กว่าจะได้รับการช่วยเหลือ บันทึก 14 ปี "ครูจูหลิง" เสียชีวิตชายแดนใต้

กว่าจะได้รับการช่วยเหลือ บันทึก 14 ปี "ครูจูหลิง" เสียชีวิตชายแดนใต้

โศกนาฏกรรมทางการศึกษาที่ยังไม่คงลืมเลือนไปจากใจใครหลายๆคน กับการจากไปของ "ครูจูหลิง ปงกันมูล" ครูสาวชาวเหนือ จ.เชียงราย ที่ได้เดินทางไปเป็นครูสอนศิลปะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วถูกผู้ก่อเหตุรุมทำร้ายที่บ้านกูจิงลือปะ จ.นราธิวาส จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

เป็นเวลากว่า 14 ปีจากการเสียชีวิตของ "ครูจูหลิง  ปงกันมูล" ไม่ได้มีเฉพาะการจัดงานรำลึกถึงที่หอศิลป์ครูจูหลิง ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงรายบ้านเกิดของเธอเท่านั้น แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ยังมีเหตุการณ์เชื่อมร้อยโยงถึงครูจูหลิงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา

วันนี้(18 ต.ค.2564) ที่โรงเรียนอนุบาลดอยหลวง จ.เชียงราย พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจาก เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ "ครูจูหลิง ปงกันมูล" ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เร้น โดยมี น.ส.ตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)  พร้อมด้วยคณะผู้บริการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงพื้นที่จ.เชียงราย มอบเงินให้แก่ครอบครัวของครูจูหลิง โดยมีนางคำมี ปงกันมูล คุณแม่ของครูจูหลิง เป็นผู้รับเงิน

 

  • สิ้นสุดการรอคอย ครอบครัว "ครูจูหลิง"

คุณแม่คำมี ปงกัมมูล คุณแม่ครูจูหลิง กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตอันเนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,742,000บาท ซึ่งเงินเยียวยาก้อนสุดท้ายที่จะได้รับ โดยตนจะใช้เงินก้อนนี้ ในการดูแลรักษานายสูน ปงกันมูล ซึ่งเป็นบิดาของครูจูหลิง และเป็นผู้ป่วยติดเตียงจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก ที่จะมีค่ารักษาพยาบาลประจำทุกๆ3เดือน ครั้งละ7,000-10,000 บาท

ตอนนี้ทางครอบครัวไม่มีรายได้จากทางอื่น เพราะครอบครัวเรามีกันอยู่ 3คน พ่อ แม่ ลูก เมื่อลูกจากไป ทำให้ครอบครัวเหลือกัน2คน และก่อนหน้านี้แม่ต้องขายที่สวนยาง เพื่อนำเงินมาผ่าตัดพ่อที่เส้นเลือดในสมองแตกจำนวนหลักแสนบาท ฉะนั้น เงินเยียวยาในครั้งนี้ จะถือเป็นเงินก้อนสำคัญในการดูแลรักษาคุณพ่อและครอบครัวต่อไป

"คิดว่าการได้รับเงินครั้งนี้ จูหลิงรับรู้และดีใจที่แม่และพ่อได้รับเงินก้อนนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้จูหลิงได้ไปเข้าฝันญาติว่าอยากให้พ่อกับแม่ได้รับเงินเยียวยาไว เพราะส่งสารพ่อแม่ ซึ่งการรับเงินครั้งนี้ คงทำให้จูหลิงหมดห่วงได้บ้าง"คุณแม่คำมี กล่าว

คุณแม่คำมี กล่าวต่อว่าแม้จะเสียใจที่ครูจูหลิง ลูกสาวคนเดียวและความหวังของครอบครัวปงกันมูลจะเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบชายแดนใต้ แต่ก็ดีใจและภาคภูมิใจที่ลูกได้ทำหน้าที่ครูคอยดูแลเด็กๆอย่างเต็มภาคภูมิ ที่สำคัญ ทุกคนยังไม่เคยลืมจูหลิง มีการจัดงานระลึกต่อเนื่องทุกปีวันที่8 ม.ค. ที่หอศิลป์ครูจูหลิง แม้ปีนี้จะงดจัดกิจกรรม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ได้มีการทำบุญให้

 

  • มอบเงินเยียวยาครูใต้เสียชีวิต 14 ราย 

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า การมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว เพื่อมอบเงินให้แก่ทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตจากความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระหว่างปี 2547-2556 มีครูถูกกลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงทำร้ายจนเสียชีวิต 162 ราย พิการ 9 ราย รวม 171 ราย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มี ครูจูหลิง ปงกะนมูล ครูสอนวิชาศิลปะ โรงเรียนบ้านกูจิงลือ จ.นราธิวาส

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาส่งผลมิตคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 เห็นชอบสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ม.ค.2547 โดยให้ศธ.กระทจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยารายละไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยให้หักลบจากเงินเยียวยาที่เคยได้รับไปแล้ว และให้ศธ.จัดสวัสดิการด้านอื่นๆให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับส่วนราชการต่างๆด้วย

นอกจากนี้ ศธ.ได้ดำเนินการติดตามเร่งรัดให้ความช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา/ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตมาโดยตลอด โดยได้นำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และสำนักงบประมาณขอจัดตั้งงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งต่อมากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง อนุมัติให้ศธ.จ่ายเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบได้วันที่ 16 พ.ค.2564

