"เสมา1" ส่งทีมสนับสนุนเกาะติดแก้ปัญหาให้ "โรงเรียน"
“เสมา1” มอบนโยบายผู้ตรวจศธ.-ประธานกลุ่ม Clusterสพฐ.-ที่ปรึกษาอาชีวศึกษา รับหน้าที่สนับสนุนการจัดการศึกษา แก้ปัญหาให้ "โรงเรียน" ในสถานการณ์ โควิด-19 ทุกพื้นที่
วันนี้ (16 ก.ย.2564) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมทางไกลมอบนโยบายการตรวจติดตามเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เข้าร่วม ว่า เราอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาระยะหนึ่งแล้ว และต้องอยู่ในสถานการณ์นี้ไปอีกระยะหนึ่ง การใช้ชีวิตวิถีใหม่แบบ New Normal และการเรียนรู้ต่างๆต้องดำเนินต่อไป
การศึกษาเป็นความคาดหวังของสังคม และเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่ต้องทำให้ลูก หลานของเราเข้าถึงการเรียนรู้ได้ต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ ซึ่งการตรวจติดตามเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษานี้มีผู้รับผิดชอบหลัก 3 กลุ่มประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการ ศธ., ประธานกรรมการกลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการ (Cluster) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และที่ปรึกษาอาชีวศึกษา รวม 30 กว่าคน
โดยผู้รับผิดชอบหลักนี้ถือเป็นข้อต่อสำคัญในการเชื่อมนโยบาย ศธ.กับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา พร้อมกันนี้จะนำผลการตรวจติดตามสื่อสารกลับมาที่ส่วนกลาง เพื่อนำข้อมูลสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ย้ำทีมสนับสนุนติดตามต้องไม่สร้างภาระให้รร.
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่าการลงพื้นที่ตรวจติดตามฯ ไม่ใช่การตรวจสอบ ต้องเป็นแบบกัลยาณมิตร ไม่สร้างภาระงานให้โรงเรียน เป็นการสนับสนุน หรือ SUPPORTER เน้นข้อเท็จจริงเชิงคุณภาพครอบคลุมทุกมิติ ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น ต้องเรียบง่าย-กระชับ-ตรงประเด็น ซึ่งผู้รับผิดชอบหลัก 3 กลุ่มจะดูการจัดการศึกษาของทุกสังกัดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งการศึกษาสายสามัญศึกษา และอาชีวศึกษา ทั้ง สถานศึกษาของรัฐและเอกชน โดยค้นหาปัจจัยที่สำคัญในระดับพื้นที่ สถานศึกษา ที่สะท้อนสภาพปัจจุบันและปัญหา เพื่อนำสู่การสนับสนุนส่งเสริม รู้ปัญหาได้เร็วขึ้นและแก้ปัญหาได้ทันที
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการตามนโยบายต่างๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสอน 5 รูปแบบ การลดภาระนักเรียน ลดภาระครู ลดภาระผู้ปกครอง แต่ก็ยอมรับว่าผู้ปฏิบัติยังมีความกังวลสงสัยในนโยบายบางอย่าง ส่งผลให้การปฏิบัติตามนโยบายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ดังนั้น ขอให้คณะผู้ตรวจติดตามฯได้ดูว่าการปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ มีปัญหา หรือ มีอุปสรรคอะไรบ้าง เพราะแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน ขณะที่นโยบายออกแบบกลางๆ และกำหนดแนวปฏิบัติไว้กว้างๆ เมื่อลงสู่การปฏิบัติอาจแตกต่างได้ จึงขอให้ทุกท่านช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจในนโยบายและหากพบปัญหาอุปสรรคอะไร ก็สื่อสารกลับมาที่ส่วนกลาง เพื่อปรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขให้เหมาะสมสามารถปฏิบัติในพื้นที่ได้จริง
- กำชับผู้รับผิดชอบคำนึงมาตรการป้องกันโควิด-19
หลังจากนี้ ตนจะลงพื้นที่ตรวจติดตามด้วยตนเองในบางพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ขอกำชับให้ผู้รับผิดชอบคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า เราต้องแบ่งเบาภาระสถานศึกษา ให้ทำงานด้วยความอุ่นใจ เช่น เรื่องการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน นักศึกษา อายุ12-18 ปี ที่ต้องดำเนินการตามปฏิทินการฉีดวัคซีนและช่วยสนับสนุนแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ รวมถึงโครงการ Sandbox safety zone in school (sss) เปิดเรียนมั่นใจ ปลอดภัยไร้โควิด-19 ด้วยการจำกัด บุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน และจะมีการคัดกรอง
โดยใช้วิธี Rapid Antigen Test เน้นการ ทำกิจกรรมในรูปแบบ Bubble and Seal และการเปิดเรียนที่สถานศึกษา หรือการดูแลนักเรียนที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งต่างๆเหลานี้ ต้องประสานงานกับสถานศึกษาและสาธารณสุขจังหวัดอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน.