อภ. จัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด เป็นไปตามกฎหมาย
กรมบัญชีกลางยัน อภ. จัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดตามข้อบังคับ อภ. เองได้ ด้าน ผอ.อภ. แจงการจัดซื้อจึงเป็นไปตามกฎหมาย ปมยื่นป.ป.ช.ตรวจสอบได้ส่งมอบหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 ก.ย. 2564 ในการแถลงข่าวประเด็น “การจัดหาชุดตรวจโควิด-19 ATK 8.5 ล้านชุด” นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขอชี้แจงกระบวนการจัดซื้ออจัดจ้างเอทีเคเ 8.5 ล้านชิ้น ให้เกิดความชัดเจนหลังจากมีข้อสังสัยจากกลุ่มบุคคล โดยอภ.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ซึ่งพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 7 (1) ระบุชัดเจนว่า พรบ.นี้ไม่ได้ใช้บังคับใช้แก่การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสหากิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง เพราะฉะนั้นพรบ.นี้ไม่ได้บังคับใช้กับอภ.
ทั้งนี้ อภ.ได้มีการจัดทำข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจําหน่าย พ.ศ.2561 ของ อภ.เอง สอดคล้องกับมาตรา 8 ของพรบ.นี้ ภายใต้หลักการคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและตรวจสอบได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 3 ก.ค. 2561 เรียบร้อยแล้ว
นพ.วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือตอบข้อหารือของอภ.ที่ได้นำเรียนเพื่อปรึกษาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564 ความว่า อภ.สามารถดำเนินการจัดซื้อเอทีเค 8.5 ล้านชุด ตามข้อบังคับของอภ.ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯได้ ดังนั้น การที่อภ.ได้ดำเนินการจัดซื้อเอทีเค 8.5 ล้านชิ้นให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยรพ.ราชวิถีเป็นผู้จัดหาเพื่อให้หน่วยบริการในเครือข่ายและประชาชนจึงเป็นไปโดยชอบตามกฎหมาย
กรณีที่มีผู้กล่าวอ้างอภ.ใช้ข้อบังคับของอภ.ไม่ถูกต้องนั้น นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผอ.อภ. กล่าวว่า ประเด็นที่มีข้อสงสัยว่าทำไมอภ.ไม่จัดซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ และไม่ซื้อจากในบัญชีรายชื่อที่อภ.มีอยู่นั้น ขอชี้แจงว่า การจะซื้อเอทีเคโดยตรงจากต่างประเทศมีข้อจำกัด เพราะ 1.ในประเทศมีผู้นำเข้ามาแล้วจำนวนมากราย โดยในวันที่ประกาศให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง 25 ราย ปัจจุบันมี 40 กว่าราย จึงมีผู้นำเข้าและขายและผ่านการขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้วจำนวนมาก อีกทั้ง การผ่านการขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์อย.และผ่านประเมินประสิทธิภาพโดยโรงเรียนแพทย์ อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือนจะสามารถมาจำหน่ายได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในการนี้ต้องการใช้อย่างเร่งด่วนจากสปสช.ผ่านรพ.ราชวิถี อภ.จึงไม่ได้เลือกวิธีการซื้อโดยตรงจากต่างประเทศอีกทั้ง อภ.ไม่ใช่องค์กรที่แสวงหาผลประโยชน์ เราไม่แข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าในระยะนี้ จึงไม่นำเข้าจากต่างประเทศ