ศธ.จึงออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 1 ก.ค.2564 และอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รอบที่ 1 จำนวน 14 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 37,182,000 บาท ทั้งนี้ครูจูหลิงจะได้รับเงินเยียวยา จำนวน 2,742,000 บาท และจะดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตอีก 13 ราย จำนวน 34,440,000 ภายในเดือนต.ค.2564

  • 19 ปี ต่อสู้เพื่อดูแลครูชายแดนใต้

นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เป็นเวลากว่า19ปีที่ทางสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ต่อสู้เพื่อให้ครูชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบให้ได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี2547 และจนกระทั่งปี2556 ก็ได้มีการมอบเงินเยียวยาไปส่วนหนึ่ง และในปีนี้ ถือเป็นการมอบเงินเยียวยาที่จะเป็นการสร้างกำลังใจให้แก่ครูชายแดนใต้ว่าจะได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่มีใครถูกทอดทิ้ง อีกทั้งจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครูชายแดนใต้ทุกคนได้ปฎิบัติหน้าที่ครูในพื้นที่ด้วยความสบายใจว่าจะมีการคอยดูแลพวกเขา

"ต้องขอบคุณทุกๆฝ่ายที่ได้มอบเงินเยียวยาช่วยเหลือครูชายแดนใต้ครั้งนี้ ครูผู้เสียสละชีวิตเพื่อสอนเด็ก เพราะการศึกษาจะเป็นหนทางเดียวในการหล่อหลอมเด็กให้เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ถูกหล่อหลอมไปในทางที่ผิด ซึ่งปัจจุบันครูในพื้นที่ชายแดนใต้ทุกสังกัดมีประมาณ40,000กว่าคน โดยสถานการณ์ปัจจุบันความไม่สงบต่างๆลดน้อยลงอย่างมาก และครูได้รับการดูแลอย่างดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีครูอีก100กว่าท่านที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หวังว่าการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของครูที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบชายแดนใต้ โดยเฉพาะครูและบุคลากรที่ทุพพลภาพจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ครูและบุคลากรกลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วย"นายบุญสม กล่าว

  • ระลึกเหตุการณ์ "ครูจูหลิง" เสียชีวิต

ย้อนรอยกลับเมื่อ14ปีที่ผ่านมาครูสาวชาวเหนือที่ต้องมาสละชีวิตที่จะนราธิวาส เริ่มต้นจากช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค.49 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองจำนวนกว่า 50 นาย เข้าปิดล้อมพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ เนื่องจากสืบทราบว่าผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงทหารเสียชีวิต 2 นายที่สถานีรถไฟลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้ไปหลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้าน

ผลจากการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 คน คือ นายอับดุลการีม มาแต และ นายมูหะมะสะแปอิง มือลี พร้อมยึดอาวุธปืนพกสั้นขนาด .45 ได้ 1 กระบอก และนำตัวทั้งสองไปสอบปากคำ พร้อมถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากหมู่บ้านกูจิงลือปะ

ในวันเดียวกัน เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีเสียงประกาศจากเครื่องขยายเสียงในหมู่บ้านให้ผู้หญิงไปรวมตัวกันที่หน้าโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ทำให้มีสตรีในหมู่บ้านไปรวมตัวกันเกือบร้อยคน เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ ครูจูหลิง และ ครูสิรินาถ ถาวรสุข สองครูสาวไทยพุทธกำลังทานอาหารอยู่ที่ร้านข้างๆ มัสยิดพอดี

จากนั้นก็มีหญิงชาวบ้านหลายคนกรูเข้าจับตัวครูสาวทั้งสอง แล้วนำตัวไปขังไว้ที่ห้องเก็บของภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห่างจากโรงเรียน 300 เมตรการจับตัวครูสาวทั้งสองคนของกลุ่มสตรีบ้านกูจิงลือปะ เพื่อเป็นข้อต่อรองให้ปล่อยตัว นายอับดุลการีม มาแต และ นายมูหะมะสะแปอิง  มือลี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบสวนเมื่อช่วงเช้า

ระหว่างที่ครูจูหลิงและครูสิรินาถถูกขังอยู่นั้น ผู้หญิงในหมู่บ้านอีกกลุ่มหนึ่งและบรรดาเพื่อนครูได้พยายามเจรจาขอร้องให้ชาวบ้านปล่อยตัวครูสาวทั้งสองคน แต่ก็ไม่เป็นผล ซ้ำร้ายในช่วงเวลาเดียวกันยังมีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ใช้ผ้าคลุมปิดบังใบหน้า บุกเข้าไปทำร้ายครูสาวทั้งสอง โดยใช้ไม้ทุบตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและสลบไป

 ต่อมาผู้ใหญ่บ้านได้เข้าไปเจรจาพูดคุยกับชาวบ้าน จนสามารถช่วยเหลือและนำครูสาวทั้งสองออกมาได้ ก่อนจะรีบนำส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส แต่อาการสาหัส ต้องส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ครูสิรินาถอาการเบากว่า เธอจึงหายเป็นปกติ แต่ครูจูหลิงอาการสาหัสมาก เนื่องจากถูกตีด้วยไม้เข้าที่ศีรษะ สมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ระหว่างรักษาตัว ครูจูหลิงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และยังได้รับกำลังใจมากมายจากประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ

จนกระทั้งเย็นวันที่ 8 ม.ค.2550 ครูจูหลิงก็จากไป สุดความสามารถที่คณะแพทย์จะยื้อชีวิตเอาไว้

 

อ้างอิง: สำนักข่าวอิศรา