ข้อควรระวังการใช้ 'Antigen test kit' รู้ผลเร็ว เข้ารับการรักษาทันที
'Antigen test kit' เป็นชุดตรวจโควิด-19 ที่ประชาชนสามารถใช้ตรวจเองที่บ้าน ซึ่งวิธีการใช้งาน รวมถึงข้อระวังต่างๆ เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้ทราบผลการตรวจที่ถูกต้อง แม่นยำ
หลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อและใช้ชุดตรวจโควิด-19 'Antigen test kit' มาใช้เองได้ที่บ้าน ทำให้ใครหลายคนๆ อาจจะคุ้นเคยกับการตรวจแล้ว เพราะด้วยความกังวลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่รุนแรงมากขึ้น นับวันผู้ติดเชื้อรายใหม่จะมีจำนวนมากกว่า 20,000 ราย ใครที่เสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็อาจจะอยากตรวจ
นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสำหรับเรื่องการตรวจโควิด -19 ซึ่งตอนนี้เชื่อว่ามีหลายคนได้ใช้ชุดตรวจ 'Antigen test kit' แล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน
สำหรับการตรวจหาตัวเชื้อโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ จะมี 2 รูปแบบ คือ วิธีมาตรฐานที่มีการใช้บ่อยๆ RT-PCR หรือการตรวจสารพันธุ์กรรมโดยเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก เหมือน Antigen test kit เมื่อได้ตัวอย่างมาแล้วจะนำเข้ามาในหลอดทดลอง ซึ่งในหลอดทดลองจะเพิ่มสารพันธุ์กรรมที่เป็นตัวเชื้อจำนวนมาก เพิ่มจำนวนมากจาก 1 ตัวเชื้อ เป็นล้านๆ ตัวเชื้อทำให้ตรวจเจอได้ง่าย
ส่วนอีกวิธี คือ Antigen test kit เป็นชุดตรวจโควิด-19 อย่างง่าย สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องอะไรมาก มีตลับที่ใช้ทดสอบ และหยดน้ำยา เอาไม้swab โพรงจมูก เพื่อเอาเชื้อในโพรงจมูก มาละลายในน้ำยา และตัวเชื้อจะอยู่ในน้ำยา ต่อมาหยดสารระลาย ก็จะสามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า และทราบผลใน 15-30 นาที และถ้ามีเชื้อโควิด -19 จำนวนมาก จะตรวจเจอได้ง่าย ซึ่งโควิด-19 เป็นการตรวจโปรตีนของเชื้อ ซึ่งเมื่อละลายจะมีชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนที่ชุดตรวจโควิด-19 ออกแบบมาให้จับได้
- เช็ควิธีการตรวจโควิด-19 'Antigen test kit' ที่ถูกต้อง
สำหรับการเก็บตัวอย่างเชื้อในโพรงจมูกนั้น มีวิธีดังนี้
หากเก็บจากจมูกก็ให้แหย่จมูกทั้งสองข้าง ให้ถึงผนังจมูก
หมุนวนเพื่อให้ได้สารคัดหลั่งพอสมควรติดสำลี
เอามาจุ่มในหลอดที่มีน้ำยา
หมุนวนเพื่อให้สารคัดหลังผสมน้ำยา
ปิดจุกและหยอดในตลับที่วางบนพื้นที่สะอาด
รอดูผล 15-30 นาที
นพ.อาชวินทร์ กล่าวต่อว่าชุดตรวจ Antigen test kit ถ้าตีความจากบริษัทผู้ผลิตจะมี 2 แบบ คือ 1.แบบอ่านผลด้วยตาเปล่า จะดูว่าขึ้นขีดหรือไม่ขึ้นขีด 2.แบบที่ต้องใช้สารเรืองแสงเคลือบ ซึ่งต้องอ่านด้วยเครื่อง ก็จะลดการอคติในการอ่านได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีการใช้ ชุดตรวจ Antigen test kit ขอให้ยึดตามหลักของเอกสารกำกับชุดตรวจที่จะมาพร้อมกับกล่องชุดตรวจอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนอ่านทำความเข้าใจให้ชัดเจน
- 2 กลุ่มที่ควรจะตรวจโควิด-19 'Antigen test kit'
สำหรับบุคคลที่ต้อง ตรวจโควิด-19 โดยใช้ Antigen test kit นั้น จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กรณีที่ 1 ผู้ที่อาการคล้ายๆ ไข้หวัดหรือระบบทางเดินหายใจ เช่นมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีไอ จาม น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น เพราะเราไม่สามารถบอกได้การไปสัมผัสไม่ว่าจะคนในบ้าน หรือนอกบ้าน คนไหนมีความเสี่ยง ถือว่ามีความเสี่ยง ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ต้องตรวจทันที
