'ครองเตียง'ทะลุ 3 หมื่น แนะผู้ป่วยสีเขียวเข้าร่วม 'Home &Community isolation'
ด้วยจำนวนการ 'ครองเตียง'ของผู้ป่วยโควิด 19 ภายในระยะเวลา 1 เดือนเพิ่มถึง 3 หมื่นเตียง ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเตียงก็ไม่พอ 'Home Isolation' และ 'Community isolation' จึงเป็นทางแก้ปัญหานี้
วันนี้ (9 ก.ค.2564)มีผู้ป่วยรายใหม่ 9,326 ราย และเสียชีวิต 91 ราย รวมถึงมีผู้ป่วยรอเตียงจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาการรักษาพยาบาลมากที่สุด จึงได้จัดตั้ง Home Isolation หรือ การแยกกักตัวที่บ้าน และ Community isolation หรือศูนย์พักคอยการส่งต่อ หรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในชุมชน เกิดขึ้น
- 1 เดือนอัตราการครองเตียงพุ่งไป 3 หมื่นราย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าสำหรับความก้าวหน้าในการ แยกกันตัวที่บ้าน หรือ แยกกันตัวที่ชุมชน นั้น ในความเป็นจริงถ้าเลือกได้ ไม่อยากใช้มาตรการดังกล่าว เพราะมาตรการดังกล่าวจะมีผลเสียใน 2 ประเด็น คือ
ผลเสียแรก กับสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอง เนื่องจากการอยู่บ้านคนเดียวโดยไม่มีใครดูแล หากอาการของผู้ป่วยรุนแรงขึ้น จากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว กลายเป็นกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันถ่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
ผลเสียที่ 2 นั้น เกิดผลเสียในชุมชน บทเรียนจากในต่างประเทศมีการกักตัวที่บ้าน ผลปรากฏว่าไม่สามารถการกักตัวที่บ้านได้ 100% ทำให้การแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัว และชุมชนได้
“ด้วยสถานการณ์ของไทยตอนนี้ จำเป็นต้องทำเรื่องนี้ เพราะอัตราการครองเตียงทั่วประเทศ ประมาณ 80,000 ราย แต่ในกทม.และปริมณฑลในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.-9ก.ค.2564 พบว่ามีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ทั้งหมด 30,631 ราย จากเดิม 19,629 ราย เพิ่มขึ้น 56% และเมื่อจำแนกผู้ป่วยตามระดับความรุนแรง เมื่อวัน 9 มิ.ย.2564 มีผู้ป่วยสีเขียว 8,790 ราย วันที่ 9 ก.ค.2564 มีผู้ป่วยสีเขียว 15,596 ราย ส่วน ผู้ป่วยสีเขียวเข้มจากเดิม 4,395 ราย เป็น 7747 ราย ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง จาก 2,879 ราย เป็น 5,902 ราย และผู้ป่วยสีแดง จากเดิม 714 ราย เพิ่มเป็น 1,206 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเตียงไอซียูเพิ่มมาเท่าตัว และเตียงอื่นๆ เพิ่ม 200-300%” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
- Home/Community isolation รับเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำ Home isolation และ Community isolation เพราะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน จนรัฐบาลต้องประกาศ ล็อกดาวน์ โดยจะนำผู้ป่วยสีเขียวและสีเขียวแก่ที่ยิมยอมโดยสมัคร เป็นผู้ติดเชื้อตามเกณฑ์กำหนด สถานที่เหมาะสม ปฏิบัติตามคำแนะนำได้เข้าร่วม ภายใต้หลักการเดิม คือ บวร บ้าน วัด โรงเรียน และเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของคนไข้ได้มีการเปิดช่องทางการสื่อสารกับผู้ป่วย คือ Telemonitor เพื่อติดตามอาการทุกวัน วันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน
นอกจากนั้น ผู้ป่วยต้องลงทะเบียนกันทางสถานพยาบาล ซึ่งทางสถานพยาบาลอาจจะมีการX-ray ปอด หากทำได้ ให้ที่วัดไข้ เครื่องวัด O2 และมีการจัดระบบรับผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม สำหรับ Home isolation และ Community isolation สำหรับ ผู้ป่วยโควิด 19 นั้น การกักตัวที่บ้าน จะเป็นระหว่างรอแอดมิดที่โรงพยาบาล แพทย์พิจารณาว่ารักษาที่บ้านได้ หรือได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล สถานที่ที่รัฐจัดให้ไม่น้อยกว่า 10 วัน หรือ 7-10 วัน และจำหน่ายกลับบ้านเพื่อรักษาต่อที่บ้านโดยวิธี Home isolation
ส่วน Community isolation จะเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 ในชุมชน ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการ/มีอาการเล็กน้อย ผู้ป่วยไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา ทุกกลุ่มอายุสามารถเข้าร่วมได้
- Community isolation ดูแลผู้ติดเชื้อไม่เกิน 200 คน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าการ แยกกักตัวในชุมชน นั้น ขณะนี้ได้รับความร่วมมือในการจัดหาสถานที่ โดยอาจจะใช้ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน หรือเป็นหมู่บ้าน แคมป์คนงาน ซึ่งชุมชนยินยอมรับผู้ติดเชื้อ สามารถจัดบริการดูแล ผู้ติดเชื้อ ไม่เกิน 200 คน จัดตั้งศูนย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลได้ หากมีอาการรุนแรงขึ้น และมีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะหรือได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันการระบาดออกนอกชุมชน
ขอขอบคุณภาคประชาสังคมหลายส่วนที่เข้ามาช่วยทำ เรื่องการแยกกันตัวในชุมชน ทั้งเพจต้องรอด เส้นด้าย ที่เข้ามาช่วยกันแยกกันตัวที่บ้าน โดยรวบรวมผู้ป่วยและประสานกับกรมการแพทย์ และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดูแลเรื่องงบให้แก่โรงพยาบาลในการจัดสรรอาหาร 3 มื้อให้แก่คนไข้ที่บ้าน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการทำ Home isolation ทั้งรพ.ภาครัฐและประชาสังคมได้มีการรวมกันทำไปแล้ว ซึ่งคนไข้คนไหนที่อาการนั้น ในส่วนของการประเมินนั้นจะร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งตัวคนไข้เอง และมีกลุ่มประชาสังคมช่วยประเมิน และถ้าเป็นคนไข้รพ.โดยตรง ทางรพ.จะมีการแจกเครื่องมือแพทย์ และมีการประเมินร่วมกันระหว่างคนไข้และแพทย์ พยาบาล
ส่วนรายที่ไม่มั่นใจ ก็จะให้ออกกำลังกายเพื่อดูว่ามีออกซิเจนต่ำหรือไม่ ให้คนไข้ทำและแพทย์ช่วยประเมิน ส่วน Community isolation การประเมินจะมีอาสาสมัครร่วมประเมินกับคนไข้ และมีแพทย์ พยาบาลเข้ามาช่วยประเมินอีกครั้ง
‘ตอนนี้ผลเสีย คือ เรื่องสุขภาพของผู้ป่วยสีเขียวที่เข้าร่วมมาตรการ Home isolation และ Community isolation ไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีระบบติดตามอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือการแพร่เชื้อ ดังนั้น หากผู้ป่วยดูว่าตัวเองสามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ เช่น แยกห้องนอน ของใช้ส่วนตัว และห้องน้ำอาจไม่ต้องแยกแต่ต้องใช้เป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดทันที อย่างไรก็ตาม ถ้าแยกกันตัวได้ และไม่สัมผัสใครก็อาจจะแยกกักตัวที่บ้าน แต่ถ้าในบ้านต้องอยู่ร่วมกันหลายๆ คนขอให้ไปเข้าร่วม Community isolation” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ศบค.'เปิดจุดตรวจโควิดเพิ่ม จัดตั้ง 'Home isolation' ทั่วกรุง
ตั้ง 'Community Isolation' ใน 23ชุมชนดูแลผู้ป่วยโควิด 19
'สปสช.'ย้ำมาตรการ ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน - ชุมชน เสมือนอยู่ รพ.
- สถานพยาบาลเอกชน พร้อมจัด Home isolation แก่ผู้ป่วยโควิด
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส) กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และประชาชนที่ต้องการ ตรวจโควิด 19 จำนวนมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ในเบื้องต้น สถานการณ์ช่วงแรกสธ.ได้ออกแบบระบบว่าถ้าที่ไหนตรวจผู้ป่วยต้องแอดมิน แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และมีการตรวจเพิ่มขึ้น
ทาง กรม สบส ได้แจ้งในที่ประชุมสมาคมสถานพยาบาลเอกชนแล้ว ขอให้ตรวจโควิด 19 และตอนนี้มีการออกมาตรฐาน Home isolation อีกทั้งเรามีศูนย์อนามัยของกทม. มีอสม. มีหน่วยงานพยาบาลต่างๆ จะมีช่วยเสริม Home isolation
ดังนั้น หากมีการ ตรวจโควิด 19 แล้วพบผู้ป่วย ถ้า สถานพยาบาลเอกชน มีเตียง ชอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกคนดูเตียงให้แก่ประชาชน แต่ถ้าไม่สามารถจัดเตียงได้ ขอให้จัด Home isolation และ Community isolation แก่ประชาชน
นอกจากนั้น ได้เปิดให้ สถานพยาบาลเอกชน สามารถจัดตั้ง Home isolation ให้แก่ประชาชนได้ อีกทั้งได้มีการจัดทำเกณฑ์ค่าใช้จ่ายให้แก่สถานพบาบาลเอกชน ซึ่งจะมีการประกาศเร็วๆ นี้ รวมถึงจะนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป
รายงานข้อมูล Hospitels กรม สบส ข้อมูลวันที่ 9 ก.ค.2564 กองสถานพบาบาลและการประกอบโรคศิลปะ พบว่า กรมสบส ได้มีการอนุมัติ Hospitels 98 แห่ง (+3) เตียงที่ได้รับอนุมัติ 25,794 เตียง (เพิ่ม+557) แบ่งเป็น กทม. 21,538 เตียง และปริมณฑล 4,256 เตียง
ทั้งนี้ Hospitels ที่เปิดดำเนินการขณะนี้ 78แห่ง (+3) เตียงรวม 19,603 เตียง (ลดลง -422) แบ่งเป็น กทม. 15,999 เตียง ปริมณฑล 3,604 เตียง ผู้ป่วยรวม 19,189 ราย (เพิ่มขึ้น+2,810)เป็น กทม.15,627 ราบ และปริมณฑล 3,562 ราย เตียงคงเหลือ 434 เตียง (ลดลง-3,212) แบ่งเป็น กทม. 392 เตียง และปริมณฑล 42 เตียง
“จากการติดตามประเมิน สถานพยาบาลเอกชนเกือบทุกแห่ง มีระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอยู่แล้ว มีระบบการติดตามดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนหนึ่งที่สามารถเข้าร่วมได้ทันที ทั้งนี้ ตอนนี้สถานพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกทม.และปริมณฑล พร้อมให้บริการตรวจโควิด 19 และพร้อมเข้าร่วม Home isolation ได้”นพ.ธเรศ กล่าว