'หมอยง'ย้ำฉีดวัคซีนสลับ 'แอนติบอดีสูงถึง 100 เท่า
เชิดชู 'หมอยง' นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ เผยไทยสู่กับโควิด-19มา 1 ปีครึ่ง จะทำให้อยู่ได้อย่างปกติต้องมีวัคซีนที่ดี ระบุฉีดวัคซีนสลับ กระตุ้น'แอนติบอดี้'ได้สูง 100 เท่า ขณะที่วัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นแอนติบอดีสูงกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย 17 เท่า
วันนี้ (25 ส.ค.2564)กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดประชุมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิถีใหม่เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจไทย พร้อมมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.ศ.2564 ให้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เชิดชูนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ
โดย รางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2564 จะคัดเลือกบุคคลซึ่งเป็นผู้สร้างหรือริเริ่มงาน และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอันเป็นที่ประจักษ์ เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง เป็นผู้อุทิศตนในการศึกษาวิจัยด้านไวรัสวิทยาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี โดยมีผลงานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำไปสู่การดูแล รักษาและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขจำนวนมาก ผลงานเด่นๆ อาทิ เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยทางด้านไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ทำการศึกษาตั้งแต่อณูชีววิทยาไวรัสตับอักเสบ ระบาดวิทยา อาการทางคลินิก การรักษา และป้องกันด้วยวัคซีน เป็นรากฐานของการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ทำให้อุบัติการณ์ของไวรัสตับอักเสบบีลดลงอย่างมาก
- ไทยต่อสู้โควิด-19 มากว่า 1 ปีครึ่ง
ศ.นพ.ยง กล่าวปาฐกถาเกียรติยศ เรื่องCOVID-19:บทบาทของวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจไทย ว่าตอนนี้ทุกคนได้เผชิญกับโควิด-19 มากว่า 1 ปีครึ่ง ซึ่งการเกิดโรคระบาดนั้นจะพบว่าใน 100-200 ปี จะมีการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่หนึ่งครั้ง อย่าง ปี 2363 สมัยรัชกาลที่ 2 เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาด หรือที่เรียกว่า ห่าลงปีมะโรง คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 คน ซึ่งขณะนั้นมีประชากรไทยประมาณ3 -4 ล้านคน (คาดการณ์เอง) ทำให้อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1% ต่อมา ปี 2461 เกิดไข้หวัดใหญ่สเปน ตอนนั้นประชากรไทยมีประมาณ 8 ล้านคน เสียชีวิตไปประมาณ 8 หมื่นคน ทำให้อัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 1%
ล่าสุด ในปี 2563 เกิดโควิด-19 ระบาดใหญ่เข้าสู่ไทยวันที่ 12 ม.ค.2563 ซึ่งตอนนั้นหากไม่ทำอะไร ทุกคนในประเทศจะติดโรค และคาดว่าประชากรไทยมี 7 ล้านกว่าคน ให้อัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 1% จะทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 แสนกว่าคน ดังนั้น จะให้คนไทยเสียชีวิต 7 แสนกว่า เรื่องนี้คนในประเทศยอมรับไม่ได้ จึงได้มีมาตรการต่างๆออกมาเพื่อลด ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และยิ่งป้องกันยิ่งต่อสู้ ความยืดเยื้อก็ยิ่งนานต่อไป
“ตอนนี้เราต่อสู้กับโควิด-19 มากว่า 1ปีครึ่งแล้ว ซึ่งตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีนที่ดีในการป้องกันโรค เพื่อให้ทุกคนมีภูมิต้านทานเหมือนกับติดเชื้อโควิด-19 เราก็จะต้องอยู่กับโควิด-19 ได้อย่างไม่ปกติ และเมื่อเรายอมให้เกิดการเสียชีวิต 1%อย่างในอดีตของเราไม่ได้ ก็ต้องหาทุกวิธีทางเพื่อป้องกันต่อสู้กับโรคนี้” ศ.นพ.ยง กล่าว
- วิวัฒนาการสายพันธุ์โควิดในไทย
