‘ศิลปะบนฝาท่อ’ หมุดหมายวัฒนธรรมย่าน ‘เยาวราช’

‘ศิลปะบนฝาท่อ’ หมุดหมายวัฒนธรรมย่าน ‘เยาวราช’

เปิด “ฝาท่อ” ที่งามกว่าเก่า อีกหนึ่งผลงานการเปลี่ยนของธรรมดาให้เป็นผลงานศิลปะที่เล่าความเป็น “เยาวราช” ให้เป็นย่านทรงคุณค่ามากกว่าแค่ “ธีมปาร์ค”

ตลอดถนน เยาวราช ที่ลากผ่านอดีตสู่ปัจจุบัน มิได้เป็นเพียงทางสัญจรของผู้คนและรถรา หากแต่ยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมร้อยเรื่องราวมากมายที่อยู่รายรอบ น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ผู้คนอาจแค่ผ่านมาแล้วผ่านไป จะดีแค่ไหนหากบนทางที่เราต่างคุ้นเคยบอกเล่าอัตลักษณ์ของเยาวราชได้หรืออย่างน้อยก็ชวนให้คนหันกลับมามองย่านเก่าแห่งนี้อย่างพินิจพิจารณามากขึ้น

ทุกวันนี้หากใครมีโอกาสย่ำเท้าแถว เยาวราช-เจริญกรุง อาจเคยสะดุดตากับ ฝาท่อ สีสันสดใสที่สื่อถึงมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ นั่นคือผลงานส่วนหนึ่งจากโครงการ การออกแบบศิลปะบนฝาท่อเพื่อเผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ภายใต้งานวิจัย การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราชซึ่ง รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในทีมวิจัยผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ศิลปะบนพื้นที่สาธารณะเหล่านี้อธิบายว่า งานวิจัยนี้มองเยาวราชเป็นชุมชนที่มีต้นทุน แล้วหนุนเสริมด้วยความคิดสร้างสรรค์ การผลักดันวัฒนธรรมที่โดดเด่น เพื่อให้คนท้องถิ่นยังอยู่ในพื้นที่ได้อย่างภาคภูมิใจ

สำหรับอัตลักษณ์ของย่านเยาวราช-เจริญกรุง ที่จะดึงมาใช้เพื่อสื่อสารผ่านศิลปะได้มี 4 ประเภท คือ 1. สถานที่สำคัญของย่านในอดีต เช่น น้ำพุวงเวียนโอเดียน ประตูสามยอด ห้างขายยา เป็นต้น 2. สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ลวดลายจีน อักษรที่เป็นมงคล หน้ากากงิ้ว เป็นต้น 3. กิจกรรมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น รถเข็นจีน รถราง เป็นต้น 4. อาชีพและสินค้าที่เป็นที่นิยมและสร้างสรรค์ในย่าน เช่น ผลไม้จีน เครื่องยาจีน โคมไฟจีน ย่านทำตะเกียง อัญมณี เป็นต้น

เราใช้วิธีสื่อสารอัตลักษณ์ของย่านด้วยการสร้างภาพที่มีลักษณะไอคอน มีรูปลักษณ์เชื่อมโยงกับข้อมูลในการออกแบบโดยตรงและไม่จำเป็นต้องเหมือนความเป็นจริงทุกประการ แต่ยังคงทำหน้าที่เชื่อมโยงรูปภาพและความหมายที่ต้องการสื่อสารได้ ถึงแม้ว่าผู้ชมจะไม่เคยรับรู้ความหมายมาก่อน และทีมวิจัยได้เพิ่มการใช้ตัวอักษรที่ระบุตำแหน่งฝาท่อประปาย่านเยาวราช-เจริญกรุงด้วยตัวอักษร 3 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน และอังกฤษ เพื่อสื่อสารได้มากขึ้น

ความน่าห่วงใยของเมืองเก่าในกรุงเทพฯ กลายเป็นประเด็นที่ รศ.จักรพันธ์ บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดโครงการเพื่อพัฒนาเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการทำให้ทุกเมืองเก่าเป็นเสมือน ธีมปาร์คหรือเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้น การนำศิลปะเข้ามาจรรโลงพื้นที่เดิมและสิ่งเดิม น่าจะเป็นการ ปลุกให้เมือง ตื่นได้อีกครั้ง

เราเห็นเกาะรัตนโกสินทร์ก่อนหน้านี้แล้วที่มีลักษณะเป็นธีมปาร์ค มีลักษณะเป็นเมืองร้างในอนาคต เราเชื่อว่าเมืองที่มีชีวิตจะพาวิถีคน วิถีวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลง ไปในทิศทางที่น่าปรารถนา ส่วนเยาวราชมีพลวัตสูง มีเดิมพันสูง เพราะเป็นชุมชนที่อยู่ได้ด้วยศรัทธาและความเชื่อ เป็นแหล่งรวมเศรษฐกิจ แหล่งบันเทิงสมัยโบราณ มันเปลี่ยนผ่านมาทุกยุคทุกสมัย หากมองย้อนกลับไปในยุคโก๋หลังวัง เยาวราชคึกคักมาก มันมีความรุ่งเรือง แต่ก็มีบางอย่างฟุบไป แล้วก็มีอย่างขึ้นมาทดแทน

