เปิดภารกิจ 'อาสาเส้นด้าย' 3เดือนช่วย 'ผู้ป่วยโควิด' 1.2หมื่นคน
สถานการณ์ 'โควิด-19' ผู้ป่วยรายใหม่ทะลุ 1.5 หมื่นราย วันที่ 25 ก.ค. เสียชีวิตกว่า 129 ราย อาสากลุ่ม 'เส้นด้าย' ซึ่งก่อตั้งในช่วงวิกฤตโควิด สะท้อนให้เห็นว่า มีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับการรักษา และบางรายเสียชีวิตที่บ้าน ข้างถนน
ภาพผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตตามท้องถนนในประเทศไทย ช่วงสองสามวันที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการระบาดที่เพิ่มมากผู้ป่วยไม่ได้เข้าระบบการรักษา หรือบางคนยังไม่ได้รับการตรวจ ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว โรงเรียนแพทย์บางแห่งออกกฏเกณฑ์การเลือกใส่ท่อช่วยหายใจคนไข้แล้ว มาตรการกักตัวที่บ้านและชุมชน (Home Isolation / Community Isolation) ถูกนำมาใช้เพื่อให้รพ. มีที่ว่างให้แก่ผู้ป่วยอาการหนัก
- จุดเริ่มต้นของ 'เส้นด้าย'
กลุ่มจิตอาสาภาคประชาชนหลายกลุ่มหันมาร่วมมือในการวิกฤติ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่ม “เส้นด้าย” (Zendai) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 27 เม.ย. 64 ได้รับแรงบันดาลใจในการจากไปด้วยโรคโควิด-19 ของ “อัพ” กุลทรัพย์ วัฒนผล อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต เมื่อ 24 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนสายอาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ศิลปิน นักธุรกิจ ข้าราชการเก่า อาสาสมัคร ราว 20 คนในช่วงนั้น
“เจตน์ - ภูวกร ศรีเนียน” หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม เล่าว่า หลังจากที่ไปร่วมงานศพ ได้เห็นว่าขนาดคนอย่าง "อัพ" ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ เห็นช่องโหว่และความสับสนมากมายในความพยายามเข้ารักษาในช่วง โควิด-19 กลายเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งกลุ่ม เพื่อไม่ให้มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย
- 3 เดือน กับภารกิจที่เปลี่ยนไป
จากเดิมภารกิจหลักของ “เส้นด้าย” คือ การรับส่งต่อเคสผู้ป่วยติดโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องบางรายเป็นกลุ่มที่ไม่มีรถ หรือญาติพี่น้องไม่กล้าพาไป แต่วันนี้ดูเหมือนว่าภารกิจของทีมกลับมากขึ้นและทำให้พบเห็นปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้พรม ภาพผู้ป่วยรอเตียง และเสียชีวิตในทุกๆ วัน สะท้อนความล่าช้าและไม่เพียงพอของระบบสาธารณสุข ผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจแม้จะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อจนกระทั่งเสียชีวิต
“ภูวกร” สะท้อนภาพที่เห็นในฐานะคนทำงานว่า สถานการณ์ในวันที่ตั้งกลุ่มเมื่อปลายเดือนเมษายนกับวันนี้เปลี่ยนไปมาก ตอนนั้นเตียงยังไม่เต็มยังไม่ล้น แค่การประสานงานแต่ละส่วนไม่ลงล็อกกัน จึงไม่มีการถ่ายเทผู้ป่วยไปยังที่พักรักษาได้ แต่ในตอนนี้ สถานการณ์เตียงล้นระบบ ทำให้ภารกิจในวันนี้เยอะขึ้นจนเราเองก็งง
“ในช่วงแรก ตั้งใจทำหน้าที่เป็นอาสา พาคนไปตรวจหาเชื้อ แต่ในภายหลัง ต้องกลายเป็นผู้เจรจา หาที่พัก หาที่รักษา ดูแลหมาแมวที่ถูกทิ้งเอาไว้ เป็นปากเสียงให้เรื่องต่างๆ หรือแม้กระทั่งอาจจะต้องทำคดีให้กับผู้ป่วยที่ถูกสถานพยาบาลบางแห่งลิดรอนสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร เป็นปากเสียงให้บางชุมชนจากการเข้าไม่ถึงการดูแลจากภาครัฐ”
“เราอยากทำเพื่อเป็นตัวอย่างให้รัฐดูว่า ขนาดเรามีกันแค่นี้ ไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีเงินมากมายยังทำได้ แต่หากมีอำนาจ และมีเงินแบบรัฐ น่าจะทำได้มากกว่าเรามหาศาล ขอให้เพียงแค่ใส่ใจทำ อย่างที่พวกเราทำ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Home Isolation ยังไม่พร้อม
ขณะเดียวกัน มาตรการกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ที่ประกาศให้เริ่มดำเนินการมาหลายวัน ซึ่งดูจะยังไม่ง่าย ภูวกร อธิบายว่า อันดับแรก คือ ดอกไม้บานไม่พร้อมกัน บาง รพ. เปิดให้ทำแล้ว แต่บาง รพ. ยังไม่เปิด และเทเลเมดิซีน ยังไม่พร้อมในหลายที่ บางแห่งยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ในระดับปฏิบัติการยังไม่พร้อม แม้ในกระบวนการ Home Isolation ผู้ป่วยที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ในตอนนี้ก็ยังส่งต่อไม่ได้
“สำหรับผู้ป่วยเปราะบางลำบากมาก เช่น ผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว ยิ่งผู้ป่วยติดเตียง และยิ่งติดเชื้อในตอนนี้ โอกาสเข้าสู่ระบบต่างๆ ยาก แทบจะต้องพึ่งโชคชะตาแล้วว่าจะได้อยู่ต่อหรือไม่ ส่วนใหญ่ที่ลงพื้นที่เจอทุกกลุ่ม เช่น การลงพื้นที่ล่าสุด ไม่น่าเชื่อว่าคนที่เสียชีวิตจะอายุเพียง 40 ปี โรคประจำตัวไม่มาก แต่ที่เจอบ่อย คือ ผู้สูงอายุติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไปหาเพราะถือว่าน่าห่วงที่สุด ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตบนท้องถนน ก็พบว่า มีหลายเคสทั้งคนเร่ร่อนและมีบ้าน รวมถึง ที่ผ่านมา มีเคสคนเร่ร่อนที่มาขอความช่วยเหลือเช่นกัน โดยเดินมานั่งที่จุดรับของของเส้นด้าย เราได้ทำการส่งตัวไปตรวจและพบเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19”
- ขอความช่วยเหลือ 1.2 หมื่นรายใน 3 เดือน
ในหนึ่งวัน หากนับคนที่แจ้งเข้ามาและนำชื่อกับผลตรวจลงระบบเพื่อเข้าสู่การสรรหาสถานพยาบาล มีจำนวนมากถึง 1,000 รายต่อวัน รวมถึงช่วยให้คำแนะนำต่างๆ หลายร้อยสาย เพราะโทรศัพท์ที่เข้ามาในแต่ละวันจำนวนเยอะมาก ขณะที่คนรับสายมีเพียง 5-7 คน ซึ่งไม่ทัน ดังนั้น สิ่งที่ทางเส้นด้ายยังคงต้องการขณะนี้ คือ ผู้ที่จะมารับโทรศัพท์เพิ่มอีก 10 คน รวมเป็น 17 คน เพื่อให้สามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ทันต่อความช่วยเหลือ ปัจจุบัน เส้นด้าย มีกลุ่มที่ทำงาน และอาสาสมัครในส่วนอื่นๆ ทั้งหมดราว 100 คน
