‘คุรุสภา ONE’ติดอาวุธบริการออนไลน์ไม่ต้องเดินทาง
‘ดิศกุล’ เร่งเพิ่มเขี้ยวเล็บให้เจ้าหน้าที่คุรุสภาภายใต้นโยบาย ‘คุรุสภา ONE’ จัดสรรบุคลากรกระจายงานจากส่วนกลางไปภูมิภาค ทำงานเป็นหนึ่งเดียวผ่านระบบ TEPIS และ KSP e-Serviceทุกคนสามารถทำงานออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา
ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นองค์กรมหาชน ลำดับแรกๆ ที่ได้ปรับการทำงานให้เป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและลดการใช้เอกสาร ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (Teachers and Education Personnel Information System : TEPIS) หรือ 'ระบบ TEPIS'
พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเปิดให้บริการแอปพลิเคชัน ‘คุรุ On Mobile’ อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะรวมทุกบริการของคุรุสภาไว้ในแอปพลิเคชันนี้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์งานของคุรุสภาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง เช่น ผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก LINE Official IG Twitter เป็นต้น
- ‘คุรุสภา ONE’เปิดระบบ'ระบบ TEPIS'บริการทุกงาน
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ และเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 'คุรุสภา' ก็สามารถปรับตัวทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างราบรื่น ถือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพราะทำให้เจ้าหน้าที่และผู้รับบริการได้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้งานและขอรับบริการ ผ่านระบบออนไลน์ของ 'คุรุสภา'ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า 'ระบบ TEPIS' ให้บริการทุกงานของ'คุรุสภา' ตั้งแต่งานมาตรฐานวิชาชีพ งานใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ งานพัฒนาวิชาชีพ งานยกย่องวิชาชีพ และงานจรรยาบรรณวิชาชีพ
นอกจากนี้ ยังมีระบบ KSP e-Service ประกอบด้วย
1) ดำเนินการด้วยตนเอง (KSP Self-Service) ให้บริการขอขึ้นทะเบียนและขอต่ออายุใบอนุญาตฯ การยื่นผลงานวิจัยของคุรุสภา และครูอาวุโส
2) ดำเนินการผ่านสถานศึกษา (KSP School) ให้บริการข้อมูลทะเบียน การต่ออายุใบอนุญาต การขอหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แบบประเมินปฏิบัติการสอน การขอรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา
3) ดำเนินการผ่านสถาบันผลิตครู (KSP Bundit) ให้บริการรับรองหลักสูตรการผลิตครู ข้อมูลผู้เข้ารับการศึกษา และข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษา
- 'คุรุสภา'เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลหลายหน่วยงาน
นอกจากนี้ 'คุรุสภา'มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาระหว่างหน่วยงานผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ (Linkage Center) เช่น การขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียน ประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น
โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและเพื่อเป็นปัจจุบัน รวมถึงการการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยีผ่านบริการ Web Service กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ดร.ดิศกุล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา'คุรุสภา'ได้ดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้กำลังคนภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสม และมีสมรรถนะสูง พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ ปัจจุบันคุรุสภามีเจ้าหน้าที่ประจำที่ส่วนกลาง 188 คน และเจ้าหน้าที่คุรุสภา ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด 166 คน
โดยดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้รับทราบและให้'คุรุสภา'ดำเนินการวางแผนในการบริหารจัดการกำลังคน พัฒนาการทำงาน และใช้คนที่มีอยู่ทำงานให้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างสมรรถนะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด
- ‘คุรุสภา ONE’ติดอาวุธแก่เจ้าหน้าที่ 'คุรุสภา'
โดย 'ทำงานออนไลน์'ร่วมกันผ่าน 'คุรุสภา' ระบบ KSP e-Service และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ (MIS) ซึ่งจะทำให้การทำงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยระบบเครือข่ายอินทราเน็ตของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (VPN.)
ดร.ดิศกุล กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา คุรุสภาได้ปรับลดเวลาและวันทำงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มอบหมายให้บุคลากรในสังกัดปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยตามความเหมาะสมและส่งเสริมให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของคุรุสภาในการปฏิบัติงานทุกชนิด
พบว่า มีผลเป็นที่น่าพอใจ และกำลังผลักดันให้มีการติดอาวุธให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคนภายใต้นโยบาย ‘คุรุสภา ONE’ หรือ One Network for Everyone เพื่อให้สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา เชื่อว่า ถ้าสามารถสร้างเครือข่ายของ‘คุรุสภา’ได้อย่างเข้มแข็ง คุรุสภาจะสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ทำให้การทำงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเป็นเนื้อเดียวกันได้
นอกจากนี้จะใช้หลักการทำงานเสริมอำนาจ หรือ Empowerment ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง เช่น จัดสรรอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค ช่วยปฏิบัติงานตามภารกิจของส่วนกลาง แต่ยังปฏิบัติงาน ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โดยมีการกำหนดแผนการมอบหมายงานอย่างชัดเจน และมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงานเป็นหลัก
การพัฒนาให้เจ้าหน้าที่คุรุสภาจังหวัดเป็นตัวแทนของคุรุสภาส่วนกลาง ทำงานด้านการสอบสวนทางจรรยาบรรณ โดยจะมีการอบรมองค์ความรู้ เพิ่มเขี้ยวเล็บการทำงานด้านนี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินคดีต่างๆรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น