อภ.แจงจัดซื้อ 'ATK' ไม่ยอมให้กำหนด 'สเปคโดยอ้อม' เอื้อรายใดรายหนึ่ง
อภ.เผยเปิดประมูลจัดซื้อชุดตรวจATK 8.5 ล้านชุด ยึดความโปร่งใส ระบุกรณีจัดซื้อเฉพาะเจาะจงทำได้กรณีระบุชื่อบริษัทมาชัดเจนด้วยเหตุผลจำเป็น ลั่นไม่ยอมให้มีการ’ล็อคสเปคโดยอ้อม’เอื้อรายใดรายหนึ่ง เร่งตรวจสอบความถูกต้องโดยด่วนที่สุดก่อนเสนอบอร์ดหลังสั่งชะลอ
จากกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบท โดยนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ออกแถลงการณ์ เรื่อง “องค์การเภสัชกรรมต้องจัดหา ATK ที่มีคุณภาพมาตรฐานองค์การอนามัยโลก” สาระสำคัญระบุว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบและสั่งการให้องค์การเภสัชกรรมยุติการลงนามในสัญญาการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น ให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกำหนดมาตรฐานชุดตรวจ ATK ที่จะขายในประเทศไทยให้ต้องมีคุณภาพสูงระดับที่องค์การอนามัยโลกรับรอง และระบุด้วยว่า ยี่ห้อ LEPU ที่ชนะการประมูลนั้นถูกเรียกเก็บสินค้าออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกานั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ในการแถลงข่าวร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ประเด็น “มาตรฐานการพิจารณาอนุญาตชุดตรวจ ATK และการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” โดยนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) กล่าวว่า การจัดซื้อชุดตรวจ ATK อภ.ได้รับมอบหมายจากรพ.ราชวิถีให้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างเร่งด่วน
โดยอภ.ได้ประสานงานกับรพ.ราชวิถี และสปสชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดหามีความโปร่งใส เกิดการแข่งขัน สอดคล้องกับนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เน้นย้ำชัดเจนว่าในเรื่องกรณีของATKนั้น เนื่องมีผู้ขึ้นทะเบียนกับอย.จำนวนมาก จึงไม่ควรจะเฉพาะเจาะจงรายใดรายหนึ่ง ต้องให้เกิดการแข่งขันซึ่งอภ.ได้ดำเนินการตามนโยบาย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่และแข่งขัน ตามหลักการดำเนินธุรกิจของอภ.ที่ยึดถือมาตลอดคือทำธุรกิจบนความถูกต้อง เหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อสังคม
นพ.วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า อภ.จึงได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ในการเสนอราคานั้น อภ.ได้มีผู้จัดจำหน่ายจำนวน 19 บริษัท จากหนังสือเชิญทั้งหมด 24 บริษัท มีการตรวจสอบคุณภาพ พบว่ามีผู้สามารถเปิดซองแข่งขันได้ 16 บริษัทนับว่ามีการแข่งขันโดยสมบูรณ์ และมีการเปิดซองต่อผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด มีการบันทึกวิดิทรรศน์ไว้ทั้งหมดตั้งแต่การยื่นซองจนเปิดซอง
เพราะฉะนั้นก็ได้ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ SARS-Cov-2 Antigen Rapid Teast Kit โดยบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติพื้นฐานเป็นไปตามข้อกำหนดทื่ระบุว่าทุกอย่างและเป็นผู้เสนอราคาในวงเงินที่ต่ำกว่าวงเงินที่สปสช.ตั้งไว้ อภ.ประหยัดงบประมาณได้ถึง 400 ล้านบาท ทำให้ชุดตรวจนี้เหลือราคา 70 บาทต่อชุดรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ อย.ได้ให้ข้อมูลเชิงคุณภาพแล้ว และบริษัททนี้เป็นการผลิตโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ชื่อ Beijing Lepu Medical Technology ซึ่งดูแลข้อมูลการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์รายใหญ่รายหนึ่งของโลกและได้รับมาตรฐานCEที่เป็นมาตรฐานยุโรป และได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เช่น เยอรมัน สวีเดน เบลเยียม เนเธอร์แลนดื โปแลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี และฮ่องกง เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า อภ.ได้รับการสเปคการจัดซื้อจากรพ.ราชวิถีและสปสช.หรือไม่ เป็นอย่างไร นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผอ.อภ. กล่าวว่า ทางรพ.ราชวิถีได้ส่งสเปคมาให้อภ.เมื่อวันที่ 1 ส.ค 2564 ซึ่งเป็นสเปคล่าสุดที่อภ.ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง และอภ.ได้นำเสปคนี้เข้ามาพิจารณา แต่ก็มีการปรับบ้าง เช่น ในเรื่องกำหนดส่งมอบ และได้ดำเนินการสอบถามกลับไปเนื่องจากเป็นสเปคตอนที่กำหนดให้เป็นการกำหนดส่งมอบที่กระชั้นชิด ได้มีการสอบถามกลับและตรงนี้ได้มีการปรับ และจากนั้นได้นำขึ้นประกาศให้บริษัทที่เชิญไป 24แห่งได้รับทราบสเปคในวันที่ 3 ส.ค. 2564
จากนั้นมีบริษัทสอบถามกลับเข้ามา เพราะมีข้อโต้งแย้งในเรื่องสเปคบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อแรก ซึ่งตอนแรกเลยกำหนดให้เป็น Nasal Swab หรือ Nasopharyngeal Swabได้ แต่เมื่อมีบริษัทเข้ามาสอบถามและคัดค้านสเปคตรงนี้ จึงได้มีการสอบถามกลับไปรพ.ราชวิถีและสปสช. ในที่สุดตรงนี้ก็จะตัดคำว่า Nasopharyngeal Swabออก ใช้ Nasal Swabอย่างเดียว รวมถึง ในสเปคตอนแรกมีการกำหนดค่าความจำเพาะ 97 % เมื่อมีการส่งไปทบทวนพิจารณาแล้วก็ได้ปรับมาเป็นตามมาตรฐานอย.คือ 98 % สรุปว่าสเปคก็ได้จากรพ.ราชวิถีและสปสช.
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมาในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพสปสช. ออกมาระบุว่า การจัดซื้อชุดตรวจATKนี้เป็นการซื้อแบบเร่งด่วนฉุกเฉินใช้ในภาวะวิกฤต เพราะฉะนั้นจึงมีการส่งเอกสารยืนยันว่าขอให้อภ.จัดซื้อแบบเจาะจง แต่อภ.มีการขอที่จะใช้วิธีการประมูล นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ระเบียบของอภ.มีระเบียบพัสดุของอภ. ข้อ 13 (4) ถ้าผู้ซื้อมีความต้องการ อภ.สามารถซื้อเฉพาะเจาะจงให้ได้ แต่ที่ผ่านมาสเปคของสปสช.ที่บอกว่าระบุชื่อบริษัท ระบุสเปคมาไม่เป็นความจริง มีการระบุสเปคทางอ้อมมาเพื่อให้มีการล็อคสเปค ซึ่งอภ.ไม่ยอมและมีการโต้แย้งไปเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
“ขอยืนยันอย่างชัดเจนว่าถ้ามีการระบุมาเลยว่าต้องการให้ซื้อบริษัท 1,2,3,4 อันนี้เท่านั้นด้วยเหตุผลความจำเป็น อภ.สามารถมีระเบียบในการซื้อได้ แต่เนื่องจากเป็นการระบุสเปคโดยอ้อมแล้วจะให้อภ.ไปซื้อเฉพาะเจาะจงมันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการประกาศและประกวดราคา ประกอบกับนโยบายรองนายกฯประกาศชัดเจนว่าให้เกิดการแข่งขัน เพราะฉะนั้น อภ.ได้ยืดถือความถูกต้องมาก่อนเสมอ เมื่อไม่มีการะบุให้ชัดแจนก็ต้องให้มีการแข่งขันโดยสมบูรณ์ ซึ่งก็ได้เห็นแล้วว่ามันเกิดการแข่งขันโดยกลไกของตลาดที่ได้ราคาที่ถูกต้อง อภ.มีหลักฐานชัดเจนพร้อมที่จะชี้แจงอธิบาย” นพ.วิฑูรย์กล่าว
ถามต่อว่า มีการพูดออกอากาศทางโทรทัศน์ว่า อภ.โกหก นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า มีการอธิบายไปชัดแล้ว จะมีการส่งมอบหลักฐานให้ จะไม่ให้เกิดการล็อคสเปคเพื่อเอื้อให้รายใดรายหนึ่งเท่านั้น เป็นนโยบายชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงว่าเมื่อมีการทักท้วงจะมีการล้มประมูลเลยหรือไม่ นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า กระบวนการถูกต้องที่ได้กระทำลงไปเป็นไปตามขั้นตอน ที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ได้มีการทักท้วงก็มีการชะลอเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ถ้าถูกต้องเหมาะสมก็เดินหน้าต่อ เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อภ.ทำตามกระบวนการและสิ่งที่ได้มาไม่ใช่ไม่มีคุณภาพ
“เมื่อมีการชะลอและตรวจสอบแล้วก็จะรายงานต่อประธานบอร์ดและบอร์ดอภ. โดยด่วนที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยืนยันความถูกต้องและเดินหน้าต่อ คิดว่าไม่นานเพราะเป็นภาวะเร่งด่วน”นพ.วิฑูรย์ กล่าว