คกก.วัคซีนฯ เคาะ ร่างฯ คุม 'ส่งออกวัคซีน' รับมือไทยระบาดหนัก
คกก.วัคซีนแห่งชาติ จัดหาวัคซีนปี 2565 เพิ่ม 120 ล้านโดส พร้อมเห็นชอบในหลักการ 'กำหนดสัดส่วนส่งออกวัคซีน' นอกราชอาณาจักร
วันนี้ (14 ก.ค.2564) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีนปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส ซึ่งจะจัดหาวัคซีนในรูปแบบ mRNA ซับยูนิตโปรตีน และวัคซีนชนิดอื่นๆ เพื่อให้เพียงพอกับการฉีดให้แก่ประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน
รวมถึงมีผลต่อการตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ของ โควิด 19 การฉีดกระตุ้น ภูมิคุ้มกัน และการมีวัคซีนไว้สำรองกรณีเกิดการระบาด นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีให้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการจัดหาวัคซีนในปี 2564 นี้ให้ได้ครบตามจำนวน 100 ล้านโดส
- เห็นชอบในหลักการ ประกาศกำหนดสัดส่วนส่งออก 'วัคซีน'
นพ.นคร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม คกก.วัคซีนแห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการ การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561 เรื่องการ กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน นอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งได้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขา นั้นคือ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พิจารณาผลกระทบ ด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน
โดยยึดหลักผลประโยชน์ที่จะมีต่อประเทศและประชาชนเป็นหลัก อีกทั้งให้เจรจากับผู้ผลิต เพื่อให้ได้วัคซีนในจำนวนที่เหมาะสมกับการระบาดในประเทศ และดำเนินการเรื่องการส่งมอบ ซึ่งเมื่อได้ผลประการใด ให้มารายงานที่ประชุมอีกครั้ง
- ระบุฉีด 'วัคซีนสลับชนิด' หารือบ่ายนี้
ทั้งนี้ สำหรับการผลิต วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในไทย กรณีที่จำกัด ห้ามออกนอกอาณาจักรนั้น นพ.นคร กล่าวต่อว่า ตามสัญญาเดิมสัดส่วนการใช้ในประเทศ บริษัทจะส่งมอบ วัคซีน ให้ไทย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต หรือตามยอดจัดซื้อคือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของแต่ละช่วงเวลา เพราะการผลิตไม่มีโดสตายตัว ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ผลิตได้จริง
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับกรณีการฉีด วัคซีนสลับชนิด นั้น ในบ่ายวันที่ 14 ก.ค.2564 นี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจะประชุมหารือร่วมกัน ส่วนกรณีคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น คำเตือนดังกล่าวมีความยาวพอสมควร การตัดเอาท่อนใดท่อนหนึ่งมาทำให้มีปัญหา ซึ่ง WHO ระบุว่าถ้าสาธารณสุขของแต่ละประเทศมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ก็สามารถดำเนินการได้ โดยให้ขึ้นกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ WHO ไม่ได้บอกว่ามีอันตราย หรือห้ามทำ