แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ วอนรัฐช่วยแก้ปัญหาโควิดระลอกนี้ไม่มีกินแล้ว
"โควิดระลอก 3" มีคนหลายกลุ่มเดือดร้อนในเรื่องทำมาหากิน โดยเฉพาะกลุ่มคนขับแท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์ อยากให้รัฐช่วยแก้ปัญหา และแก้ให้ถูกจุด
วิกฤติโควิดครั้งนี้ นอกจากปัญหาโรคภัยที่สร้างผลกระทบในทุกเรื่อง ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และสามล้อ ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องปากท้อง แทบจะไม่มีช่องทางทำมาหากิน
วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานมูลนิธิเพื่อคนขับรถแท็กซี่ กล่าวว่า การระบาดของโควิดถือว่าหนักสุด นานสุดที่เคยเจอวิกฤติ สร้างผลกระทบกับคนขับแท็กซี่กว่า 80% อย่างกรณีนักท่องเที่ยวจีนลดฮวบ แท็กซี่ก็ได้รับผลกระทบ ซ้ำยังพบแท็กซี่ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นรายแรกของประเทศ ทำให้รัฐบาลออกมาตรการมากมาย กระทบโดยตรง
ทั้งมาตรการงดเดินทาง ปิดสนามบิน ปิดสถานีขนส่ง ซึ่งที่ผ่านมาคนขับแท็กซี่พยายามปรับตัว แต่หลายคนไปต่อไม่ไหว ทำให้คนขับแท็กซี่กว่า 8.3 หมื่นคัน เลิกขับรถกลับภูมิลำเนาไป 6 หมื่นคน เหลือให้บริการประมาณ 2 หมื่นคัน
“ตอนนี้หาเงินได้ไม่เกิน 300-400 บาทต่อวันจากการออกมาขับรถ 10 กว่าชั่วโมง เติมแก๊ส 200 บาทเหลื อ100 บาท กินใช้ระหว่างทางทั้งวัน เหลือเข้าบ้าน 30-40 บาท ไม่สามารถใช้ชีวิตในกทม.ได้ ถ้าสถานการณ์นานกว่านี้พวกเราคงเหลือจำนวนน้อยกว่านี้” วิฑูรย์ เล่า
วอนรัฐเจรจาไฟแนนซ์พักชำระหนี้
แม้เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเขาได้นำแท็กซี่ไปจอดหน้ากระทรวงต่างๆ และยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหา 7ข้อ
โดยข้อหลัก คือในจำนวนคนที่เลิกขับ 6 หมื่นคน ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเช่าซื้อ พอส่งคืนอู่รถ อู่รถยังต้องมีภาระกับไฟแนนซ์อยู่ จึงอยากให้รัฐเจรจาไฟแนนซ์ให้พักชำระหนี้ รวมถึงให้การช่วยเหลือคนขับด้วย
วิฑูรย์ยอมรับว่า คนขับแท็กซี่เดือดร้อนหนัก บางคนฆ่าตัวตายไม่มีคนรู้สาเหตุ แต่เขียนจดหมาย บอกว่าอยากเห็นลูกบวช แต่อยู่ไม่ไหวเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน เช่าซื้อรถ ไม่มีเงินเหลือเข้าบ้าน
"อยากให้รัฐช่วยลดค่าเชื้อเพลิง เพื่อต่อชีวิตให้คนเหล่านี้เหลือเงินซื้อข้าวก่อนได้ไหม ในขณะที่ปตท.กำไรเข้าหลวงมหาศาล ยังดีที่กระทรวงแรงงานก็ให้เข้ามาตรา 40 ได้เงินเยียวยามา 5,000 บาท และได้ถุงยังชีพ จึงพอประทังได้บ้าง ”
เรียกร้องรัฐช่วยลดค่าน้ำมัน
ส่วนวินมอเตอร์ไซค์ก็เดือดร้อนไม่แพ้แท็กซี่ วสันต์ ศรีมาก เครือข่ายวินมอไซค์ ขับขี่ปลอดภัยใจอาสา ปกติขี่จักรยานยนต์รับจ้างอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยหอการค้า เดิมรายได้วันละ700-800 บาทแต่ทุกวันนี้ได้ไม่ถึง 300 บาท
“เพื่อนๆ บางคนต้องปล่อยเสื้อวินไปขับแกร๊บส่งอาหาร ตอนนี้เหลือเสื้อวินเพียง 30 ตัว จากปกติ 60 ตัว แต่ก็ยอมรับว่ามีบางคนไม่ปรับตัว จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลลดค่าน้ำมัน เพื่อช่วยลดรายจ่ายอีกทาง”
ขณะที่ ไสว ไพรศาล ผู้แทนเครือข่ายสามล้อไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ กลัวว่าสามล้อจะหายสาบสูญเหลือเพียงตำนาน ที่หัวลำโพงเดิมมีกว่าสามล้อบริการ 50-60 คัน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 15 คัน
“บางครั้งออกมา 3 ชั่วโมงไม่ได้ลูกค้าสักคน เมื่อก่อนรายได้ขั้นต่ำ 600-700 บาท ทุกวันนี้วันละ 200 ยังไม่ได้ ถ้าได้ 300 บาทถือว่าฟลุ๊ค แต่ออกมาดีกว่าอยู่บ้านไม่มีอะไรกิน อยากให้รัฐช่วยลดค่าเชื้อเพลิง แต่หากสถานการณ์แย่ลงกว่านี้จะกลับต่างจังหวัด”
รัฐต้องแก้ปัญหาระยะยาว
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ควรมีการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะคนขับรถรับจ้างถึงแม้จะออกมาขับรถทุกวัน แต่รายได้ไม่มาก เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาภัพที่สุด ไม่มีหลักประกันอะไรเลย
“รัฐบาลจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีความทัดเทียมกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ แน่นอนระยะสั้นรัฐบาลเอาเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา40 เพื่อให้ได้รับเยียวยา แต่ก็เหมือนบีบบังคับให้เข้าระบบประกันสังคม แต่จริงๆ ต้องแก้ปัญหาระยะยาวด้วย
อย่างแท็กซี่ต่างประเทศไม่ใช่แค่มีกิน แต่มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคามิเตอร์สมเหตุสมผล ดังนั้นนอกจากเรียกร้องการลดราคาเชื้อเพลิงแล้ว ตนเห็นว่าควรมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง”
.............
จากการเสวนาออนไลน์ “แท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซต์ ลมหายใจยุคโควิด-19” จัดโดยเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)