โศกนาฏกรรมของ"คนไร้บ้าน" จากพิษ"โควิด"

โศกนาฏกรรมของ"คนไร้บ้าน" จากพิษ"โควิด"

สถานการณ์ "โควิด" ส่งผลกระทบทุกกลุ่ม รวมถึง "คนไร้บ้าน" เพราะการบริหารจัดการของรัฐล้มเหลว ประชาชนเข้าถึงยาก ภาคประชาชนจึงต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง

หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลกระทบให้คนตกงาน ไร้อาชีพ ไร้เงิน นำมาซึ่งการไร้บ้าน หรือการติดเชื้อ ทำให้ผู้คนรังเกียจขับไล่ออกจากบ้าน

“สถานการณ์คนเร่ร่อนตอนนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะสถานการณ์โรคระบาด การตกงาน การล็อกดาวน์ มูลนิธิใช้เวลาเก็บข้อมูล 9 เดือน พบว่าทุกกลุ่มที่อยู่ในที่สาธารณะ มี 4,000 กว่าคน

จากที่เคยแจกอาหารอยู่ 300 ชุด ตอนนี้ก็ 600 ชุด แต่มีคนที่อยู่ในชุมชนออกมารับด้วย ดังนั้น 80 % เป็นคนเร่ร่อนไร้บ้าน ส่วนที่เหลือตอบไม่ได้ว่า เป็นคนในชุมชนหรือคนเร่ร่อนหน้าใหม่ อย่างบางคนติดเชื้อแล้ว ก็ถูกขับไล่ให้ออกจากหอพักหรือที่อยู่หรือชุมชน เพราะมีการสื่อสารผิด 

163039321131 "อัจฉรา สรวารี" เลขาธิการ มูลนิธิอิสรชน 

การทำ Home Isolation : รักษาโควิดที่บ้าน สามารถอยู่ร่วมกับคนป่วยได้ แค่แยกสิ่งของ แยกภาชนะ ใส่แมสตลอดเวลา และอยู่เหนือลม แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับบอกว่า ให้ปิดหน้าต่าง เดี๋ยวเชื้อกระจาย กลายเป็นติดเชื้อกันหมดเลย

ปัญหาจึงอยู่ที่การปฏิบัติงานของภาครัฐ ที่ไม่มีชุดความรู้ที่ถูกต้อง ส่วนคนที่หายป่วยแล้ว จะกลับเข้าสู่ระบบก็กลับไม่ได้ เพราะคนมองว่าคนนี้เคยติดเชื้อแล้ว” อัจฉรา สรวารี เลขาธิการ มูลนิธิอิสรชน สรุปสถานการณ์ย่อๆ ให้ฟัง

จุดเริ่มต้นอยู่ที่ภาครัฐ

โรคระบาด เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อัจฉรา มีความคิดเห็นว่า ภาครัฐ ควรสื่อสารให้คนเข้าใจ ด้วยชุดความรู้และช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงใจ

“ในช่วงแรกๆ เรามีปัญหาเรื่องการส่งต่อ เรื่องศูนย์พักคอย เรื่องคนในชุมชนรังเกียจคนติดเชื้อ เพราะรัฐสื่อสารในเชิงลบ แล้วโทษประชาชนที่ไม่ดูแลตัวเอง ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานหนักจนโหลด ระบบการจัดการของรัฐก็โหลด

ซึ่ง ระบบการจัดการของรัฐ ระบบสาธารณสุข มันมีปัญหานี้มานาน ไม่ใช่ว่าเพิ่งมี อย่างคนเร่ร่อนเสียชีวิตข้างถนนก็มีทุกปี แล้วส่งต่อไม่ได้ เพราะติดขัดเรื่องระบบสิทธิการรักษาพยาบาล เรื่องบัตรประชาชน และเงื่อนไขที่ทำให้คนเข้าถึงสิทธิยาก

จนสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น มีคนตาย ทำให้เราต้องจัดการ อย่างบางคนมี สิทธิรักษา 30 บาท อยู่ที่ต่างจังหวัด แล้วเจ็บป่วยในกทม.ก็ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐ แม้ตอนหลังจะมี 72 ชั่วโมงเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารพ.ใกล้ที่สุดได้ แต่พอเข้าไปแล้ว ไม่ว่ารพ.ไหน ก็จะบอกว่าอาการยังไม่ฉุกเฉิน ไม่เข้าเกณฑ์สีเหลือง สีแดง สีต่างๆ สุดท้ายก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง นั่นเพราะระบบสาธารณสุขไทย ทำให้คนเข้าถึงยาก ทั้งที่เป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน"

163039333316 ขณะลงพื้นที่ไปชวยเหลือ 

ความจริงที่รัฐไม่เคยเห็น

การจัดการที่สวนทางกับความจริง เมื่อมีคนติดเชื้อเสียชีวิตข้างถนน อัจฉรา บอกว่า ภาครัฐก็ไม่ยอมรับ บอกว่าเป็นข่าวปลอม มีคนสร้างสถานการณ์

“โรคระบาดที่กระจายไปทั่ว การจัดการของรัฐ เลยตั้งตัวไม่ทัน พอมีคนตายข้างถนน นายกรัฐมนตรี ก็สั่งว่า ห้ามมีคนตายข้างถนนให้เห็นอีก รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็ลงมาดู ลูกน้องก็ไปเคลียร์ชุมชนก่อน เขาก็ไม่ได้เห็นมุมที่แท้จริง แล้วไม่เข้าใจปัญหา คนเร่ร่อน พอคุณมา เขาก็หนีคุณ เพราะคิดว่าคุณจะมาจับเขา พอหนี ก็กระจายไปอีก ไม่รู้อยู่ไหน รัฐมนตรีต่างๆ ก็ไปรายงานว่า ลงมาดูหน้างานแล้ว คนเร่ร่อนหายไปหมดเลย จากที่เคยอยู่เป็นที่

ในฐานะคนทำงานมานาน เราอยากให้เขาอยู่เป็นที่ เพราะเราไม่สามารถตรวจเชิงรุก เราเคยเรียกร้องวัคซีนเคลื่อนที่ เพราะการตรวจเชิงรุกกับคนเร่ร่อนอาจไม่คุ้มเท่าฉีดวัคซีน เพราะตรวจวันนี้ แต่เขาไม่มีบ้าน พรุ่งนี้เขาอาจจะติดก็ได้ เอางบประมาณไปลงกับวัคซีนคุณภาพแล้วกระจายให้ทั่วถึงจะดีกว่า” อัจฉรา แสดงความคิดเห็

​​​​​​​‘ประชาชน’ลุกขึ้นมาช่วยกันเอง

การบริหารจัดการล้มเหลว, การสื่อสารที่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง, ความช่วยเหลือที่ไม่เคยมาถึง ทำให้ทุกคนต้องเอาตัวรอดทุกวิถีทางด้วยตัวเอง อัจฉรา มีความเห็นว่าอย่างนั้น

“เวลามีคนติดเชื้อ โทรไป 1669, 1668 ก็โทรไม่ติด หรือติดก็ไม่มีคนรับสาย ติดต่อประสานงานครั้งหนึ่ง 4-5 ชั่วโมง หรือติดต่อได้แล้ว รอเตียงหลายวัน จนเขาตาย ทำให้ ภาคประชาชน รอไม่ได้ ระดมทุนออกมาช่วยเหลือ สวมชุด PPE ตรวจเองตรงนั้นเลย

นั่นเพราะภาครัฐ ไม่ยอมรับว่าทำงานไม่ดี โยนกันไปโยนกันมา ผลักภาระไป ทุกวันนี้ระบบข้อมูลของภาครัฐ ก็ยังไม่ได้โอนแต่ละกระทรวงเข้าหากัน นี่คือปัญหา เราจะรู้ได้ไงว่าคนไหนได้วัคซีนครบ ไม่ครบ" อัจฉรา เสริม 

ซึ่งทางมูลนิธิอิสรชนได้ขอโควต้าวัคซีนพระราชทานจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มาฉีดให้กับคนเร่ร่อนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มด้อยโอกาสต่างๆ ในรอบแรกไปแล้ว 300 คน กำลังจะมีรอบที่สอง

"ทุกวันนี้ ถ้ามีคนติดเชื้อ ก็ยังติดต่อหน่วยงานรัฐยากเหมือนเดิม ศูนย์พักคอยบางศูนย์ ก็ยังไม่สามารถจ่ายยา ฟาวิพิราเวียร์ ได้ มูลนิธิจึงได้ร่วมกับ CoCare กลุ่มแพทย์อาสา ขอยาฟาวิฯมาให้คนป่วย ถ้าเราตรวจด้วย ATK (ตรวจคัดกรองด้วย Covid Antigen Test Kit : ATK) แล้วผลเป็นบวก เราก็จ่ายยาฟาวิฯให้ข้างถนน

งานหลักของ มูลนิธิอิสรชน คือ การลงพื้นที่เข้าไปคุยไปฟื้นฟูพัฒนาเก็บข้อมูล แล้วคืนเขาสู่สังคม มีเรื่องแบ่งปันอาหาร เป็นการสงเคราะห์เฉพาะหน้า ใช้ระยะเวลา ส่งเสริมอาชีพ ส่งกลับบ้าน ให้เขาเลี้ยงตัวเองได้หรือคืนสู่สังคมได้ ไม่เร่ร่อนอีก

163039350927 เจ้าหน้าที่มูลนิธิลงพื้นที่ไปแจกของให้คนไร้บ้าน  

จะว่าไป คนเร่ร่อน ติดเชื้อ โควิด น้อย เพราะอยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก แต่โควิดทำให้การอยู่การกินลำบากมากขึ้น คนตกงาน ไม่มีเงินเช่าห้อง ถูกไล่ออกมานอนที่ถนนเพิ่มมากขึ้น ช่วงโควิดเราต้องทำอาหารเพิ่มขึ้นจาก 300 เป็น 600 ถุงปันสุขจากอาทิตย์ละ 200-300 ถุงก็เพิ่มขึ้น เราแจกทั้งในกทม,พัทยา,หัวหิน

ปัจจุบัน เราไม่รอรัฐแล้ว เพราะโรงพยาบาลรัฐมีเงื่อนไขในการรับ เช่น ไม่มีบัตรประชาชน, อายุเกิน 60 ไม่มีคนดูแล แม้แต่การลงทะเบียนรับยาหรือการตรวจเชิงรุกของรัฐ กว่าจะรู้ผลก็ 2-3 วัน

ทุกวันนี้เวลามีเคส ประชาชนแทนที่จะโทรหารัฐ เขากลับโทรหามูลนิธิฯ เราก็ต้องอธิบายว่าไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกเคส เราไม่ได้มีรถพยาบาลเคลื่อนที่เร็ว แต่เราก็จะหาทางช่วยเขาให้เร็วที่สุด คำนึงถึงชีวิตประชาชนมากที่สุด

อยากให้ภาครัฐ มีความจริงใจ ยอมรับว่ามันมีปัญหาในส่วนต่างๆ ลดเงื่อนไขที่ทำให้คนเข้าถึงยาก แล้วให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เพราะรัฐมีเครื่องมือพร้อม มีวัคซีน

กลไกทั้งหมดอยู่ที่รัฐ ต้องเร็วที่สุด ชีวิตประชาชนสำคัญ ไม่ใช่ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องวัคซีนไฟเซอร์ไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อจะได้มารักษาตัวเอง"