'หมอนิธิ' เผยไทม์ไลน์วัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' 10 ล้านโดสนำเข้าไทย

'หมอนิธิ' เผยไทม์ไลน์วัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' 10 ล้านโดสนำเข้าไทย

"หมอนิธิ" เผยไทม์ไลน์วัคซีน "ซิโนฟาร์ม" 10 ล้านโดสนำเข้าไทย และแผนการจัดสรร-กระจาย "วัคซีนซิโนฟาร์ม" ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมเปิดลงทะเบียนจองวัคซีนสำหรับบุคคลธรรมดา รอบ 2 และเปิดลงทะเบียนขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับองค์กรนิติบุคคล ระยะ 2

เมื่อวันที่ 1 ..64 นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda ะบุว่า เปิดไทม์ไลน์ “วัคซีนซิโนฟาร์ม” 10 ล้านโดสนำเข้าไทย และแผนการจัดสรรและกระจายวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

1 สิงหาคม 2564: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สรุปแผนการจัดสรรและกระจาย "วัคซีนซิโนฟาร์ม" ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2564 พร้อมเปิดไทม์ไลน์วัคซีนซิโนฟาร์ม 10 ล้านโดสให้ประชาชนคนไทย ภายหลังจากวัคซีนซิโนฟาร์ม (SINOPHARM) ล็อตที่ 5 จำนวน 1 ล้านโดสเดินทางมาถึงประเทศไทยวันนี้ (1 สิงหาคม 2564)

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หนึ่งใน 5 หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยในการดำเนินการประสานติดต่อและนำเข้าวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและในการขออนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 5 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564

ทางราชวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเพื่อให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สามารถกระจายวัคซีนช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ วัคซีนจากบริษัทซิโนฟาร์มที่ใช้ในประเทศไทยผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ติดต่อนำเข้ามา จำนวน 10 ล้านโดส ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2564 โดยมีกำหนดถึงประเทศไทย ดังนี้

ไทม์ไลน์วัคซีนซิโนฟาร์ม 10 ล้านโดส

• 20 มิถุนายน 2564 จำนวน 1 ล้านโดส

• 4 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1 ล้านโดส

• 18 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1 ล้านโดส

• 25 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1 ล้านโดส

• 1 สิงหาคม 2564 จำนวน 1 ล้านโดส

• 15 สิงหาคม 2564 จำนวน 1 ล้านโดส

• 22 สิงหาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโดส

• 29 สิงหาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโดส

แผนการจัดสรร และกระจายวัคซีน "ซิโนฟาร์ม"

โดยพิจารณาทยอยจัดสรรตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนตามประเภทการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ระดับความเสี่ยงของโอกาสในการแพร่เชื้อให้กับสังคม และระดับความเสี่ยงบนพื้นที่ของทำเลที่ตั้งสถานประกอบการและที่พักอาศัย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1) กลุ่มองค์กรนิติบุคคล เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จัดสรรไปแล้วให้กับประชากร จำนวน 2.26 ล้านคน ประมาณ 4.5 ล้านโดส เริ่มกระจายฉีดตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2564

สำหรับภาคองค์กรนิติบุคคลที่ยื่นความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มบุคคลต่างๆ ให้ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งองค์กรเป็นผู้สนับสนุนค่าวัคซีนให้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ประกาศจัดสรรให้กับองค์กรนิติบุคคลที่ยื่นขอรับการจัดสรรในระยะที่ 1 เข้ามาทั้งหมดแล้ว โดยทยอยจัดสรรไปทั้งหมด 5 ครั้ง รวมประชากรที่ได้รับจัดสรรวัคซีนไปทั้งหมด จำนวน 2,264,957 คน = 4,529,914 โดส และเริ่มกระจายฉีดในกลุ่มองค์กรนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดการจัดสรร ดังนี้

• ครั้งที่ 1 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 จำนวน 476,682 คน

• ครั้งที่ 2 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 จำนวน 302,618 คน

