'หมอประสิทธิ์'เตือนอย่าเพิ่ม 4 เสี่ยงช่วงผ่อนมาตรการ

'หมอประสิทธิ์'เตือนอย่าเพิ่ม 4 เสี่ยงช่วงผ่อนมาตรการ

แพทย์เตือนผ่อนกิจกรรม 1 ก.ย.  อย่าปล่อยให้ 4 เสี่ยงเกิดขึ้นพร้อมกัน หวั่นต้องกลับไปล็อกดาวน์ใหม่

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการติดเชื้อลดลงว่า ตัวเลขที่ใช้ประมาณการณ์จะดูตัวเลขเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง จะเห็นว่าความชันของกราฟเริ่มลดลง และใช้อีก 2 ตัวเลขร่วมด้วย คือ 1.ผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ โดย 10กว่าวันที่ผ่านมาลดลงเรื่อยๆ จากวันละ 5,600 ราย เหลือ 5,058 ราย

และ2.ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน แต่อาจจะลดไม่เร็วเท่าผู้ป่วยปอดอักเสบ ส่วนที่ไม่ใช้ตัวเลขการเสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายเข้ารักษาหลายวัน ซึ่งตัวเลขเสียชีวิตก็จะเป็นการรายงานย้อนหลังไป เช่น ผู้เสียชีวิตวันนี้ 256 ราย บางรายอาจเริ่มป่วยตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ จะเห็นได้ชัดกว่าเพราะวินิจฉัยได้เร็ว จึงใช้เป็นตัวชี้วัดนำ(Lead Indicator) เทียบกับตัวเลขป่วย 7 วันย้อนหลังช่วยในการคาดการณ์

 

   

   ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า คาดว่าตัวเลขจะดีขึ้นไปอีก เพราะเดือน ก.ย.2564 คนจำนวนหนึ่งที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. ก็จะมารับวัคซีนแข็มที่ 2 ซึ่งขณะนี้ฉีดเข็มที่ 1 ได้ประมาณ 32% และครบ 2 เข็มแค่ 10..2% ดังนั้น เดือน ก.ย. จะเริ่มไต่คนที่ครบ 2เข้มขึ้น ขณะเดียวกันต้องเร่งฉีดเข็ม 1 โดยเฉพาะการฉีดสูตรไขว้ SA คือซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ทำให้มีการฉีดเข็มที่ 2 เร็วขึ้น ซึ่งต่างประเทศก็เริ่มแล้วด้วยแอสตร้าฯตามด้วยไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์ เพียงแต่ตอนนี้ไฟเซอร์ในประเทศไทยมีไม่มาก แต่สูตร SA ในตอนนี้ก็ได้ผลดีและใช้เวลาเพียง 4 สัปดาห์

 

จากนี้ไปปัจจัยหรือมาตรการด้านวัคซีน มีแต่แนวโน้มน่าจะบวก น่าจะดีขึ้น ดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ต้องระวังปัจจัยด้านสังคม การจัดการต้องไม่เร็วเกินไป รัฐบาลต้องไม่ผ่อนเร็วเกินไป ประเมินได้ทุก 14 วัน และมาตรการส่วนบุคคล ต่างคนต้องตระหนัก หากไม่อยากกลับไปถูกล็อกดาวน์ใหม่ ทุกคนต้องช่วยกันยาวไปถึงปลายปี จนกระทั่งกดตัวเลขใหม่กลับมาเหลือแค่ตัวเลข 3 หลัก ถ้าทำได้ก็จะเริ่มผ่อนสบายใจขึ้น และหวังว่าปีหน้าวัคซีนรุ่นสองออก ก็จะช่วยได้ดีขึ้น ถ้าไม่เกิดสายพันธุ์ใหม่ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า จุดผกผันสำคัญคือหลังวันที่ 1 ก.ย.2564 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งจะเกี่ยวกับ 3 มาตรการ คือ มาตรการวัคซีนป้องกัน มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมการจัดการ ทั้งนี้ วัคซีนไปได้ดี มีการฉีดบางวันสูงถึง 9 แสนโดส เป็นปัจจัยเชิงบวกแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มาตรการส่วนบุคคล หลายคนกังวลตัวเลขหลักหมื่น การ์ดเลยไม่ตก แต่วันที่ 1 ก.ย. จะมีการผ่อนกิจกรรม สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ อย่าปล่อยให้ 4 เสี่ยงเกิดขึ้นพร้อมกัน ได้แก่ คนเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และช่วงเวลาเสี่ยง

       ขณะนี้ไม่มีช่วงเวลาเสี่ยง เช่น วันหยุดยาว แต่มีการผ่อนมาตรการ ก็จะเป็นการเพิ่มกิจกรรมเสี่ยง เพื่อรักษาสมดุล ดังนั้น ต้องยกระดับมาตรการ 2 เสี่ยงที่เหลือ คือ คนเสี่ยง ให้ถือว่าทุกคนที่เราจะเจอติดโควิด เพื่อทำให้ระวังตัวมากขึ้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้กระทั่งในบ้าน และสถานที่เสี่ยง ต้องเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยขณะให้บริการ จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ พนักงานเข้ารับวัคซีนทุกคน พร้อมตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นครั้งคราว โดยที่เรานำเข้ามาตอนนี้ก็มีความจำเพาะ ความไวที่ค่อนข้างดี สถานประกอบการก็สามารถนำมาใช้ได้

ประเทศที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วจำนวนมาก อัตราการติดและแพร่เชื้อยังเกิดขึ้นได้ บางประเทศการกระจายเชื้อของคนที่ฉีดวัคซีนไม่ต่างจากคนที่ยังไม่ได้ฉีด  จึงยังมีโอกาสรับเชื้อมาแล้วแพร่ต่อได้ แต่ลดอัตราป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ดังนั้น จะมีกิจกรรมเสี่ยงเกิดขึ้น ก็ต้องลดความเสี่ยงบุคคลลง ใครไม่สวมหน้ากาก ไม่คุยด้วย ล้างมือบ่อยๆ ไม่เข้าสถานที่แออัดศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

         เมื่อถามถึงมีการเชื่อมโยงตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงกับการเมือง เนื่องจากเป็นช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย.2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การรายงานทำให้โลกรับรู้ ไม่ใช่แค่ในประเทศอย่างเดียว ซึ่งตัวเลขของทุกประเทศก็จะเข้าไปใน Worldometer ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก(WHO)  ที่เขาก็ติดตามอยู่ ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในประเทศไทยด้วย

หากระแวงกันเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นประเด็นการเมืองไปหมด ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ได้ดูตัวเลขต่อวันลดลงอย่างเดียว ดูหลายตัวเลขคู่ขนานกันไป จำนวนผู้ป่วยอักเสบ ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลง รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อในระบบ เพราะการติดเชื้อบวกหรือลบ มี 2 อย่างคือ การตรวจเชิงรุก(Active Case Finding) และตัวเลขในระบบที่เข้ามาตรวจหาเชื้อเอง ซึ่งตัวเลขตรงนี้ก็ลดลง หลายๆ ตัวเลขไปด้วยกัน ยิ่งทำให้รู้ว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขจริงศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว