'ดีอี' จ่อแก้ก.ม.พนันออนไลน์ เปิดทางดึงเงินใต้ดินเสียภาษี

'ดีอี' จ่อแก้ก.ม.พนันออนไลน์ เปิดทางดึงเงินใต้ดินเสียภาษี

กระทรวงดีอี พร้อมลุยแก้กฎหมายพนันออนไลน์ให้เป็นเรื่องถูกต้อง เปิดช่องดึงเงินใต้ดินขึ้นมาเสียภาษี เผยสถิติปิดเว็บพนันปี 67 สูงถึง 62,213 ยูอาร์แอล ขณะเดียวกัน เตรียมชง ครม.‘เพิ่มโทษ’ อาชญากรรมออนไลน์ หวังแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพขึ้น

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า หลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวบนเวทีปราศรัยกรณีจะดึงการพนันออนไลน์ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายว่า กระทรวงดีอีอยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

โดยปัจจุบัน กระทรวงดีอียังทำหน้าที่ปิดเว็บพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อาศัยอำนาจการอ้างอิงตาม มาตรา 12 ตามพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ขอหมายศาลในการปิดเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งดีอี เน้นย้ำต่อเนื่องถึงการเล่นพนันออนไลน์ ผู้เล่นมีความผิด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ สถิติการปิดเว็บพนันออนไลน์ทั้งการปิดเว็บ และการประสานการปิดเว็บผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 2565 - 30 ก.ย. 2566) ปิดเว็บพนันออนไลน์ 2,059 ยูอาร​์แอล,ปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. 2566-30 ก.ย. 2567) ปิดไป 62,213 ยูอาร์แอล ปีงบประมาณ 2568 (1 ต.ค. 2567-30 พ.ย. 2567) ปิดไป 8,129 ยูอาร์แอล

แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอี กล่าวว่า หากประเทศไทยต้องการให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย อาจทำได้ทั้งการแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจกระทรวงมหาดไทย หรือหากจะออกกฎหมายใหม่ให้กระทรวงดีอีเป็นผู้รับผิดชอบก็สามารถทำได้ โดยกฎหมายต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า การพนันออนไลน์ที่ต้องการให้ถูกกฎหมายนั้นจะมีประเภทไหนบ้าง และมีข้อห้ามอย่างไรบ้าง เช่น ห้ามกู้ยืมเงินมาเล่นการพนัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลกต่างยอมให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมายหมดทั้งสิ้น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ขณะที่ประเทศที่ยังมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายยังคงเป็นประเทศที่เคร่งครัดด้านศาสนา

‘เพิ่มโทษ’ อาชญากรรมออนไลน์

ขณะเดียวกัน กระทรวงดีอี ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติเห็นชอบ การแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับ หรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร และการเพิ่มโทษ การซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือว่า เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะเพิ่มอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี โดยคาดว่าจะเสนอเข้า ครม.นัดหน้า วันที่ 14 ม.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กฎหมายอยู่ในขั้นตอนของ คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง และคาดว่าจะผ่านภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะส่งกลับมาให้ ครม.เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน ม.ค. 2568
 

แบงก์ชาติ-ค่ายมือถือร่วมรับผิด

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความรับผิดชอบสถาบันการเงิน ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ร่วมรับผิดชอบในความเสียหายของประชาชนที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ หากผู้ประกอบการละเลย หรือไม่ดูแลระบบอย่างดีพอ

สำหรับแนวทางแก้ไขการเปิดบัญชีผิดกฎหมาย ที่มีลักษณะเป็นบัญชีม้านิติบุคคลนั้น ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน (HR-03) กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมออกคำสั่งการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล

ทั้งนี้ หากมีชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการ ที่ระบุในคำขอ เป็นบุคคลที่มีชื่อในข้อมูล HR-03 จะชะลอการจดทะเบียนไว้ก่อน และให้บุคคลนั้นมาแสดงตน และแสดงหลักฐาน หากไม่มา จะปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนทันที โดยได้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสกัดกั้นการเปิดบัญชีม้านิติบุคคลให้เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง และเพื่อป้องปรามและปราบปรามการกระทำผิดอย่างจริงจัง

เร่ง สกมช.อุดช่องโหว่ภัยไซเบอร์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รมว.ดีอี สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เร่งผลักดันการจัดทำแนวทางการดำเนินการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้หน่วยงานของรัฐ สำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เกิดการรั่วไหล การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย การตรวจสอบและประเมินผลความปลอดภัยระบบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงบริษัทที่รับงานจากภาครัฐ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ไซเบอร์และกฎหมาย PDPA อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ยังต้องเน้นการอบรมบุคลากร และผู้พัฒนาเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์และภัยคุกคาม และการนำหลัก Cloud Security Standards และนโยบาย Cloud First Policy มาใช้เพื่อเสริมความมั่นคงปลอดภัยในระดับดิจิทัล รวมถึงเห็นชอบรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม ผลการดำเนินการเหตุการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการ กมช. กล่าวว่า สกมช. ได้สรุปผลดําเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เสนอคณะรัฐมนตรีและรับทราบการเตรียมความพร้อมระบบสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ยุคควอนตัมอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ สกมช. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปสร้างความความเสียหาย อาทิ การหลอกลวงประชาชนเรื่องเงินบำนาญ การแจ้งรับเงินคืนค่าประกันมิเตอร์ หรือเรื่องอื่นๆ ให้มีมาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยของข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตลอดจนให้หามาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยน่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน