ธรรมศาสตร์ ชี้ชัด 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ไม่จำเป็นต้องตรวจ 'ภูมิคุ้มกัน'
กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามและเต็มไปด้วยข้อสงสัยอย่างมาก สำหรับผู้ที่ 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ไปแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่า “ภูมิคุ้มกัน” จะขึ้นหรือไม่?
นั่นเพราะที่ผ่านมา ได้ปรากฏกรณีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แต่ในบางรายภูมิคุ้มกันกลับขึ้นเพียงครู่คราวหรือในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่วนบางรายก็ขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ท่ามกลางความสับสนและความไม่มั่นใจ เกิดเป็นคำถามดังขึ้นให้ได้ยินอย่างหนาหูว่า ที่สุดแล้ว จำเป็นต้อง 'ตรวจภูมิ' หลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' หรือไม่ ?
มีคำอธิบายจาก ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร และหัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่จะมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้
ผศ.ดร.จีระพงษ์ อธิบายว่า ความจริงแล้วการตรวจ'ภูมิคุ้มกัน' หลังจาก'ฉีดวัคซีนโควิด 19' อาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในห้วงเวลาปัจจุบัน เนื่องจากวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และตรวจสอบคุณภาพผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
ตามข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือมากกว่า 90% ของผู้ฉีดวัคซีนโควิดจะมี'ภูมิคุ้มกัน' อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ถึงระดับภูมิคุ้มกันที่สัมพันธ์กับการป้องกันการติดโรค 'โควิด 19' (Correlates of protection) ดังนั้นการตรวจ 'ภูมิคุ้มกัน' หลังรับวัคซีน ณ ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของความสบายใจของผู้เข้ารับการตรวจภูมิที่มีทุนทรัพย์เพียงพอ
- ตรวจ 'ภูมิคุ้มกัน' มีประโยชน์แต่ยังไม่จำเป็นต้องตรวจ
อย่างไรก็ดี ประโยชน์ของการ 'ตรวจภูมิคุ้ม'กันอีกอย่างหนึ่งก็คือทำให้เราทราบว่าเราเคยติด 'โควิด 19' มาแล้วหรือไม่ เพราะการตรวจภูมิคุ้มกันสามารถวินิจฉัยการติดเชื้อได้ โดยสามารถใช้ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธี real-time RT-PCR เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้มากขึ้น
“โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด เว้นแต่ผู้ที่เคยติดเชื้อหรือผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดมาแล้ว ฉะนั้นการตรวจตรงนี้จะทำให้สามารถบ่งชี้ได้ว่า ผู้ที่เข้ารับการตรวจภูมิเคยติดเชื้อหรือเคยรับเชื้อมาแล้วหรือยัง” ผศ.ดร.จีระพงษ์ ระบุ
การตรวจ 'ภูมิคุ้มกัน' ในแง่หนึ่งจะช่วยให้ทราบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วนั้นตอบสนองต่อวัคซีนดีหรือไม่ ตรงนี้ถือว่ามีประโยชน์ เพราะจะช่วยให้รู้ว่าหากวัคซีนยี่ห้อนี้ ไม่ตอบสนองกับร่างกายเรา ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นวัคซีนตัวใหม่แทน
ในส่วนของคณะสหเวชศาสตร์ มธ. ปัจจุบันมีโครงการวิจัยที่ศึกษาเรื่อง 'ภูมิคุ้มกัน' (Antibody) ในเลือดของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 อยู่แล้ว โดยได้ทำการวัดปริมาณและหารูปแบบการตอบสนองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจการติดเชื้อทางเลือกใหม่ ซึ่งการวิจัยดังกล่าวจะต้องใช้ชุดตรวจที่เรียกว่าชุด Surrogate virus neutralization assay (cPass) จึงขยายมาสู่ภาคบริการ
สำหรับ cPass เป็นชุดตรวจที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้การรับรอง โดยชุดตรวจดังกล่าวสามารถนำมาใช้ 'ตรวจภูมิคุ้มกัน' หลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ได้ด้วย โดยปรกติแสดงผลเป็น % neutralization แต่ทางคณะสหเวชฯ มธ. สามารถแปลงเป็นค่าในหน่วยสากล IU/mL โดยได้ทำการเทียบเคียงกับแอนติบอดีมาตรฐานสากลที่สั่งซื้อมาจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