ประเทศไทยมีการติดเชื้อเริ่มด้วยสายพันธุ์อู่ฮั่น ตอนนั้นมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่หลักสิบคนต่อวัน มีการควบคุมได้ดีมาก ทำให้ประเทศอยู่อย่างสงบเป็นเวลา 6-7 เดือนมีผู้ป่วยโควิดน้อย จนเกิดการระบาดระลอกสองมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่หลักร้อยรายต่อวัน และเกิดระบาดระลอกสาม สายพันธุ์อัลฟา มีผู้ป่วยโควิดหลักพันรายต่อวัน และตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เกิด สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มีผู้ป่วยโควิดเป็นหลักหมื่นรายต่อวัน
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่าไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั่วโลกมีการถอดพันธุ์กรรมประมาณ 2 ล้านตัว พบว่า ตอนนี้สายพันธุ์เดลตาครองโลก ซึ่งในประเทศไทย ช่วง First wave จะเป็นสายพันธุ์ S พอ Second Wave เป็นสายพันธุ์ GH ต่อมา Third Wave เป็นสายพันธุ์อัลฟา และ Four Wave เป็น สายพันธุ์เดลตา
“จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้มีการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยพยายามแยกสายพันธุ์ ซึ่งตอนนี้ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงก็จะสามารถรู้ได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ไหน ทำให้ 2-3เดือนที่ผ่านมา สามารถคัดแยกสายพันธุ์ได้มาก และแน่ชัดว่าสายพันธุ์อัลฟาลดลงอย่างรวดเร็วและถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์เดลตาทั้งหมด” ศ.นพ.ยง กล่าว
นอกจากนั้น การตรวจหา RNA ในจีโนมของไวรัส (Subgenomic RNA) เป็นการตรวจซากเชื้อไวรัส ซึ่ง Subgenomic RNA เป็นส่วนในการแบ่งตัวของไวรัส ถ้าพบชิ้นส่วนนี้ก็บ่งบอกว่าไวรัสนั้นยังคง Active มีความสามารถเพิ่มจำนวนได้ ในทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการตรวจกัน ขณะนี้ที่ศูนย์ไวรัสที่ทำอยู่กำลังพัฒนาการตรวจหา Subgenomic RNA เพื่อจะบ่งบอกว่าไวรัสนั้นยังคงเพิ่มจำนวนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่หายแล้วยังตรวจพบอยู่ ด้วยห้องปฏิบัติการธรรมดา จะได้ยืนยันว่าไวรัสนั้นยังติดต่อได้หรือไม่
- โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อสังคม
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า โควิด-19มีผลกระทบทั้งสังคมและทั้งโลก ทุกคนจะต้องใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม สังคม วัฒนธรรมถูกเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของผู้คนอยู่บนโลกไซเบอร์มากขึ้น ไปไหนมาไหนก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ต้องทำงานที่บ้าน ประชุมออนไลน์ และเด็กเองก็ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งหากครอบครัวไหน มีพ่อแม่คอยดูแลเด็ก มีเครื่องมือที่พร้อมก็ถือว่าโชคดี แต่ครอบครัวไหนที่ไม่มี ถึอว่าสร้างผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวนั้นอย่างมาก
เช่นเดียวกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี (GDP:Gross Domestic Product) เป็นลบ ยกเว้นจีนกับเวียดนามที่มีจีดีพีเป็นบวก ดังนั้น ตอนนี้นอกจากเรื่องสุขภาพ การป้องกันโรคแล้วก็ต้องดูผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพนั้น ต้องบอกว่ามีทั้งด้านดีและด้านลบ โดยด้านดี ตอนนี้โรคไข้หวัดใหญ่หายไปแล้ว เพราะทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย และนักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน รวมถึง ลด Hospital OPD คนไข้ที่มา OPD น้อยลงมาก และอุบัติเหตุลดลง เนื่องจากมีการใช้รถยนต์น้อยลง
“ด้านลบด้านสุขภาพ คือ ทุกคนเครียดในการเสพสื่อ มีอาการนอนไม่หลับ หวาดกลัว ตื่นตัว สะดุ้ง ไม่มีสมาธิในการทำงาน เครียดง่าย และที่สำคัญมีภาวะฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะความเครียดจากโควิด และมีข่าว Fake news จนทำให้เกิดการบูลลี่ ดังนั้น ทุกคนต้องมีจริยธรรมในการควบคุมโรคโควิด มีความซื่อสัตย์ ระเบียบวินัย อดทน และรู้จักแบ่งปัน ขณะที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีจริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยในภาวะเครื่องมือขาดแคลน อย่างความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย” ศ.นพ.ยง กล่าว
