‘วราวุธ’ ปลื้ม โครงการ ‘เปลี่ยนขยะเป็นบุญ’ แก้ขยะท่วมช่วงโควิด-19

‘วราวุธ’ ปลื้ม โครงการ ‘เปลี่ยนขยะเป็นบุญ’ แก้ขยะท่วมช่วงโควิด-19

“วราวุธ ศิลปอาชา” เป็นปลื้ม หลัง“โครงการเปลี่ยนขยะเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) ไปได้ดีเกินคาด ช่วยแก้วิกฤตขยะท่วมช่วงโควิด – 19 นำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดทำโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้เกิดการส่งคืนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) ในหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายภาคเอกชนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนที่สนับสนุนการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ได้แก่ กลุ่มความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) (โครงการมือวิเศษ x วน) และเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งขยะพลาสติกที่รวบรวมได้นั้น จะถูกนำกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ทะเล ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการดำรงชีวิต หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นการสร้างความตระหนักให้กับสังคมไทยได้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและความสำคัญของการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม


ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัย) และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน (ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าฯ) เข้าร่วมเป็นจุดรับคืนพลาสติก (Drop Point) รวมจำนวน 450 จุด จากการเก็บรวบรวมพลาสติกภายใต้โครงการ "เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) ในเดือนมิถุนายน 2563 – กรกฎาคม 2564 สามารถเก็บรวบรวมขยะพลาสติกจากจุดรับคืนรวมจำนวน 83,357.77 กิโลกรัม แบ่งเป็นพลาสติกแข็ง จำนวน 1,913.03 กิโลกรัม และพลาสติกยืด จำนวน 81,444.74 กิโลกรัม


รมว.ทส.กล่าวต่อไปอีกว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดระลอกใหม่ในปัจจุบัน ภายใต้มาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ การรักษาระยะห่างทางสังคม ตลอดจนการทำงานที่บ้าน (WORK FROM HOME) สถานประกอบการหลายแห่งปิดทำการ เพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัส การใช้บริการอาหารแบบส่งถึงที่ (Food Delivery) รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภค และการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤติซ้อนวิกฤติและต้องมีการเร่งรับมือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงยกระดับให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการ “เปลี่ยนขยะ เป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจัดการกับปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นำขยะที่เกิดขึ้นกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Economy Circular Economy Green Economy : BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ขยะที่หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และจะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วย “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” จากที่เปิดจุดรับบริจาคกล่องและลังกระดาษ ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการนำขยะกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล รวบรวมกล่องและลังกระดาษที่ไม่ใช้แล้วได้ที่ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต กว่า 220 สาขาทั่วประเทศ จากการรวบรวมตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 สามารถรวบรวมกล่องและกระดาษลังใช้แล้ว รวมจำนวน 54,500 กิโลกรัม โดยสามารถนำไปรีไซเคิลผลิตเป็นเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) ส่งมอบให้โรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 3,892 เตียง และขยายผลโครงการฯ ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดจุดรับบริจาค (Drop Point) กล่อง ซอง และลังกระดาษ ทุกประเภท ณ ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ บรรจุรวมใน “กล่อง BOX บุญ” ส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ จากการรวบรวมตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 สามารถรวบรวมกล่อง ซอง และลังกระดาษใช้แล้ว ทุกประเภท รวมจำนวน 40,321 กิโลกรัม และเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 64,514 ชิ้น

นอกจากนั้นแล้วยังเปิดตัวจุดรับคืนกระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมที่ใช้แล้ว (Drop Point) เพื่อรวบรวมกระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมที่ใช้แล้ว ส่งกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นน้ำดื่มกระป๋องใหม่ ที่ผลิตจากอลูมิเนียม 100% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเรียกว่า Aluminium Loop Recycling โดยกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วสามารถนำมารีไซเคิลเป็นกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่โดยมีคุณภาพคงเดิมได้อย่างไม่รู้จบ ผลิตเป็นน้ำดื่มกระป๋องใหม่ ส่งมอบให้โรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ ร่วมกับบริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถร่วมบริจาคกระป๋องใช้แล้วที่ล้างสะอาดและบีบให้เล็ก ได้ที่จุดรับคืนกระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้ว ณ ห้างบิ๊กซี ทุกสาขา กว่า 192 จุด ทั่วประเทศ ปัจจุบันได้ส่งมอบน้ำดื่มกระป๋องใหม่สนับสนุนโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ ไปแล้วกว่า 100,000 กระป๋อง

162998044327


ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) และโครงการแยกขวดช่วยหมอ เปิดรับบริจาคขวด

พลาสติก ( PET) ใช้แล้ว เพื่ออัพไซเคิลเป็นชุด PPE ให้คุณหมอสู้โควิด -19 โดยผู้สนใจร่วมบริจาคได้ที่ Drop Point ใกล้บ้าน หรือนำส่งที่โครงการเปลี่ยนขยะเป็นบุญ แยกขวดช่วยหมอ บริษัท ทีอาร์เอฟ จำกัด (อาคารบริการจัดการขยะ) เลขที่ 999 หมู่ 1 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โทร.08-8809-6428 และปั้มปตท.ที่ร่วมรายการ

162998048491

“ โครงการ "เปลี่ยนขยะเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) จึงนับเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งช่วยในการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งช่วยลดภาระให้เจ้าหน้าที่การเก็บขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน ดังนั้นจึงขอเชิญชวนคนไทยได้ร่วมกันเก็บ คัดแยก และนำขยะ ทั้งที่เป็นขวดพลาสติก กล่องและลังกระดาษ และอื่น ๆ มาบริจาคยัง Drop Point ในสถานที่ต่างๆตามที่แจ้งไว้”นายวราวุธ กล่าวในที่สุด