โมเดลจัดการขยะ 'วัดจากแดง' เริ่มต้นจาก 'วัด' สู่การขับเคลื่อนชุมชน
'ขยะทะเล' หนึ่งในปัญหาระดับโลกที่ทุกหน่วยงานต่างเร่งแก้ไข รวมถึงไทย เราเห็นหลายองค์กรทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ออกมาพูดเรื่องการลดขยะพลาสติกกันมากขึ้น รวมถึง 'วัด' ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรวมกลุ่มชุมชน ขับเคลื่อนการลดขยะในสิ่งแวดล้อม
อย่างที่รู้กันว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สร้าง ขยะทะเล อันดับต้นๆ ของโลก ขยะพลาสติกหนึ่งชิ้นเมื่อหลุดรอดไปยังแม่น้ำ ใช้เวลาราว 49 วัน ในการออกสู่มหาสมุทรใหญ่ ขณะที่ประเทศไทย มีจังหวัดชายฝั่งกว่า 23 จังหวัด การสะสมของขยะ ย่อมส่งผลและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า 10 อันดับ ขยะทะเลในประเทศไทย ที่เก็บได้ ปี 2563 อันดับ 1 ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก 22% ถัดมา คือ ถุงพลาสติก 19.42% ขวดแก้ว 10.96% ห่อ/ถุงขนม 7.97% เศษโฟม 7.55% กระป๋องเครื่องดื่ม 7.46% กล่องอาหาร โฟม 6.92% หลอด 6.45% ฝาพลาสติก 5.67% เชือก 5.61% ตามลำดับ
ขยะทะเลซึ่งมีอายุที่แสนจะคงทนนับร้อยปี เมื่อย่อยสลายแล้วยังกลายร่างไปเป็นไมโครพลาสติก ล่องลอยไปในท้องทะเล แนวทางในการไม่ทำให้ขยะปนเปื้อนเข้าไปในสิ่งแวดล้อม อาจไม่ใช่แค่การนำขยะมารีไซเคิล (Recycle) และ อัพไซคลิง (Upcycling) หรือหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม ชุมชน เพื่อให้การนำกลับมาใช้ได้ประโยชน์สูงสุด และลดการทิ้งขยะให้หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการ Care the Whale : ขยะล่องหน ร่วมกับ วัดจากแดง และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ชวนชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จ. สมุทรปราการ ทั้งหมด 6 ตำบล ซึ่งเดิมมีปริมาณขยะกว่า 4 ตันต่อเดือน สร้างโมเดล สถานีขยะล่องหน ผ่านแคมเปญ “เก็บ แยก แลก จ้า” ชวนชุมชนนำขยะ ได้แก่ ขยะพลาสติกขวดใส ขวดขุ่น ถุงแกง และเสื้อผ้าไม่ใส่แล้ว มาแลกเป็นของใช้อุปโภคบริโภคและนำขยะนั้นไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์คืนสู่ชุมชน พร้อมช่วยเหลือชุมชนในช่วงโควิด-19
- "วัดจากแดง" แก้ปัญหาขยะ จากแบบวัดๆ สู่ความยั่งยืน
“พระเมธีวชิรโสภณ” เจ้าอาวาส วัดจากแดง เล่าว่า ทางวัดมีการจัดการเรื่องขยะมาตั้งแต่ปี 2548 จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาขยะ คือ การหาทางออกแบบบ้านๆ วัดๆ ได้แก่การเผา ซึ่งส่งกลิ่นเหม็น เคยดักจับขยะที่ลอยผ่านหน้าวัดก่อนจะลอยสู่อ่าวไทย 1 ชั่วโมงได้ขยะ 2 ตัน จึงเริ่มคัดแยกขยะ อบรมชาวบ้าน ชวนทำ และทำให้ดู มีเครื่องมือการคัดแยก เช่น ลวดพระทำ คือ เอาเศษอาหารออกจากถุงและเอาลวดร้อยก้นถุงไว้ หลังจากนั้นเอาถุงไปล้างทำความสะอาด นำไปขายเองได้หลายบาท หรือนำมาทำบุญ
“หากสอนให้ชาวบ้านคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แยกประเภทพลาสติกเป็น ทำความสะอาดได้ ไม่ต้องนำมาให้ที่วัดก็ได้ แต่สามารถนำไปขายได้เอง วัดเป็นเพียงศูนย์เรียนรู้ เป็นต้นทาง หากยังทำไม่เป็นไม่มีแรงบันดาลใจ เดินมาที่วัดก่อน เรียนรู้แล้ว กลับไปคัดแยกขยะ โดยปีที่ผ่านมา ก่อนโควิด-19 มีองค์กร โรงเรียน โรงงาน วัด มาดูงาน 10,400 กว่าคน”
สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ ปุ๋ย ซึ่งมีหลาย 10 ตัน เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้ทำการส่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาไปแล้ว 40 กว่าตัน นอกจากนี้ ยังมีการนำขวดพลาสติก มาแปรรูปเป็นผ้าไตรจีวร ขณะที่ถุงพลาสติกที่สะอาดนำมาแยกประเภทผสมแกลบ และไปทำไม้กระดาน ฝ้าผนัง ออกมาสวยคล้ายไม้จริง นำโฟมซึ่งไม่ค่อยมีใครรับซื้อมาผสมกับทินเนอร์ ได้กาวยางสำหรับติดฉนวนกันความร้อน เอาโฟมผสมซีเมนต์ทำอิฐตัวหนอน กล่องใส่ดินสอ กระถาง น้ำตกเทียม และล่าสุด คือ นำขวดน้ำมาผลิตเป็นชุด PPE ถวายให้วัดที่สวดศพ สัปเหร่อที่เผาศพ คนเก็บขยะ
“รวมถึงจัดหาเครื่องบด ผสมจุลินทรีย์ เพื่อนำเปลือกผลไม้ เช่น ทุเรียน สับปะรด มาทำปุ๋ย เป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนที่มีอาชีพขายผลไม้ โดยทางวัดจะสอนวิธีทำให้กับคนที่สนใจไม่ว่าจะทำปุ๋ยด้วยมือหรือเครื่องจักร พอเห็นเป็นรูปร่างชัดเจน คนก็อยากทำตาม"
