ใช้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ อย่างไร?? ในภาวะวิกฤติโควิด 19
‘ฟ้าทะลายโจร’ หนึ่งในสมุนไพร ที่ทางราชกิจจานุเบกษาประกาศเพิ่มในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพื่อใช้รักษาโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยอาการน้อย ทำให้ฟ้าทะลายโจร ได้รับความนิยมอย่างมาก
ปัจจุบันมีคำถามเกี่ยวกับการใช้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ มากมาย เพราะการทานฟ้าทะลายโจร ต้องทานตามปริมาณที่กำหนด เนื่องจากไม่ได้มีเฉพาะสรรพคุณครอบจักรวาลเท่านั้น แต่ก็มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกัน
ฟ้าทะลายโจร มีชื่ออื่นๆ ที่ถูกเรียกต่างกันออกไป ทั้ง ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน
- รู้จัก'ฟ้าทะลายโจร' ก่อนใช้ หญิงตั้งครรภ์งดทาน
ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ความรู้ผ่านเพจ สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร เกี่ยวกับการใช้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ในภาวะวิกฤตโควิด 19 ว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มีการใช้สมุนไพรทางการแพทย์ในการรักษา ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรพ. ได้มีการให้ยาในกลุ่มของฟ้าทะลายโจรแก่ผู้ป่วยโควิด 19 มาตลอดไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อย ขอเพียงไม่มีข้อบ่งชี้ต้องห้ามการใช้ อย่าง การเป็นหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือผู้ป่วยมีปัญหาตับและไตรุนแรง เป็นต้น
“ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีการใช้กว้างขวางในประเทศไทย ซึ่งมีการศึกษาวิจัยว่า ส่วนดอกเป็นส่วนที่มีสารสำคัญสูงที่สุด รองลงมาเป็นใบ ดังนั้น ตอนนี้เมื่อฟ้าทะลายโจร สามารถช่วยรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในผู้ที่มีอาการน้อยได้ดี นอกจากทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะนำฟ้าทะลายโจรมาใช้รักษาผู้ป่วยแล้ว ก็ยังมีการส่งเสริมให้มีการปลูก ทั้งในกลุ่มประชาชนและเกษตรกรให้ปลูก และเก็บเกี่ยว จะรอจนมีดอกประมาณ 30% แล้วตัดส่วนยอดมาใช้ ตรงนี้จะทำให้ได้สารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์สูงถึง 4%”ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าว
- วิธีทาน 'ฟ้าทะลายโจร' อย่างไรให้ปลอดภัย
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะมีการแจกเมล็ดฟ้าทะลายโจรคนละ 20 เมล็ด ให้ทุกคนไปปลูกที่บ้าน ซึ่ง ‘ฟ้าทะลายโจร’ ปลูกง่าย และหากทุกบ้านมีการปลูกไว้ที่บ้านสำหรับรับประทานใบตามปริมาณที่กำหนด จะช่วยดูแลรักษาโควิด 19 ได้ อีกทั้งตอนนี้มีมาตรการ Home Isolation รักษาแบบกักตัวที่บ้าน ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มผู้ที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการน้อย ก็สามารถรับประทานใบฟ้าทะลายโจร 4-7 ใบ ต่อครั้ง และวันละ 3-4 ครั้งโดยกินติดต่อกัน 5วัน หรือใช้กินเสริมภูมิต้านทาน วันละใบสองใบเท่านั้น
ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจรใน ‘ผู้ป่วยโควิด-19’จำนวนมากขึ้น ต้องรอฟังผลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แพทย์ทางเลือก และยังมีได้นำไปใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนเข้าข่ายว่ามีความเสี่ยงโควิด-19 ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ก็สามารถไปตรวจและหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 ก็สามารถรักษาได้ฟรีอยู่แล้ว และในบางโรงพยาบาลก็มีการใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยอยู่แล้ว
ส่วนกรณีของการกินเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันนั้นไม่มีความจำเป็นต้องกิน เพราะการทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงนั้นต้องการการดูแลสุขภาพที่เป็นองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนที่เพียงพอ ออกกำลังกาย กินผักผลไม้ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการได้รับวัคซีนด้วย
- 3 กลุ่มงดใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' กินแล้วเสี่ยงชีวิต
การใช้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ นั้น ผู้ที่ควรใช้ยา คือ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่อาการไม่รุนแรง หรือไม่มีปอดอักเสบ รวมถึงเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ อย่าง กลุ่มคนในครอบครัว คนที่ใกล้ชิดเพื่อนร่วมงานที่ติดเชื้อ และผู้ที่มีอาการและสงสัยจะติดเชื้อ