- ฉีดสลับวัคซีนเห็นผล ต้องฉีดเชื้อตายก่อน
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาวิจัยที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกดำเนินการอยู่นั้น ปรับรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ และวัคซีนที่เรามีจะเห็นว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะมีภูมิต้านทานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 หน่วย การให้วัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มภูมิต้านทานจะขึ้นมาอยู่ระดับเฉลี่ย 100 หน่วย
ถ้าให้วัคซีนไวรัส Vector AZ 2 เข็มห่างกัน 10 สัปดาห์ภูมิต้านทานจะขึ้นมาอยู่ที่ 900 หน่วย แต่ถ้าให้วัคซีนสลับกัน โดยให้วัคซีนเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ที่ 3-4 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะสูงที่ 700 หน่วย ในขณะที่ให้วัคซีน mRNA 2 ครั้งห่างกัน 3 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะขึ้นมาสูงถึงพัน 1700 หน่วย แต่การให้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีน virus Vector อย่างที่ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้าทำอยู่ พบว่าภูมิต้านทานเฉลี่ยสูงขึ้นมา เฉลี่ยเป็น 10,000 หน่วย
“ประสิทธิภาพวัคซีน ทุกตัวที่องค์การอนามัยโลกรับรอง มีประสิทธิภาพดังนั้น การนำมาใช้จะต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญต้องมีความปลอดภัยแก่ผู้ฉีด ซึ่งทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัยทั้งคู่ ซึ่งการขึ้นของแอนติบอดี้นั้น แอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรก แอนติบอดี้ขึ้นแน่นอน และจะสูงขึ้นหลังฉีดเข็ม 2 ส่วนการฉีดวัคซีนสลับนั้น พบว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นตัว prime ที่ดี แต่การฉีดสลับ ต้องฉีดด้วยเชื้อตาย และตามด้วย vector ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้น และสูงเท่าเทียมกับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม” ศ.นพ.ยง กล่าว
การฉีดสลับวัคซีน ไม่ใช้เรื่องเลวร้าย และขณะนี้กำลังศึกษาว่าทำไมต้องฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็น ตัว prime ก่อน รวมถึงมีการศึกษาการกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งตอนนี้มีข้อมูล 500 กว่าคน เบื้องต้น พบว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มกระตุ้นสามารถสร้างแอนติบอดี้ได้สูงมาก ต่างกัน 100 เท่า ผลเบื้องต้นก็ต้องหาคำตอบเชินเดียวกันว่าทำไมแอนติบอดี้ขึ้นสูง
- mRNA กระตุ้นแอนติบอดี้สูงกว่าเชื้อตาย17เท่า
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่าได้มีการศึกษาคนไทยติดเชื้อ 120 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ1 ปี และกลุ่มที่พึ่งติดเชื้อ 2-6 เดือน มีการฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า กลุ่มที่ติดเชื้อมา 1 ปี จะมีแอนติบอดี้สูง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ก็ต้องยอมรับว่า วัคซีนชนิด mRNA มีแอนติบอดี้สูงกว่าเชื้อตาย 17 เท่า ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า มีแอนติบอดี้สูงกว่าเชื้อตายประมาณ 9 เท่า แต่ขณะเดียวกัน J&J หรือซิโนฟาร์ม ไม่สูงเท่ากับ mRNA
“การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immulity) ต้องประชากรทั้งหมดรวมเด็กด้วย ซึ่งเด็กไทยมี 10 กว่าล้านจะต้องมีการฉีดวัคซีนในเด็ก และต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงมาก เพราะการติดโควิด-19ในเด็กแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่เด็กจะเป็นพาหะในการนำโควิด-19 ไปสู่ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุได้ และการฉีดวัคซีนในเด็ก ควรฉีดตั้งแต่เด็ก 3 ขวบขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ดังนั้น สิ่งที่พูดในวันนี้อีก 2-3เดือนข้าวหน้าอาจจะถูกเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น” ศ.นพ.ยง กล่าว