ศธ. ผนึกกสศ. ปฎิรูปการศึกษา สร้างคุณภาพเท่าเทียม ตอบโจทย์ศตวรรษที่21
ศธ. - กสศ. - OECD แชร์ประสบการณ์ ปฏิรูปการศึกษา เดินหน้าสร้างพลังความร่วมมือสร้างการศึกษาทั่วถึง เท่าเทียม ที่มีคุณภาพตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ท่ามกลางสังคมโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และความต้องการผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วรายได้สูง ไทยตระหนักดีว่าสิ่งที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
คือการให้ความสำคัญการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและทักษะความสามารถที่ตอบโจทย์โลกโลกาภิวัฒน์ ซึ่งแนวทางที่จะสร้างคน “คุณภาพ” ขึ้นมาได้ ก็คือการสร้างระบบการศึกษาที่มี “คุณภาพ” และ “ทั่วถึงเท่าเทียม” สำหรับเด็กไทยทุกคน
อีกทั้งจาก เศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นการเกษตรกรรม13.3% อุตสาหกรรมการผลิต34%และอุตสาหกรรมการบริการ 34% สัดส่วนดังกล่าวทำให้ไทยต้องลงทุนในทรัพยากรมนุษย์อย่างชาญฉลาด มีคุณภาพ และเสมอภาค ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่
อ่านข่าว : ครูเฮ!!! "รัฐบาล" เร่ง "แก้หนี้" บุคลากรการศึกษาทั้งระบบ
- ศธ.ผนึกกสศ.สร้างการศึกษาคุณภาพเท่าเทียม
รมว.ศธ. ระบุว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมมือกับ กสศ. สร้างการศึกษาคุณภาพที่มีความเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพในด้านการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์และตอบรับกับโลกศตวรรษที่ 21 ขณะเดียวกันก็สร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอย่าง OECD จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิพากษ์ และอื่นๆ จากต่างประเทศซึ่งช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ในแต่ละโรงเรียน แต่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในระดับระบบของไทย ที่นำมาสู่การได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การปฏิรูปการศึกษา รวมถึงรับฟังคำแนะนำและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายในครั้งนี้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานอิสระ กสศ. ตระหนักดีกว่าเป็นเพียงองค์กรขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดในการทำงาน เมื่อเผชิญกับอุปสรรค หรือมีชิ้นส่วนที่หายไป กสศ. จึงไม่ลังเลที่จะสร้างเครือข่ายและติดต่อขอความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ เช่น OECD เพื่อเรียนรู้และนำมาปรับใช้ และไม่ใช่ว่า กสศ.จะต้องการทำงานแทนกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานอื่นๆ แต่อย่างใด สิ่งที่ กสศ. พยายามทำก็คือเชื่อมโยงชิ้นส่วนที่หายไป เติมเต็มช่องว่างขององค์ความรู้และเครือข่ายที่ว่างอยู่ โดยการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่มีในทุกระดับ ไล่เรียงตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาค จังหวัด ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่เอง
- ปฎิรูปการศึกษาเกิดขึ้นได้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
"เรามีหลักฐานที่ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อโรงเรียนทุกแห่งสามารถยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยตนเอง เช่นเดียวกับกรณีของเด็กนักเรียนที่เราต้องบ่มเพาะเพื่อให้เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ในทางของตน (self-directed learner) เราต้องการให้โรงเรียนเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สามารถยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนด้วยตนเองได้ เพียงแต่พวกเขา (โรงเรียน) อาจไม่สามารถลงมือทำด้วยตนเองได้ทันที จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างดี แม้ว่าเราจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่เราหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายโรงเรียนที่พร้อมสำหรับการปฏิรูปในระดับชาติในอนาคต” รองผู้จัดการ กสศ. กล่าว
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาของไทยมีความพยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้วนับตั้งแต่ปี1999 แต่ดำเนินการไปอย่างล่าช้า การจัดทำหลักสูตรฐานสรรถนะ (competency-based curriculum) ซึ่งนับเป็น1 ใน 5 แกนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทยก็ประสบปัญหาเช่นกัน
โดยมีสาเหตุหลักมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวคิดของหลักสูตรดังกล่าว จนทำให้เกิดการคัดค้านต่อต้าน ซึ่งต้องแก้ไขโดยการสร้างความเข้าใจต่อไป โดยได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะตั้งแต่ในช่วงปี 2019 ก่อนได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการให้จัดทำโครงการนำร่องในช่วงต้นปี 2020 โดยจะนำร่องการใช้งานหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน 265 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา 8 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทีมทำงานจะเก็บรวบรวมและประเมินข้อมูลเพื่อปรับร่างหลักสูตรในเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 ก่อนที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนในระดับประถมศึกษาทั่วประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมต่อไป
“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่โรงเรียน เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่บรรดาเด็กนักเรียนเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาเดินประท้วงและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ในการรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมถึงการศึกษางานวิจัยและประสบการณ์จากชาติสมาชิกในกลุ่ม OECD อย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ และฝรั่งเศส เป็นต้น ส่วนตัวเชื่อมั่นในพลังของความร่วมมือจากหลายฝ่าย และหลักสูตรจะไม่สามารถสมบูรณ์ได้ หากคณะกรรมการฯ ไม่เปิดรับฟังความเห็นจากโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงโรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ตามแนวชายแดนของประเทศ ซึ่งการที่จะเข้าไปรับฟังโรงเรียนเล็กๆ เหล่านี้ได้นั้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับ กสศ. และเครือข่ายอาสาสมัครต่างๆ กว่า 100 ชีวิต ในการทำให้การจัดการหลักสูตรการศึกษาลุล่วงตามเป้าหมาย"ดร.สิริกร กล่าว
Stephan Vincent-Lancrin นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะ OECD กล่าวว่า จุดประสงค์ของการพูดคุยครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์ในการพัฒนาต่อยอด “แนวคิด” การปฏิรูปการศึกษาที่ส่งเสริมความสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ (creative and critical thinking) ไปสู่การลงมือปฏิบัติ ก่อนขยายต่อยอดไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับหลักสูตรและนโยบายการศึกษาของประเทศไทย การเสวนาครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ไทยมีความพยายามในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ 1.การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาใหม่ที่มุ่งเน้นการสอนและประเมินโดยอิงตามความสามารถหรือความถนัดของผู้เรียนเป็นหลัก กล่าวคือหลักสูตรฐานสมรรถนะ (competency based learning) และ2. การตั้งหน่วยงานอิสระอย่าง กสศ.เพื่อพัฒนาการปฏิรูปนโยบายที่มีประสิทธิภาพจากระดับประเทศสู่ระดับห้องเรียน เพื่อรองรับทักษะศตวรรษที่21ในประเทศไทย
Andreas Schleicher ผู้อำนวยการสำนักงานด้านการศึกษาและทักษะของ OECD กล่าวว่า ขอชื่นชมแนวคิดและการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ครอบคลุมทุกด้าน โดยให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ มุ่งพัฒนาให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่งเสริมความร่วมมือในสังคมด้วยการเน้นการทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร และมุ่งมั่นผลักดันให้การปฏิรูปนั้นเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นต่อโลกในศตวรรษที่ 21 และเป็นเรื่องดีที่ ไทย ก็เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่พยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการศึกษาท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (competency-based learning) นั้น แนวคิดของการเรียนการสอนแบบนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรมที่ชวนให้เข้าใจผิดได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับแนวทางของ กสศ. ในการจัดทำโครงการนำร่องเพื่อจุดประกายให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ก่อนค่อยๆ ขยายต่อยอดออกไป พร้อมยกตัวอย่าง กรณีของสิงคโปร์ ซึ่งนำแนวคิดการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนมาปรับใช้ โดยให้ยึดเป็นศูนย์กลางในทุกการตัดสินใจภายในระบบการศึกษา เช่น ในการสอนวิชาพละศึกษา ครูจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังสอนจะช่วยให้เด็กรู้สึกรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อส่วนรวม รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ได้อย่างไร โดยครูจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ มากกว่าเพียงการผลิตซ้ำ