปี 2565 ตั้งเป้าลดนำเข้าลงอีก 20% เหลือ 2 แสนตันต่อปี ปี 2566 ลดลง 40% เหลือ 1.5 แสนตันต่อปี ปี 2567 ลดลง 60% เหลือ 1 แสนตันต่อปี ปี 2568 ลดลง 80% เหลือ 5 หมื่นตันต่อปี และปี 2569 ลดลง 100% และใช้ในประเทศ 100% 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าเศษพลาสติกราว 5 แสนตันต่อปี และตอนนี้ยังนำเข้าเศษพลาสติกอยู่ ขณะนี้มีโรงงานนำเข้าเศษพลาสติกราว 46 โรงงาน ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการว่าจะทำอย่างไรให้ขยะในประเทศ กลายเป็นเศษพลาสติกที่สามารถนำไปใช้ได้ 

162395191623

  • ขยะ ต้องไม่ใช่ขยะ

นิยามของเศษพลาสติก คือ ต้องมีการแยกชัดเจน ว่าเป็นชนิดไหน การนำเข้ามาต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อน เป็นนิยามของเศษพลาสติก ดังนั้น เศษพลาสติกที่นำเข้าเพื่อใช้ในการหลอมพลาสติกส่งขายทั้งในและต่างประเทศจึงถูกคัดแยกและทำความสะอาดมาแล้ว หากจะลดการนำเข้าและใช้เศษพลาสติกใประเทศจึงต้องทำให้สะอาด ซึ่งการทำให้สะอาดแพงกว่าการซื้อมาจากต่างประเทศ ดังนั้น การจะทำให้ “ขยะ” เป็น “เศษพลาสติก” คือ ต้องทำให้สะอาด และมีการคัดแยกชัดเจน”  

การจัดขยะอย่างยั่งยืน คือ ขยะต้องไม่ใช่ขยะ โดยเฉพาะพลาสติก ปัญหา คือ ไม่สามารถจัดการตั้งแต้ต้นทาง เราทิ้งขยะง่าย ค่าจัดเก็บขยะถูก ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้มีกฎกติกาเหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่มีการคัดแยกต้นทาง ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหาทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในส่วนของกลไกภาครัฐและเอกชนเราเดินทางชัดเจน แต่จะทำอย่างไรให้ในระดับท้องถิ่นซึ่งปัญหาส่วนใหญ่คือการทิ้งแบบเทกองมีมาตรฐานขึ้น และประชาชนให้ความร่วมมือคัดแยก เกิดห่วงโซ่เศรษฐกิจจาก 'ขยะพลาสติก' เกิดรายได้ ทั้งประชาชน และผู้ประกอบการรับซื้อพลาสติก” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

 

  • ลดขยะต้นทาง ลดปัญหา 'ขยะพลาสติก'

“ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ประธานโครงการ PPP Plastics กล่าวเสริมว่า พลาสติกเป็นปัญหาระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ ต้องร่วมแก้ปัญหา ทะเล คือ ปลายทางสุดท้ายที่ขยะไป กลายเป็นไมโครพลาสติก สะสมในปลา ท้ายที่สุดคนก็กินปลาและรับไมโครพลาสติกเข้ามา หรือกรณีวาฬนำร่องที่มาตายในไทย พบว่า กระเพราะอาหารมีพลาสติกกว่า 8 กิโลกรัม

วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการความร่วมมือกันในการลดการใช้งานพลาสติกที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastic) และการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามวาระแห่งชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจร จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถสร้างมูลค่าของของเสียเพิ่มขึ้นควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

  • กทม. ตั้งเป้าลดฝั่งกลบ 80%

ข้อมูลจาก สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า แม้ปริมาณขยะของกรุงเทพมหานคร ในภาพรวมลดลงจากปริมาณขยะสูงสุดในรอบ 30 ปี 10,700 ตันต่อวันเมื่อปี 2561 เหลือ 10,500 ตันต่อวัน ในปี 2562 , ลดเหลือ 9,500 ตันต่อวัน ในปี 2563 และ ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2564 เหลือ 8,800 ตันต่อวัน

แต่สัดส่วนของ 'ขยะพลาสติก' ในช่วงการแพร่ระบาด'โควิด-19' กลับเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ โดยเฉพาะสัดส่วน 'ขยะพลาสติก' เดือนเมษายน 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2564 กว่า 7.61% และหากมาดูจำนวนขยะต่อวัน จะพบว่า เมื่อประชาชนต้องทำงานที่บ้าน ปริมาณ 'ขยะพลาสติก' เพิ่มขึ้นมากจากปกติ 15% เป็น 25% ของขยะทั่วไปที่เก็บได้ต่อวัน (ขยะทั่วไปเก็บได้วันละประมาณ 8,800 ตันต่อวัน)

ปัจจุบัน กทม. มีศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่ง ได้แก่ อ่อนนุช รับได้ 3,100 ตัน/วัน หนองแขม รับได้ 3,600 ตัน/วัน และ สายไหม รับได้ 2,000 ตัน/วัน โดยส่วนใหญ่กว่า 80% นำไปฝังกลบ มีการตั้งเป้าว่าจะลดการฝังกลบลงเหลือ 20% และที่เหลืออีก 80% เป็นการกำจัดโดยเทคโนโลยีแปรรูปใช้ประโยชน์ ในปี 2570