Circular Meal…กินเกลี้ยงโลก ไม่เหลือทิ้ง เกื้อกูลธรรมชาติ
รู้หรือไม่ ทั่วโลกมีอาหารเหลือทิ้งสูงถึง 2.5 พันล้านตัน หรือคิดเป็น 40% ของผลผลิตอาหารทั่วโลกที่ผลิตแล้วไม่ได้บริโภค ของเหลือทิ้งกลายเป็นขยะอาหารที่ส่งผลกระทบต่อโลก สร้างก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุปัญหาโลกร้อน
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Program) ประมาณการว่าทั่วโลกสูญเสียอาหารจากการบริโภคและกลายเป็น “อาหารเหลือทิ้ง” (Food Waste) 17% ของการผลิตอาหารโลก ในจำนวนนี้ 61% มาจากการบริโภคในครัวเรือน 26% จากภาคบริการอาหาร และ 13% จากภาคค้าปลีก
รายงาน Driven to Waste ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund : WWF) ร่วมกับค้าปลีกรายใหญ่ เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ระบุว่า ทั่วโลกมีอาหารเหลือทิ้งสูงถึง 2.5 พันล้านตัน คิดเป็น 40% ของผลผลิตอาหารทั่วโลกที่ผลิตแล้วไม่ได้บริโภค ผลที่ตามมาคือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นจาก 8% เป็น 10%
ในขณะที่ ประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากความยากจน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณอาหารเหลือทิ้งกับความขาดแคลนแล้ว ประชาคมโลกจำเป็นต้องหาวิธีบริหารจัดการอาหารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร ควบคู่กับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
เนื่องในวันอาหารโลก (World Food Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี โดยปีนี้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) กำหนดแนวคิดในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของอาหารและการได้มา คือ “Our actions are our future - Better production, better nutrition, a better environment and a better life” ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี
อุตสาหกรรมอาหาร เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแนวทางการลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภค โครงการ “Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” ริเริ่มโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (ประเทศไทย) หรือ SOS และบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP เพื่อนำอาหารส่วนเกินในกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่วย รวมถึงวัตถุดิบ ไปสร้างสรรค์เป็นอาหารมื้อพิเศษและสร้างคุณค่าให้กับสังคม
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเท่าเทียม ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเก็บกลับบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพลาสติก เพื่อร่วมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โครงการนี้ลดอาหารส่วนเกินของบริษัทฯ แล้วมากกว่า 2,800 กิโลกรัม หรือ 12,000 มื้อ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6,014 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับจำนวน 4,000 ชิ้น โดยอาหารและวัตถุดิบทุกล็อตได้รับการตรวจสอบคุณภาพจาก SOS และนำไปส่งมอบให้กับกลุ่มต่างๆ มากกว่า 10,000 คน
ขณะที่ GEPP ทำหน้าที่เก็บกลับบรรจุภัณฑ์และนำไปจัดการตามหลักการวิชาการ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
“โดม บุญญานุรักษ์” ประธานผู้บริหารฝ่ายการตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง GEPP กล่าวว่า โครงการนี้ มีการวัดผลในเชิงปริมาณสามารถเก็บพลาสติกได้ 4,000-5,000 ชิ้น ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 200 กิโลกรัมคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ แม้ยังดำเนินการในระยะสั้น แต่ก็สร้างผลกระทบเชิงบวกและวัดผลได้ชัดเจน การขยายผลโครงการฯจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน
ด้าน"ธนาภรณ์ อิสรานุกูล" ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิ SOS กล่าวว่า เป้าหมายการส่งอาหารส่วนเกิน (Surplus Food)ให้ชุมชนกลุ่มเปราะบาง ศูนย์พักคอย ชุมชนในพื้นที่ความเสี่ยงสูง เพื่อได้บริโภคอาหารปลอดภัย สะอาด มีคุณค่าโภชนาการอย่างเพียงพอ และยังช่วยลดขยะจากการทำลายทิ้งและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับโลก ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์เป็นศูนย์ในปี 2573 เช่นเดียวกัน