จากการทำงานมากว่า 3 เดือน ขณะนี้ “เส้นด้าย” มีผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือทั้งหมดราว 12,000 กว่าคน รวมทั้งผู้ที่โทรมาปรึกษาเพื่อหาช่องทางการรักษาอินบ็อกเข้ามาสอบถาม ส่งเข้าสถานพยาบาลสำเร็จผ่านเส้นด้ายประมาณ 1,900 กว่าคน พากลุ่มเสี่ยงไปตรวจ 2,800 กว่าคน ตอนนี้มีรถใช้รับส่งผู้ป่วย 5 คัน และมีรถในเครือข่ายที่สามารถประสานได้อีกราว 20 คัน
- รถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ ตั้งจุดตรวจปอด
ขณะที่ตอนนี้ภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนเยอะมาก ล่าสุด ทางกลุ่มได้เตรียมรถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ นำกลุ่มที่มีผลเป็นบวกจากการตรวจ Antigen Test Kit ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าถึงการตรวจ RT-PCR มาเอ็กซเรย์ปอดให้ หรือแม้แต่คนที่ตรวจ RT-PCR และยังไม่ได้รับการรักษา ทางกลุ่มจะทำการตรวจปอดให้ว่าเชื้อลงปอดหรือยัง โดยเริ่มต้นจอดที่แรกที่วัดสามพระยา
“และเร็วๆ นี้จะมีโปรเจคสำคัญ ซึ่งมีแพทย์อาสา รวมถึงหลายภาคส่วน ทำโมเดลต้นแบบ “ศูนย์พักคอยฉุกเฉิน” เพื่อไม่ให้มีคนตายข้างถนนอีก อาจจะไม่สามารถรองรับได้เยอะ แต่ก็ดีกว่าไม่มี แม้จะไม่การันตีว่าทุกคนที่เดินเข้ามาจะรอดชีวิตได้ แต่ก็ให้มีโอกาสยืดอายุออกไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง หากไม่มีตรงนี้เขาก็นอนตายข้างถนน และที่บ้านอย่างที่เราเห็นกัน”
ทั้งนี้ ในฐานะคนทำงาน ที่ได้เห็นภาพสะท้อนในหลายมุมของปัญหา “ภูวกร” กล่าวว่า อยากฝากถึงคนที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ขอให้นึกถึงการช่วยเหลือคนเป็นหลัก จะไม่พูดย้อนกลับไปถึงว่าทำไมวัคซีนมาช้า ทำไมวัคซีนไม่มีทางเลือกให้ประชาชน ทำไมไม่มีงบประมาณในการสร้างเตียงสนามให้มากกว่านี้สัก 5 เท่า ก่อนหน้านี้ 3 เดือน เราจะไม่พูดถึงสิ่งนั้นแล้ว เราจะขีดเส้นใต้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เพียงแค่คนที่มีอำนาจ งบประมาณ ตั้งใจจริงในการช่วยเหลือประชาชน และใส่ใจเป็นหลักก่อน
หากพูดถึงประชาชนด้วยกันเอง ก็ขอให้มีความเข้าใจ ระมัดระวัง ป้องกันตัว และเห็นใจซึ่งกันและกัน เห็นแก่ความเป็นเพื่อนมนุษย์ อย่ามองผู้ติดเชื้อเป็นเชื้อโรค มีคนมากมายที่โทรมาขอความช่วยเหลือเพราะชาวบ้านให้ออกจากคอนโด หรือแม้กระทั่งโทรขอให้ช่วยเร่งหาเตียงเพราะชาวบ้านไล่ทั้งๆ ที่เป็นผู้ป่วยอาการไม่หนัก หรือแม้แต่ตัวผู้ป่วย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ถือเป็นช่วงวัดใจในยามยาก ดังนั้น คนในสังคมก็มีส่วนสำคัญในการช่วยกันให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้
“แม้กลุ่มเส้นด้าย จะก่อตั้งขึ้นมาในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 แต่หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมดจบลง กลุ่มเส้นด้ายจะยังอยู่ต่อ และยืนยันในหลักการ คือ เราจะเป็น “เส้น” สำหรับคนที่ “ไม่มีเส้น” สังคมยังคงมีเส้นสาย ความเหลื่อมล้ำ คนที่ได้เปรียบกันอยู่ เราจะขอเป็นเส้นของคนไม่มีเส้นในประเด็นอื่นๆ ต่อไป” ภวกร กล่าวทิ้งท้าย
ภาพประกอบข่าว : เส้นด้าย (Zendai)