เช็คสต็อค เดือนก.ค. แอสตร้าฯส่งวัคซีนให้ไทยแล้วกี่โดส
สธ.เผยก.ค. แอสตร้าฯส่งมอบวัคซีนแล้วกว่า 2 ล้านโดส เป้าฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส ปรับสูตรฉีดคาดใช้วัคซีน 2 ชนิดราว 10 ล้านโดส ซิโนแวค 4-5 ล้านโดส-แอสตร้าฯ 5-6 ล้านโดส แย้มกำลังเจรจา 3 ประเทศแลกเปลี่ยนวัคซีน ปลายก.ค. 1 ประเทศพร้อมบริจาค
เมื่อเวลา 11.00 น วันที่ 18 ก.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ได้จัดส่งวัคซีนมาแล้ว ดังนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ล็อตแรก จำนวน 117,300 โดส
วันที่ 28 พ.ค. 242,100 โดส
วันที่ 4 มิ.ย. 1,787,100 โดส
วันที่ 16 มิ.ย. 610,000 โดส
วันที่ 18 มิ.ย. 970,000 โดส
วันที่ 23 มิ.ย. 593,300 โดส
วันที่ 25 มิ.ย. 323,600 โดส
วันที่ 30 มิ.ย. 846,000 โดส
วันที 3 ก.ค. 590,000 โดส
วันที่ 5 ก.ค. 555,400 โดส
วันที่ 12 ก.ค. 1,053,00 โดส
วันที่ 16 ก.ค. อีก 505,700 โดส
รวมมีการส่งมอบแล้ว 8,193,500 โดส
“ จะเห็นว่า ตามกำหนดการจะเริ่มส่งเดือน มิ.ย. แต่จากสถานการณ์ระบาดจึงส่งให้เราก่อนล่วงหน้าตั้งแต่ก.พ. กับพ.ค.ที่ผ่านมา ในเดือน มิ.ย. ส่งมา 5,130,000 โดส หากรวมส่งก่อนล่วงหน้าก็จะเป็น 5,300,000 กว่าโดส และในก.ค. บริษัทแอสตร้าฯส่งให้เราแล้ว 3 รอบ 1,651,100 โดส จะเห็นว่าการส่งเมื่อผลิตได้เสร็จ รับรองคุณภาพเสร็จ ก็ทยอยส่ง เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขเคยบอกว่า จะส่งเป็นรายสัปดาห์” นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ นั้น เริ่มตั้งแต่พบโควิด-19 ในจีน โดยไทยพบนักท่องเที่ยวชาวจีนจากอู่ฮั่นในเดือน ม.ค.2563 ต่อมาการระบาดเพิ่มขึ้นจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 25 มี.ค.2563 จากนั้นคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผน blueprint การเข้าถึงวัคซีนในวันที่ 22 เม.ย.63 เห็นได้ว่าเราดำเนินการเรื่องนี้มาปีก่อน ตั้งแต่การระบาดแรกๆตอนเม.ย.2563 ที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 24 ส.ค. กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท AZ ให้ผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้เรามีแหล่งผลิตในประเทศไทย จากนั้นวันที่ 23 ก.ย. คณะกรรมการการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น
วันที่ 9 ต.ค.2563 รมว.สธ.ได้ออกประกาศเรื่องการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินฯ วันที่ 17 พ.ย.2563 ครม.เห็นชอบการจองวัคซีนล่วงหน้า(AZ) 26 ล้านโดส จากนั้น 27 พ.ย. 2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล คือ แอสตร้าฯ ประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค และวันที่ 5 ม.ค. 2564 ครม.เห็นชอบสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส กระทั่งวันที่ 20 ม.ค. อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน วันที่ 23 ก.พ. ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 ล้านโดส เพิ่ม 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส ต่อมาวันที่ 2 มี.ค. ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน ซึ่งกรมควบคุมโรคก็มีการเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส โดยประสานกับแอสตร้าฯประเทศไทย จากนั้นวันที่ 25 มี.ค.2564 ส่งสัญญาที่ลงนามโดยกรมควบคุมโรค ให้บริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย
“สังเกตได้ว่าเวลาเราส่งสัญญาไป ทางแอสตร้าฯลงนามสัญญากลับมาจะใช้เวลา 2 เดือน ซึ่ง คร.ได้รับสัญญาวันที่ 4 พ.ค. เห็นได้ว่าเรามีการดำเนินการต่อเนื่อง และใช้เวลาพอสมควร ต่อมาวันที่ 1 มิ.ย.2564 ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ กรอบ 61 ล้านโดสตั้งแต่มิ.ย.-ธ.ค.64” อธิบดีกรมควบคุมโรค