"หากเรามองแบบไม่มีปัญญาก็จะมองขยะเป็นขยะ แต่ถ้าหากมองอย่างผู้มีปัญญาก็จะเห็นว่านั่นคือวัตถุดิบในการทำสินค้า ทางวัดนับหนึ่งให้ ญาติโยมนับสอง เดี๋ยวก็มีองค์กรมาช่วยนับสามนับสี่ ขยายวงออกไป ขยะจะล่องหนจริงๆ ในอนาคต” เจ้าอาวาสวัดจากแดง กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เดินหน้าโครงการ Care the Whale
ด้าน “นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แคมเปญดังกล่าว เป็นโครงการลูกของ Care the Whale : ขยะล่องหน โดยใช้อีกโมเดลหนึ่งเพื่อปรับใช้กับชุมชน ไม่ให้เกิดเป็นร่องรอยขยะเหลือใช้ และเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อม
เป้าหมาย คือ นำของเหลือใช้ กลับไปสู่กระบวนการสร้างสิ่งใหม่ๆ เริ่มที่ชุมชนบางกระเจ้า โดยตลาดหลักทรัพย์ มีแพลตฟอร์มกลางในการรับขยะไปรีไซเคิล และ อัพไซคลิง มีการบันทึกจำนวนขยะที่เข้าโครงการที่ชาวบ้านเก็บได้ มีข้อมูลการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น
“เรามีผู้สนับสนุนในการเป็นแรงจูงใจในการแยกขยะ คือ บมจ. สหพัฒนพิบูล เพื่อผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ แยก จัดการกับของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ และต่อไปเราคาดหวังว่าจะเป็นความคุ้นชิน แม้จะไม่มีแรงจูงใจ คนในชุมชนจะยังคงแยกขยะต่อไป แม้โครงการจะจบไป โครงการนี้ น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ปริมาณขยะที่อาจจะถูกทิ้ง สามารถกลับมารีไซเคิลได้ มีขยะเหลือทิ้งลดลง โดยเริ่ม 1 ก.ย. ถึงสิ้นปี และหวังว่าจะเป็นโมเดลต้นแบบในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นพเก้า กล่าว
ขณะเดียวกัน บมจ. สหพัฒนพิบูล ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าอุปโภค บริโภค สำหรับให้คนในชุมชนได้นำขยะมาแลก โดยกำหนดเป็นคะแนน และส่งสินค้าให้ทางวัดจากแดง สร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ “ผาสุข รักษาวงศ์” รองประธานกรรมการบริหาร บมจ. สหพัฒนพิบูล กล่าวเสริมว่า จุดมุ่งหมายแรกของเรา คือ ชุมชนบางกระเจ้า สิ่งที่น่าสนใจ คือ ชุมชนบางกระเจ้า 6 ตำบล มีปริมาณขยะเดือนหนึ่ง 4 ตัน หรือ 4,000 กิโลกกรัม
ขณะที่ ในกทม. มีหลายชุมชน คิดว่าหากทำทุกชุมชนจะมีปริมาณขยะเท่าไหร่ที่จะหายไป เราคาดหวังว่าจะสามารถขยายไปชุมชนอื่น สามารถลดปริมาณขยะ ลดค่าครองชีพช่วงโควิด เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ารีไซเคิล เป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป
- รู้จัก Care the Whale ขยะล่องหน
โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน ซึ่งก้าวสู่ปีที่ 2 เกิดจากเป้าหมายของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการสร้างโอกาสการเติบโตอย่างสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม (Balanced Growth) เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน จึงเกิดความร่วมมือโครงการ Care the Whale ขยะล่องหน
เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในข้อ 13 “Climate Action” ข้อ12 “Responsible Consumption and Production” และข้อ 17 “Partnerships for the Goals” มีพันธมิตรและเครือข่ายกว่า 30 องค์กร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการบนพื้นที่ถนนรัชดาภิเษก 14 แห่ง รวมถึงผู้ประกอบการทางสังคม องค์กรพันธมิตรในธุรกิจด้าน Circular Economy และหน่วยงานภาครัฐ
ตลอดทั้งปี 2563 ร่วมลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะและคัดแยกขยะได้ถึง 4,268,495.04 Kg.Co2e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่อายุ 10 ปี จำนวน 474,277 ต้น ในด้านกระบวนการปฏิบัติ สมาชิกสามารถบริหารจัดการขยะตั้งแต่การแยกขยะจากต้นทางไปสู่ปลายทางเพื่อเข้าสู่กระบวนการ Circular Economy ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปี 2564 โครงการ Care the Whale มุ่งขยายความร่วมมือไปยังพื้นที่นอก ถ.รัชดาภิเษก โดยร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจ และภาคชุมชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมพัฒนา Climate Care Calculator Digital Platform เป็นเครื่องมือบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และคำนวณเป็นตัววัดผลค่าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์และพัฒนาการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