“ขณะนี้มีประชาชนบางส่วนที่มีความต้องการจะตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิด คณะสหเวชศาสตร์จึงตัดสินใจเปิดให้บริการตรวจด้วยชุด cPass เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่ง มธ. ถือเป็นที่แรกและที่เดียวในปัจจุบันที่ตรวจแล้วแสดงผลเป็น IU/mL ตามมาตรฐานสากล” ผศ.ดร.จีระพงษ์ ระบุ
- แนะ'ตรวจภูมิคุ้มกัน' ควรหลังได้รับ'วัคซีนโควิด 19' เข็ม 2
การแสดงผลการตรวจเป็น IU/mL ของธรรมศาสตร์นั้น จะแตกต่างไปจากที่หลายๆ โรงพยาบาลเปิดตรวจ ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจโดยใช้เครื่องอัตโนมัติที่แสดงผลเป็นค่า U/mL หรือ AU/mL ซึ่งไม่ใช่หน่วยมาตรฐานสากล
“วิธีที่ทางคณะสหเวชฯ ใช้ตรวจจะเรียกว่า cPass ซึ่งจะเป็นวิธีที่ตรวจวัดปริมาณ Antibody ที่แย่งจับกับชิ้นส่วนของไวรัสที่ใช้จับเข้ากับตัวรับเข้าเซลล์เสมือนจริง ฉะนั้นก็จะสามารถบ่งชี้การยับยั้งเข้าเซลล์เสมือนจริงได้ และถึงแม้จะมีที่อื่นใช้วิธีการตรวจแบบเดียวกัน แต่คณะสหเวชศาสตร์เป็นที่แรกและที่เดียวในปัจจุบันที่ออกผลเป็น IU/mL เนื่องจากเราได้ซื้อสารมาตรฐานมาจากองค์การอนามัยโลก” ผศ.ดร.จีระพงษ์ ระบุ
ในส่วนของผู้ที่จะเข้ามาตรวจ'ภูมิคุ้มกัน'หลังการ 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ควรมาหลังจากที่ได้รับ 'วัคซีนโควิด 19' เข็มที่ 2 ประมาณ 1 เดือน ส่วนผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ก็สามารถตรวจระดับภูมิคุ้มกันหลังจากการติดเชื้อได้หลังจากการรักษาจนหาย 1 เดือน เช่นกัน
ผศ.ดร.จีระพงษ์ อธิบายถึงวิธีการตรวจ 'ภูมิคุ้มกัน'ว่า จะใช้วิธีการตรวจน้ำเหลืองซีรั่ม โดยจะทราบผลไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในส่วนของค่าใช้จ่ายอาจจะสูงกว่าการตรวจแบบทั่วไป เพราะมีค่าสารมาตรฐานที่จะต้องใส่เข้าไปในการตรวจแต่ละครั้งด้วย
“ผมแนะนำว่าแม้จะมีภูมิคุ้มกันแล้วแต่การ์ดก็จะต้องไม่ตก เพราะต่อให้วัคซีนโควิด-19 มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่เราก็ยังสามารถมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้ แม้จะไม่มีอาการแต่ก็ยังแพร่เชื้อต่อไปได้ ฉะนั้นก็ยังจำเป็นจะต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ไปจนกว่าประชากรส่วนใหญ่ในประเทศจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่” ผศ.ดร.จีระพงษ์ เน้นย้ำ
ทางด้าน รศ.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ตรวจและผู้แปลผลของคณะสหเวชศาสตร์จะเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจระดับโมเลกุลจึงมีความถนัดและแม่นยำสูง ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจภูมิต้านทาน แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือโดยทั่วไป เช่น Semi-automatic ELISA washer และ ELISA reader หากแต่จุดเด่นที่สุดของเราคือการใช้ชุดตรวจ cPass แบบ ELISA plate ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจาก FDA USA และ อย. นั่นจึงทำให้ค่าบริการของเราสูงกว่าที่อื่นๆ
รศ.ไพลวรรณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ คณะสหเวชศาสตร์ 'ธรรมศาสตร์' ได้เปิดตรวจวัดระดับภูมิต้านทานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี Surrogate Virus Neutralization Test โดยคิดค่าบริการรายละ 2,500 บาท และตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสด้วยวิธี Indirect ELISA Test (RBD ELISA) ค่าบริการ 1,200 บาท ซึ่งหากรับบริการเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จะได้รับส่วนลดพิเศษ สอบถามเพิ่มเติม 0-2986-9213 ต่อ 7277