กลุ่มที่ 2 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยง คือมีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด -19 โดยสมมติเราไปเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อวันนี้ ไม่ใช้ว่าเราจะตรวจโควิด-19 ผ่าน Antigen test kit ภายในวันพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ได้ เพราะเชื้อมีระยะเวลาฟักตัว อย่างน้อยต้องปล่อยให้ระยะเวลา 3-5 วันถึงจะตรวจโควิด -19ผ่าน Antigen test kit ได้ ซึ่งในช่วง 2-3 วันแรก ไม่มีเทคนิคไหนที่จะตรวจเจอ ต้องเป็นช่วงที่มีระยะฟักตัวไปแล้ว หลังจากมีการสัมผัสไปประมาณ 3-5 วันไปแล้ว ช่วงที่จะตรวจ Antigen test kitได้เจอ ส่วนใหญ่จะหลังจากมีอาการไปแล้ว 1 สัปดาห์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ใช้ 'Antigen Test Kit'ในกทม.เจอผลบวกผิดราว 3 %
- ข้อควรระวังในการใช้ 'Antigen test kit'
นพ.อาชวินทร์ กล่าวต่อไปว่า การเก็บตัวอย่างผ่านการตรวจโควิด -19 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด จะมี 2 แบบ คือ แบบสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้ ซึ่งไม้swab จะเก็บลึกไปยังหลังโพรงจมูก 8-12 เซนติเมตร โดยตำแหน่งหลังโพรงจมูกจะมีเชื้อจำนวนมาก เพราะมีพื้นที่ให้เชื้อได้อยู่
ส่วนแบบสำหรับประชาชนใช้ หรือ Home use แบบนี้จะมีมาตรฐานสามารถใช้ได้โพรงจมูก
-จะแยงไปลึกประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ได้ ซึ่งโพรงจมูกนี้คือด้านข้าง
-น่าเป็นห่วงประชาชนบางท่านที่แยงไปตรงๆ และมองว่าต้องแยงให้ลึกที่สุด ปรากฏว่าจะแยงไปถึงเบ้าตา ไม่ได้เป็นวิธีการเก็บตัวเชื้อที่ดี
-การเก็บตัวเชื้อที่ดี คือ แยงเข้าไปตรงกลาง แต่ให้ไปทางโพรงจมูกด้านข้าง ซึ่งไม้ swab จะโค้งตามจมูกของเราได้ และไม่เจ็บมากแต่ก็จะมีความแสบหรือบางคนจะน้ำตาไหลเมื่อแหย่เข้าไป
-ไม้ swab จะมีสัญลักษณ์ว่าจะต้องแหย่ไปถึงขนาดไหน และควรปฎิบัติตามนั้น
-สำหรับการแปลผล ต้องมีตัว C ขึ้นเสมอ ถ้าตัว C ไม่ขึ้น แสดงว่าชุดตรวจนี้ไม่สามารถใช้งานได้
-สำหรับผลบวกปลอม คือ ตามหลักผลบวก แปลว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่จะมีจำนวนเล็กน้อยที่เป็นบวก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ติดเชื้อ เกิดขึ้นได้จากข้อจำกัดของเทส เช่น การปนเปื้อน หรือไวรัสตัวอื่น ที่เทสแยกไม่ออก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลเป็นบวก ขอให้แจ้งศูนย์บริการ คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือ รพ. เอาผลที่ว่าไปให้ดู จะมีการประเมินสีเขียว เหลือง แดง ในการดำเนินการ หรือมีการตรวจยืนยัน RT-PCR ซ้ำ หรือไม่อย่างไร
-ส่วนผลเป็นลบ ซึ่งแปลได้สองกรณี คือ ไม่ติดเชื้อ และ อาจจะเกิดผลลบลวง คือ ติดเชื้อแต่เชื้อจำนวนน้อย เทสไม่ไวพอที่ทำให้ผลเป็นบวก วิธีคือ ต้องเคร่งครัดในการกักตัวในกรณีเสี่ยงสูง อย่าสรุปว่าไม่ติดเชื้อและไปแพร่เชื้อ และอีก 2-3 วันอาจจะตรวจซ้ำได้อีก หากเชื้อมากขึ้นอาจตรวจเจอในภายหลัง ทั้งนี้ การตรวจ Antigen Test Kit ควรตรวจหลังคาดว่าจนสัมผัสกลุ่มเสี่ยง 5 วัน ก่อนหน้านั้นอาจจะต้องกักตัวอย่างเคร่งครัด หากตรวจเร็วเกินไป ตรวจได้แต่โอกาสเจอมีไม่มาก
- สิ่งที่ควรปฎิบัติในการใช้ 'Antigen Test Kit'
-การเก็บตัวอย่างมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้ได้ตัวอย่างที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้องได้ และมีผลต่อการอ่านตัวเชื้อ
-ควรหาซื้อชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนของอย.
-สามารถไปเช็คได้ที่เว็บไซต์ กรมควบคุมเครื่องมือแพทย์ จะหารายชื่อของบริษัทที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว
-การแปลผลต้องดำเนินการตามวิธีของเอกสารอ้างอิง ที่บริษัทกำหนด
-ถ้าตรวจครั้งแรกผลเป็นลบ ต้องเว้น 3-5 วัน และตรวจซ้ำ ก็จะทราบผลที่ชัดเจนขึ้น
-เมื่อตรวจพบติดเชื้อโควิด -19 อย่าตื่นตระหนก ติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้าน หรือโทร.สปสช.1330 จะได้รับการรักษาทันที
-เมื่อเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องตระหนักว่าตัวเองสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
-ต้องแจ้งกับหน่วยบริการใกล้บ้าน ถ้าเป็นในเขตกทม.จะมีสำนักบริการทางการแพทย์ และมีคลินิกอบอุ่น เพื่อดำเนินการเข้าสู่กระบวนการรักษา