ต่อข้อถามแผนกระจายวัคซีน กทม.และต่างจังหวัดเป็นอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามศักยภาพที่ประเมินไว้จะฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส ในขณะนี้ก็ยังเป็น 10 ล้านโดสอยู่โดยขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า จะส่งให้จังหวัดต่างๆโดยกำหนดให้เป้าหมายหลัก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงตามเวลา เริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ ต่อมาผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคที่มีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ขณะนี้การฉีดวัคซีนกระจายให้ 2 กลุ่มนี้มากที่สุด และฉีดในพื้นที่ระบาด คือ กทม.และปริมณฑลมากที่สุด ต่อไปก็เพื่อการควบคุมโรคและต่างจังหวัด จะมีการปรับเปลี่ยแต่ละเดือนตามสถานการณ์การระบาด
กรณีถ้าแอสตร้าฯไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้แล้วไม่พอ จะมีแผนสำรองอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนสำรองคือการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆมาเพิ่มเติมตามสถานการณ์ ยกตัวอย่าง ตอนเซ็นสัญญากับแอสตร้าฯตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อมาเกิดการระบาดที่จ.สมุทรสาคร ช่วงปลายปี 2563 ช่วงนั้นก็มีการนำวัคซีนของซิโนแวคนำมาใช้เพื่อให้ควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น ก็ทำให้สามารถคุมการระบาดได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์เพิ่มเติม ก็มีแผนที่จะจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติมจากหลายแหล่งที่หาได้ เช่น ซิโนแวค รวมถึง มีการทำสัญญากับบริษัท ไฟเซอร์ และหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆตลอดเวลา
แสดงว่าวัคซีนซิโนแวคยังต้องนำเข้ามาอีก นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้นำเข้ามาตามกรอบที่ครม.เห็นชอบ และอนุมัติงบประมาณ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของวัคซีนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่ผ่านมาวัคซีนซิโนแวคก็มีประสิทธิภาพ ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนมี 3 ประการ คือ ป้องกันการติดเชื้อ ลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนทุกชนิดในโลกนี้ที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ให้การรับรอง มีประสิทธิภาพทั้ง 3 อย่าง ทุกตัวสามารถลดการติดเชื้อได้อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่ผลการวิจัย สามารถลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้
“ไม่มีวัคซีนใดสมบูรณ์แบบ 100 % เป็นที่เข้าใจกันดีว่าไม่มีวัคซีนใดป้องกันติดเชื้อ ป้องกันการป่วยหนักและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100 % ก็พยายามหาวัคซีนจากหลายแห่ง เพื่อให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง”นพ.โอภาสกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อมีการปรับสูตรวัคซีนเป็นการฉีดสลับซิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าฯเข็มที่ 2 มีการประมาณการหรือไม่ว่าความต้องการวัคซีนแต่ละชนิดมีจำนวนเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการที่คำนวณไว้ แต่ละเดือนจะใช้ซิโนแวคประมาณ 4-5 ล้านโดส และแอสตร้าฯประมาณ 5-6 ล้านโดส น่าจะสอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่น่าจะหาได้