162423517129

เมื่อมองเห็นความสำคัญของ “เยาวราช” เห็นเป้าหมายที่จะทำให้ย่านเก่าแห่งนี้กลับมาเป็นชุมชนที่เป็นชุมชนจริงๆ โดยไม่ใช้วิธีการจับคนนอกมาใส่ในพื้นที่เหมือนย่านบางย่าน กระบวนการศิลปะและความคิดสร้างสรรค์จึงถูกนำมาใช้ภายใต้คอนเซปต์ Creative Cultural City ให้ความสำคัญกับแก่นแท้ไม่ใช่แค่สร้างสีสัน

กระบวนการศิลปะมีพลวัตและมีพลัง ตัวงานศิลปะก็จับต้องได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปสัมผัสกับชุมชนได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีกระบวนการ เพราะฉะนั้นส่วนสำคัญที่สุดของงานศิลปะที่ถูกดึงเข้ามาใช้คือ กระบวนการ ถ้าเราเอาไปสร้างให้เกิดความสัมพันธ์กับชุมชน สร้างสำนึก สร้างการตระหนักรู้ สร้างการเผยแพร่ให้สัมฤทธิ์ผลว่าสิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่เคยมีอยู่ มันสร้างความแปลกใหม่ ตื่นตาได้อย่างไร กระบวนการศิลปะจึงถูกดึงเข้ามา เพื่อที่จะทำให้ประเด็นเชิงความหมายมันประจักษ์ขึ้นมาได้

ประเด็นฝาท่อที่ผมเคยทำไปแล้วที่คลองโอ่งอ่าง และประสบความสำเร็จ ถูกดึงกลับมาอีกครั้งหนึ่งเพราะว่ามันพูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดเลย ผมเอาแนวคิดที่จะทำให้งานศิลปะไปผูกกับสาธารณูปโภค ผมเชื่อว่าเมื่อไรที่คนในพื้นที่รู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของ ศิลปะสาธารณะมันจะเป็นสมบัติสาธารณะอย่างแท้จริง อย่างคลองโอ่งอ่างเห็นได้ชัดว่าคนมองฝาท่อเป็นสมบัติสาธารณะ คนก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับมันมากขึ้น เราเลยขยับให้ฝาท่อเป็นแผนที่ทางวัฒนธรรม”

จากแนวคิดสู่แนวทางในการปฏิบัติ ฝาท่อจ่ายน้ำของการประปากว่า 30 จุดในพื้นที่เยาวราช-เจริญกรุง ถูกเลือกใช้สำหรับการออกแบบเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ของย่านอย่างคลอบคลุมและเชื่อมโยงเป็นแผนที่ทางวัฒนธรรมให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจถึงคุณค่าตั้งแต่ครั้งอดีตได้

รศ.จักรพันธ์ เล่าถึงเหตุผลสำคัญที่เปลี่ยนจากฝาท่อระบายน้ำบนถนน มาใช้ “ฝาท่อจ่ายน้ำของการประปาซึ่งติดตั้งอยู่บนฟุตบาธ ตอบโจทย์ในเรื่องการรับรู้ของผู้คน

จากการสำรวจของทีมวิจัยพบว่าฝาท่อระบายน้ำที่อยู่บนถนน มีรถสัญจรไปมาทับอยู่ตลอดเวลา ส่วนฝาท่อประปาก็ติดปัญหาที่มีขนาดเล็ก ออกแบบได้ค่อนข้างยาก แต่ทุกหัวท้ายของถนนย่านนี้มีบ้านและมีวาล์วจ่ายน้ำอยู่ พูดง่ายๆ มันคือหมุดหมายที่คนจะมองเห็นได้ จึงเกิดเป็นการผลิตต้นแบบฝาท่อประปาจากความร่วมมือของเครือข่าย มีบริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด ผู้ประกอบการผลิตฝาท่อ ได้ทดลองผลิตต้นแบบฝาท่อประปา ด้วยเหล็กหล่อเหนียวส่วนฝาท่อและวงแหวนรอบฝาหีบ แล้วลงสี โดยเลือกลายจากถนนเยาวราช 1 ลาย และถนนเจริญกรุง 1 ลาย

ผลก็คือการพัฒนาฝาท่อประปาให้สวยงามมีลวดลายและสีสันที่ดึงดูดสายตานอกจากจะช่วยให้ทัศนียภาพในเมืองน่ามอง ยังประกอบเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ทางวัฒนธรรมที่ช่วยแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น”

ในแง่การใช้งาน การทำให้ฝาท่อประปาโดดเด่นมองเห็นได้ง่าย ช่วยให้เข้าถึงอุปกรณ์เมื่อยามจำเป็นได้ดีขึ้น และยังทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายบอกทาง แสดงเส้นทางไปยังจุดสำคัญของย่าน รวมทั้งขอบเขตและจุดเชื่อมต่อไปยังย่านอื่นๆ ได้อีกด้วย อย่างในหลายประเทศที่ติดตั้งฝาท่ออันเป็นเอกลักษณ์ของเมือง เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส คือตัวอย่างของการสร้างสรรค์หมุดหมายที่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมได้อีกทางหนึ่ง

162423520637

บนฝาท่อประปาโฉมใหม่นี้ ยังมีเทคโนโลยีด้านข้อมูลสุดล้ำอย่างการใช้ QR Code เพื่อแจ้งข้อมูลแต่ละหมุดหมาย อ่านได้ผ่าน QR Code ที่ติดตั้งอยู่ด้านซ้ายของวงแหวน โดยแต่ละลวดลายจะให้ข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของย่านที่แตกต่างกันตามที่ติดตั้งฝาท่อนั้นๆ และแนบลิงก์เพื่อเชื่อมต่อกับเว็บไซต์อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น เว็บไซต์ของการประปานครหลวง เว็บไซต์งานวิจัยเยาวราช-เจริญกรุง

จากวันแรกที่เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับการนำศิลปะมาใช้บนฝาท่อระบายน้ำในโครงการประติมากรรมสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมกับชุมชน ตั้งแต่ปี 2559 จนวันนี้ที่พัฒนาเป็นโครงการการออกแบบศิลปะบนฝาท่อเพื่อเผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน รศ.จักรพันธ์มองว่าชุมชนมีการปรับตัวและรวมตัว เริ่มเปิดรับศิลปะเข้ามามากขึ้น เป็นสัญญาณอันดีว่า ความฝันที่อยากจะเห็น Cultural Creative Community เริ่มใกล้ความจริง

“Creative Cultural City จะค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างขึ้นได้ ถ้าเราให้พื้นที่คน ชุมชนบวรรังษีที่อยู่ตรงคลองโอ่งอ่าง เขาก็เกิดการรวมตัวกันขึ้น สิ่งที่ผมได้ยินล่าสุดคือเขามาขอใช้สิ่งที่เราออกแบบ คือ ตราสัญลักษณ์ประจำชุมชน เขาจะเอาสิ่งนี้ไปออกแบบใหม่เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะขาย แล้วนำเงินมาสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน ซึ่งผมยินดีมาก นี่ก็เป็นสัญญาณหนึ่ง

พอเรามองไปที่ตรอกซอกซอยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชน มีทั้งบวกและลบ มีคนใหม่เข้าไปพัฒนาที่ดินเป็นบูทีคโฮเทล บ้านเรือนก็พยายามปรับหลังบ้านที่เมื่อก่อนเป็นตลาดสะพานเหล็กแออัด เมื่อพื้นที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมคิดว่ามันจะค่อยๆ ลาม ค่อยๆ เปลี่ยน สิ่งที่น่าห่วงคือต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นธีมปาร์คไปอีกแบบหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าการนำศิลปะมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรมนั้นมาถูกทาง หากได้รับความร่วมมือจากคนใน ดังนั้นการทำงานของทีมวิจัยจำเป็นต้องสร้างฉันทามติจากชุมชน ซึ่ง รศ.จักรพันธ์ บอกว่าแม้ตอนนี้โครงการจะจบแล้ว แต่ภารกิจยังไม่สิ้นสุด การนำศิลปะมาผสมผสานกับวิถีของชุมชนเป็นแค่การเปิดตัวให้ได้เห็นได้ยอมรับ

“การเติบโตของเมืองเป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ แต่ต้องจบแต่ละเฟส แต่ละเรื่อง ถามว่าจะไปได้ถึงตรงไหน ก็ต้องกลับไปที่คอนเซปต์ของโครงการ คือการที่เราอยากเห็น Creative Cultural City แต่ต้องเริ่มจาก Creative Cultural Community และต้องมี Community แบบนี้เกิดขึ้นอีกหลายๆ ที่ เยาวราชเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่ง จริงๆ เราเองก็อยากมองเห็นชุมชนฝั่งธน ชุมชนที่เป็นเรือกสวนไร่นาแถวตลิ่งชัน อีกหลายๆ พื้นที่ที่ดำเนินการภายใต้คอนเซปต์นี้ได้ และรวมตัวกัน พวกเราไม่ใช่นักอนุรักษ์หรือเก็บของเก่า แต่เราพยายามมองหาความเป็นไปได้ว่าทำอย่างไรให้ Creative Cultural City เกิดขึ้นในเมืองเก่า”

ไม่ใช่เพื่อหยุดเวลาหรือโหยหาอดีต แต่เพื่อปลุกเมืองให้ตื่นขึ้นและพร้อมก้าวไปข้างหน้าโดยไม่หลงลืมคุณค่าทางประวัติศาสตร์