ส่วนที่ไม่ซื้อจากบัญชีที่ขึ้นทะเบียนของอภ. นางศิรินุช กล่าวว่า ข้อบังคับอภ. การคัดเลือกจะสามารถซื้อผ่านบัญชีอภ.ได้ก็จริง แต่ชุด ATK เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ และเพิ่งนำมาใช้ช่วงนี้ ขณะที่ อย.มีการขึ้นทะเบียนผ่านขั้นตอนต่างๆไปเมื่อช่วงต้นก.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น อภ.จึงไม่มีการประเมิน หรือขึ้นทะเบียนไว้ในระบบบัญชีของอภ. จึงไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ ส่วนทำไมอภ.จึงใช้วิธีคัดเลือกนั้น เนื่องจากตามข้อบังคับ ข้อ 13(2) ซึ่งสามารถทำได้ เพราะเป็นความต้องการใช้จากลูกค้าอย่างเร่งด่วน และในประเทศมีผู้จำหน่ายมากรายจึงใช้วิธีคัดเลือก และทั้งหมดเป็นไปตามข้อบังคับที่ทางอภ.ได้รับการยกเว้นการใช้ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
ประเด็นความมั่นใจหลังรับมอบสินค้าและกระจายไปในพื้นที่ที่มีการกำหนดจากสปสช.ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า วันที่ 10 ก.ย.ชุดตรวจโควิด ATK นำเข้ามาล็อตแรกแล้ว 3 ล้านชุด จะมีคณะกรรมการตรวจรับ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุณภาพทำการตรวจรับ และสุ่มตัวอย่างนำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งจะมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานมายืนยันคุณภาพอีกครั้ง จากนั้นจะกระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ และเมื่อมีการกระจายส่งไปแล้วนั้น อภ.มีการเก็บตัวอย่างไว้จำนวนหนึ่ง หากมีประเด็นปัญหาสามารถตรวจสอบกลับได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงขั้นตอนนำเข้าชุดตรวจ ATK ล็อตต่อไป นางศิรินุช กล่าวว่า หลังจากล็อตแรกนำส่ง 3 ล้านชุด ในสัปดาห์หน้าจะส่งมอบอีก และจะทยอยส่งมอบ 8.5 ล้านชุดไม่น่าเกินกลางเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับการแจ้งจากบริษัทว่าทางจีนก็มีประเด็นปัญหาเล็กน้อยในการขนส่งข้ามมา จึงต้องมีการติดตามกันอย่างใกล้ชิด และจะนำเรียนอีกครั้ง ส่วนกรณีการป้องกันการรับแจกแล้วไปจำหน่ายต่อนั้น มีการป้องกันไว้ระดับหนึ่งคือข้างกล่องบรรจุภัณฑ์ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามจำหน่าย เพราะฉะนั้นหากมีการนำไปจำหน่ายทั้งกล่องคนที่ซื้อก็จะรู้ได้ และการแจกให้กลุ่มเสี่ยงจะแจกให้บุคคลละ 2 ชิ้นเท่านั้น
นพ.วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า จะเร่งรัดให้ทางบริษัทมีการจัดส่งให้ทัน เนื่องจากมีสัญญาอยู่ ไม่ต้องกังวล ส่วนเรื่องการตรวจสอบคุณภาพนั้น และในการกระจายให้ประชาชน ทางสปสช. จะเป็นผู้ชี้เป้าว่า มีกลุ่มเสี่ยงใดบ้าง และทางผู้ขายชุดตรวจ คือ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดส่ง โดยมีบริษัทไปรษณีย์ไทย นำส่งให้ตามจุดที่ สปสช.กำหนด ประมาณ 1,100 จุด มีร้านขายยา มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หน่วยบริการต่างๆ เป็นต้น ส่วนการป้องกันนำชุดตรวจที่แจกฟรีไปจำหน่ายนั้น ทาง อภ. ติดสติ๊กเกอร์ว่า ห้ามจำหน่าย เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า เป็นการแจกให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเท่าที่ได้ข้อมูลจากประชาชนจะได้รับคนละ 2 ชุด และมีการลงชื่อด้วย
ผู้สื่อข่าวถามกรณีความคืบหน้าร้อง ป.ป.ช. ประเด็นชุดตรวจ ATK นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ยื่น ป.ป.ช. แล้ว และมีการส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งก็ทำตามหน้าที่ ตามบริบท ให้เป็นเรื่องของทางกฎหมาย หากมีความคืบหน้าใดๆจะแจ้งให้ทราบต่อไป