• ครั้งที่ 3 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จำนวน 338,419 คน

• ครั้งที่ 4 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 จำนวน 993,330 คน

• ครั้งที่ 5 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 จำนวน 153,908 คน

2) กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เดือนกรกฎาคมได้จัดสรรไปแล้วให้กับประชากร จำนวน 1.9 ล้านคน ประมาณ 3.9 ล้านโดส เริ่มกระจายฉีดตั้งแต่ 28 กรกฎาคม 2564

สำหรับภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการ ที่ยื่นความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรในพื้นที่ให้ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่ง อปท.เป็นผู้สนับสนุนค่าวัคซีนให้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทยอยประกาศจัดสรรไปแล้ว จำนวน 4 ครั้ง รวมประชากรที่ได้รับจัดสรรวัคซีนทั้งหมด จำนวน 1,965,944 คน = 3,931,888 โดส และเริ่มกระจายฉีดประชาชนในกลุ่ม อปท. ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดการจัดสรร ดังนี้

• ครั้งที่ 1 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 จำนวน 392,789 คน

• ครั้งที่ 2 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 จำนวน 148,082 คน

• ครั้งที่ 3 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 จำนวน 145,772 คน

• ครั้งที่ 4 ประกาศจัดสรรเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1,279,301 คน

3) กลุ่มบุคคลธรรมดา เดือนกรกฎาคมได้ลงทะเบียนเปิดจองและจัดสรรไปแล้ว 1 ครั้ง จำนวน 57,034 คน = 114,068 โดส เริ่มกระจายฉีดในกลุ่มบุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564

4) กลุ่มประชาชนเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 351,047 โดส = 175,523 คน

สำหรับวัคซีนที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดสรรให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ส่วนหนึ่งมาจากองค์กรที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มระยะที่ 1 ร่วมช่วยเหลือสังคมจัดสรรวัคซีนบริจาคให้อย่างน้อย 10% ของจำนวนวัคซีนซิโนฟาร์มที่ได้รับการจัดสรร และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมสมทบ “ครึ่งโดส” ต่อ 1 สิทธิ์การจองวัคซีนซิโนฟาร์มในรอบบุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายสำหรับผู้ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มบริจาคไว้ 5 กลุ่ม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ได้แก่

• ผู้พิการ

• ผู้ด้อยโอกาส/ชุมชนแออัด

• ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง/ผู้ป่วยเรื้อรัง

• พระ/นักบวช

• กลุ่มอาชีพต่างๆที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบนัดของวัคซีนหลักได้และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ

ทั้งนี้ โดยสรุป ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดสรรและกระจายวัคซีนซิโนฟาร์มให้กลุ่มต่างๆไปแล้ว จำนวน 8.9 ล้านโดส ยังมีโควต้าวัคซีนซิโนฟาร์มที่รอการจัดสรรอีกจำนวนประมาณ 1.1 ล้านโดส โดยในเดือนสิงหาคมนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเปิดลงทะเบียนจองวัคซีนสำหรับบุคคลธรรมดาในรอบที่ 2 และเปิดลงทะเบียนการขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับองค์กรนิติบุคคล ระยะที่ 2 โดยมีข้อกำหนดให้สำหรับองค์กรที่มีการยื่นขอรับจัดสรรให้กับพนักงานตั้งแต่ 100-2,000 คน เพื่อทยอยกระจายวัคซีนที่มีในโควต้าให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความต้องการเข้าถึงวัคซีนอย่างเร่งด่วนต่อไป พร้อมทั้งเตรียมแผนขยายอายุการให้วัคซีนซิโนฟาร์มในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 3-17 ปี หลังจากรัฐบาลจีนได้อนุมัติรับรองการใช้วัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อการใช้แบบฉุกเฉินในกลุ่มคนอายุ 3-17 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นจนกว่าวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกในประเทศไทย จะมีเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทในการนำเข้าและจัดสรรปริมาณวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มนี้ลง

ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564

นิธิ มหานนท์ 

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์