จากกรณี ‘ล่อซื้อน้ำส้ม’ ชวนรู้ ‘ล่อซื้อ’ vs ‘ล่อให้กระทำผิด’ ต่างกันอย่างไร?
จากประเด็นเรื่องเจ้าหน้าที่สรรพสามิต “ล่อซื้อน้ำส้ม” ผู้ขายรายหนึ่งจนกลายเป็นประเด็นร้อน ชวนรู้ “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำผิด” ต่างกันที่ตรงไหน คดีแบบไหนที่ใช้วิธีนี้ได้ และเจ้าหน้าที่มีขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบแค่ไหน?
จากกรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตได้ทำการ “ล่อซื้อน้ำส้ม” จากผู้ขายรายหนึ่งจำนวน 500 ขวดที่เป็นประเด็นร้อนในสังคมช่วงนี้ หลายคนก็ได้ตั้งคำถามถึงว่า การกระทำการตรวจสอบเช่นนี้เป็นสิ่งที่พึงทำได้หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร?
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” พาไปดูว่า “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำผิด” มีความแตกต่างกันอย่างไร, คดีแบบไหนที่ใช้วิธีแบบนี้ได้, และเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน มีอำนาจ-หน้าที่- ขอบเขต แค่ไหนในการทำสิ่งนี้?
ปัจจุบันหลายคดีมีความซับซ้อนในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพื่อเอาหลักฐานมาดำเนินคดีผู้กระทำผิด เจ้าพนักงานจึงต้องใช้เทคนิคในการพยายามแสวงหาหลักฐานความผิด โดยวิธีที่ใช้มักเรียกด้วยภาษาปากทั่วไปว่า “การล่อซื้อ” หรือ “การล่อให้กระทำความผิด” นั่นเอง
แต่ทั้งสองรูปแบบนี้มีความแตกต่างคั่นกลางที่ไม่เหมือนกันอยู่อย่างสิ้นเชิง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์สรุปรวบรวมเรื่องให้ไว้ให้เข้าใจอย่างง่ายๆ แล้ว
- การล่อซื้อ
“การล่อซื้อ” สามารถทำได้กับบุคคลที่มีการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า “เป็นผู้กระทำผิด และมีความผิดก่อนอยู่แล้ว”
โดยหากต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ของทางรัฐต้องหาพยานหลักฐานมาเพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาล
นอกจากนี้ การกระทำการสั่งซื้อหรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะ “การล่อซื้อ” เพื่อพิสูจน์หลักฐานว่า “ผู้กระทำผิด เคยทำความผิดมาก่อนจริงๆ” การกระทำต่างๆ เหล่านั้นของพยานถือเป็นสิ่งที่รับฟังได้ (ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นแนวทางเพื่อรองรับในการดำเนินการ)
- การล่อให้กระทำผิด
“การล่อให้กระทำผิด” ต้องมีลักษณะข้อเท็จจริงที่ “ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ไม่เคยกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาก่อน”
แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำกระทำสิ่งนั้นลงไป เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ-บุคคลที่อ้างอิงว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ได้ไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาตัดสินใจทำสิ่งที่เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก
หากข้อเท็จจริงมีความชัดเจนว่า ผู้กระทำไม่เคยกระทำการในลักษณะดังกล่าวมาก่อน กรณีนี้จึงเข้าข่าย “ล่อให้กระทำผิด” อย่างสมบูรณ์
- ความแตกต่างระหว่าง “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำความผิด”
ความแตกต่างของ “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำความผิด” ทั้งสองรูปแบบนี้มีแตกต่างตรงที่ “เจตนากระทำความผิด” โดยสังเกตได้จาก “เจตนาแรก”
หากผู้ถูกกล่าวหามีเจตนากระทำความผิดก่อนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาทำผิดอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่ “ถูกโจทก์ล่อลวงให้กระทำความผิด” จะถือว่า “โจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด”
ในกรณีนี้โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ถูกกล่าวหาได้แต่อย่างใด
- วิธีการ “ล่อซื้อ" ที่ใช้ในประเทศไทย
สำหรับกฎหมายในการใช้ “การล่อซื้อ" ในประเทศไทย ได้มีการยอมรับให้มีการปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่ "เฉพาะในคดียาเสพติดเท่านั้น" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดียาเสพติดรายใหญ่ และคดีสอบสวนพิเศษที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ส่วน “คดีรูปแบบอื่นๆ” ทั่วไป ในการใช้วิธี “การล่อซื้อ” เป็นเพียงแค่ “แนวปฎิบัติ” ที่ทำต่อๆ กันมาเท่านั้น ไม่ได้มีกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบรับรองแต่แต่อย่างใด (กรณีนี้เหมือนกับของต่างประเทศในหลายๆ ประเทศ)
- 4 คดีไหนบ้างที่ใช้เทคนิค “การล่อซื้อ” ได้อย่างเป็นธรรม?
“การล่อซื้อ” เป็นหนึ่งในเทคนิคในการทำการสืบสวนคดี โดยมักทำกับกลุ่มคดี 4 ประเภทที่ยากต่อการเข้าถึงพยานหลักฐาน (ที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง) ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มคดีที่ไม่มีเอกชนเป็นผู้เสียหายโดยตรงแต่กระทบต่อรัฐ และผู้กระทำความผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย กับการกระทำความผิดต่างได้รับหรือเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
2. กลุ่มคดีที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย แต่ยากที่จะเข้าถึงการกระทำความผิด เนื่องจากผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายกับการกระทำความผิด ต่างได้รับหรือเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
3. กลุ่มคดีที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายมีส่วนรับรู้หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับ สมัครใจ มีผลประโยชน์ร่วมกันก็ตาม
4. กลุ่มคดีที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย แต่ยากที่จะได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งในการพิสูจน์ การกระทำความผิด โดยเฉพาะการระบุตัวผู้กระทำความผิด
- ขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ในการ “ล่อซื้อ” ของเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน?
เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและรวบรวมหลักฐานได้ครบถ้วน-รวดเร็วขึ้น จึงมีบัญญัติอำนาจของพนักงานสอบสวนไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนี้
1. ให้อำนาจเพื่อหาสิ่งของที่เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำผิด หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิดมาแล้ว ซึ่งอาจเป็นหลักฐานในคดีได้ โดยการปฏิบัติต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความทางอาญา มาตรา 132(2)
2. ให้อำนาจออกหมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของที่อาจเป็นพยานหลักฐานได้ โดยผู้โดนหมายเรียกอาจไม่จำเป็นต้องมาเอง แต่จัดส่งสิ่งของมาตามหมายที่เรียกได้ตามมาตรา 132(3)
3. ให้มีอำนาจในการยึดสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาตามมาตรา 132 (2) และ (3) โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กราตำรวจและกระทรวงมหาดไทยได้วางไว้ แต่ต้องเก็บรักษาสิ่งของนั้นตามระเบียบมาตรา 132 (4))
4. ให้มีอำนาจ หมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลที่อาจมีประโยชน์ต่อคดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย และให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้
5. ให้อำนาจในการจัดการผู้กระทำความผิดหรือเชื่อว่าได้กระทำผิด (จับ ควบคุม และปล่อยตัว)
6. ให้มีอำนาจ “สั่งมิให้บุคคลไปจากสถานที่” เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน
7. ให้มีอำนาจในการสอบสวน “ความเป็นมา ชีวิต ความประพฤติ ของผู้ต้องหา”
อ้างอิง: วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2563)