โดยวิธีการใช้นั้น ในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรได้รับฟ้าทะลายโจรที่มีสาระสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ 120-180 มิลลิกรัมต่อวัน หรือผงยาฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 2 แคปซูล 3 เวลา (อาการน้อย) ปรับเพิ่มได้ถึง 4 แคปซูล วันละ 3 เวลา ต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนอายุ 4-11 ปี ควรได้รับฟ้าทะลายโจรที่มีสาระสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ วันละไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน
“การใช้ฟ้าทะลายโจร ห้ามใช้ในคนท้อง คนให้นมบุตร และมีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งหากใครทานฟ้าทะลายโจร แล้วมีอาการคันบริเวณปาก มีผื่นขึ้น ปากบวม ตาบวม หายใจไม่ออก มีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์ และควรระวังการใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดสูง ผู้ใช้ยาวาร์ฟาริน ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และมีการติดตามอาการของโรคสม่ำเสมอ รวมถึงห้ามใช้ขนาดสูงติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดพิษต่อตับได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดวิธีใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' กินอย่างไรให้ปลอดภัย
ราชกิจจาฯ ประกาศ เพิ่ม 'ฟ้าทะลายโจร' ในบัญชียาหลัก รักษา 'โควิด-19'
- ก่อน-ติด- หลังติดเชื้อโควิด 19 ควรทานสมุนไพรใด
ตอนนี้มีการสนับสนุนให้บุคลากรภายในโรงพยาบาลรับประทาน ฟ้าทะลายโจร เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อีกทั้งการใช้สมุนไพรสามารถใช้ได้ทั้งก่อนติดเชื้อโควิด 19 ติดเชื้อโควิด 19 และหลังติดเชื้อโควิด 19 ดังนั้น ขณะนี้มียาสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถใช้กับผู้ป่วยโควิด 19 หรือใช้บรรเทาอาการหวัด ฟื้นฟูการทำงานของปอด หรือใช้ยาบำรุงปอดได้
ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า การใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 นั้น
ก่อนติดเชื้อ สามารถกินอาหารเป็นยาเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเน้นกลุ่มเครื่องเทศ เช่น กระชาย ขิง หอม หูเสือ ตะไคร้ กะเพราะ และใช้ยาฟ้าทะลายโจร ในกลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 อาทิ คนในครอบครัวติดเชื้อโควิด 19 คนอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันแต่ยังไม่ติดเชื้อ หรือไม่แสดงอาการ ขอให้ทานยาฟ้าทะลายโจร หรือคนที่มีเพื่อนร่วมงานติดเชื้อ แต่ตัวเองยังไม่ติดหรือไม่แสดงอาการก็ควรทานยาฟ้าทะลายโจรเช่นกัน นอกจากนั้น สามารถทานยาตรีผลา ซึ่งมีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน
ขณะติดเชื้อ สามารถใช้ ยาสมุนไพร ใช้บรรเทาอาการในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อย่าง ยาฟ้าทะลายโจร ยาขิง ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาสุม(รมไอน้ำ) ยาปราบชมพูทวี(ใช้ในกรณีที่มีอาการคัดจมูก น้ำมูก หรือหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย ห้ามใช้ขณะมีไข้สูงหรือตัวร้องสูง)
หลังติดเชื้อ สามารถใช้ตำรับยาฟื้นฟู บำรุงปอด อย่าง ตำรับยาบำรุงปอด ยาตรีผลา ยาปราบชมพูทวี และยาอภัยสาลี
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถข้อคู่มือดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนในภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือสอบถามได้ที่ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โทร.037-211289 ได้
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ประชาชนจะมีการใช้ 'สมุนไพร' ในครัวเรือน หรือการดูแลสุขภาพ รับประทานยาสมุนไพรเพื่อเสริมภูมิต้านทานแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องปฎิบัติ คือ การปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น การสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ พักผ่อนนอนหลับ ออกกำลังกาย และกินอาหารที่ดี มีประโยชน์
รวมถึงต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง พื้นที่แออัดต่างๆ และต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง ถ้ามีเมื่ออาการแย่ลง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาแบบกักตัวที่บ้าน อย่าออกไปนอกบ้าน หรือไปทำกิจกรรมเหมือนคนปกติและต้องปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อดูแลตัวเอง ดูแลคนรอบข้าง และรับผิดชอบต่อสังคม