ถามถึงป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในภาพรวม นพ.โอภาส กล่าวว่า เป้าหมายยังเหมือนเดิมคือจัดหาให้ได้ 100 ล้านโดสและฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในธ.ค.2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้มากที่สุด แต่เนื่องจากมีผลกระทบเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 และการฉีดบูสเตอร์ อาจจะต้องทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะพยายามฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในธ.ค.2564
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีบางรพ.ยังมีการประกาศเลื่อนคิวฉีดวัคซีน นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการสอบทานโดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขไปทุกแห่งที่มีการเลื่อน ก็ได้ข้อความมาว่า ที่มีการเลื่อน เพราะยังไม่ค่อยแน่ใจจะต้องเปลี่ยนสูตรวัคซีนเป็นสูตรไหนหรือไม่ ทั้งที่มีวัคซีนในมือพร้อมจะฉีดแล้ว อย่างไรก็ตาม การประชุมกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันทื่ 15-16 ก.ค. 2564 ได้ย้ำสูตรฉีดหลักเป็นซิโนแวคและแอสตร้าฯ บางรายอาจจะฉีดเป็นแอสตร้าฯ 2 เข็มได้ ก็ขอให้เร่งรัดการฉีด โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ ผู้มี7 กลุ่มโรคและหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์เป็นลำดับแรก ได้ทำความเข้าใจแล้วและหน่วยงานจะเร่งฉีดต่อไป
“วัคซีนมาแบบบอกเวลาชัดๆไม่ได้ จะทยอยส่งไปให้เป็นรายสัปดาห์ ขอให้แต่ละจังหวัดวางแผนการฉีดให้ดีและการนัดหมายด้วย ถ้ามีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่รพ.ที่ลงทะเบียนไว้หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เพราะกรมควบคุมโรคจะกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดตามแผนการจัดสรรของศบค. ในจังหวัดจะมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาการจัดสรรในแต่ละจังหวัดเองได้ให้สอดคล้องกับการระบาดของโรค สำหนับสูตรการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มจะใช้ในผู้สูงอายุพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เพราะทฤษฎีเดิม พอฉีดแอสตร้าฯ 1 เข็ม ภายใน 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้น ทำให้ลดการเสียชีวิตและตายได้ ซึ่งขณะนี้กทม.ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คร.ได้ส่งวัคซีนลงไป 1 ล้านโดส โดยระบุว่า 5 แสนโดสให้ฉีดผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มอื่นๆจะใช้สูตรซิโนแวตและแอสตร้าฯได้”นพ.โอภาสกล่าว
กรณึการแลกเปลี่ยนวัคซีนกับประเทศต่างๆ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการเจรจากับต่างประเทศเพื่อขอแลกเปลี่ยนวัคซีนมาใช้ในประเทศไทยก่อนนั้น ที่ผ่านมาก็มีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทย และปลายเดือนนี้มีอีก 1 ประเทศ ที่ก่อนหน้านี้มีการเจรจาเพื่อขอแลกวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เขามีเหลือเนื่องจากจองไว้มาก และต่อมาเขามีการเปลี่ยนไปใช้วัคซีนชนิดอื่น ไทยจึงเจรจาขอแลกวัคซีนนั้นมาใช้ก่อน ล่าสุดประเทศนั้นก็จะเปลี่ยนมาเป็นการบริจาคให้แทน ดังนั้นขอชี้แจงว่าเรามีการเจรจาอยู่ตลอด แต่กรณีที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาไม่สำเร็จก็เลยยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนวัคซีนชนิดโปรตีน ซับยูนิต เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทั่วโลกมีอยู่ 3 ประเทศ ที่กำลังพัฒนา คือโนวาแวกซ์ สหรัฐอเมริกา บริษัทที่ประเทศจีน และที่ประเทศคิวบา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งการจัดซื้อวัคซีนมาใช้ในประเทศ และปกติในการเจรจาตรงนี้จะมีการเจาต่อในเรื่องของการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย