เฝ้าระวัง "โรคไข้เลือดออก" ปี 64 พบผู้ป่วย 7,720 ราย คาดปี 65 ระบาดรุนแรง

เฝ้าระวัง "โรคไข้เลือดออก" ปี 64 พบผู้ป่วย 7,720 ราย คาดปี 65 ระบาดรุนแรง

ขณะที่เรากำลังต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโควิด-19 แต่อีกโรคหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน นั่นก็คือ “โรคไข้เลือดออก” มีรายงานว่าขณะนี้ ไทยพบผู้ป่วยกว่า 7,720 ราย สูงวัย โรคประจำตัว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เสียชีวิต มีการคาดการณ์ว่าจะมีการระบาดมากขึ้นในปีหน้า

โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศ ที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น

 

  • คาดปี 2565 ระบาดรุนแรง

 

แม้ในปีนี้ การระบาดของไข้เลือดออกเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา จะลดลน้อย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุข เมื่อเดือนที่ผ่านมา “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดี กรมควบคุมโรค (คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธาน โดยระบุว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบหลักการการวางระบบและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ภายใต้ พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

 

เนื่องจากปี 2564 โรคติดต่อนำโดยแมลงที่สำคัญ คือ ไข้เลือดออก มีการระบาดค่อนข้างน้อย จึงคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีการระบาดรุนแรงของโรคไข้เลือดออก เพราะโรคไข้เลือดออกจะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี  จึงเตรียมการ วางระบบและจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

  • ปี 64 ไทยพบผู้ป่วยแล้ว 7,720 ราย

 

สถานการณ์โรคไข้เลือดออก พ.ศ. 2564 วันที่1 มกราคม – 12 ตุลาคม 2564 จาก ระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 กองระบาดวิทยา  พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สะสม 7,720 ราย อัตราป่วย 11.61 ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วยสะสมน้อยกว่าปีที่ผ่านมาและน้อยว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 88 

 

เฝ้าระวัง \"โรคไข้เลือดออก\" ปี 64 พบผู้ป่วย 7,720 ราย คาดปี 65 ระบาดรุนแรง

 

จากข้อมูลพบว่า “ภาคเหนือ” มีอัตราป่วยสูงที่สุด ผู้ป่วยเป็นเพศหญิง 3,649 ราย เพศชาย 4,071 ราย อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย คือ 1:1.12 อัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี รองลงมา ได้แก่ อายุ 15 - 24 ปี และ อายุ 0 - 4 ปี ตามลำดับ

 

เฝ้าระวัง \"โรคไข้เลือดออก\" ปี 64 พบผู้ป่วย 7,720 ราย คาดปี 65 ระบาดรุนแรง

ผู้ป่วยเสียชีวิต 6 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.08 เป็นเพศชาย 5 ราย และเพศหญิง 1 ราย อยู่ในกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี และ 65 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเด็ก คือ มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และในผู้สูงอายุ คือ การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง

 

เฝ้าระวัง \"โรคไข้เลือดออก\" ปี 64 พบผู้ป่วย 7,720 ราย คาดปี 65 ระบาดรุนแรง

 

  • กทม. พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1,226 ราย 

 

สำหรับในพื้นที่กทม. จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกสัปดาห์ที่ 39 ปี 2564 สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 2 ต.ค. 64 พบผู้ป่วยแล้ว 1,226 ราย อัตราป่วย 21.94 ต่อประชากรแสนคน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยเขตที่มีอัตราป่วยมากที่สุด ได้แก่ ยานนาวา 69.22 รองลงมา ได้แก่ ยางนา 45.18 และ บางขุนเทียน 44.05 ต่อแสนประชากร โดยกลุ่มเสี่ยง มากที่สุด ได้แก่ อายุ 5 – 14 ปี อัตราป่วย 51.79 ต่อแสนประชากร

 

เฝ้าระวัง \"โรคไข้เลือดออก\" ปี 64 พบผู้ป่วย 7,720 ราย คาดปี 65 ระบาดรุนแรง

  • สาเหตุของไข้เลือดออก

 

เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็น single - strand RNA จัดอยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae มี 4 serotypes คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 serotypes มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ 


เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่ง จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้

 

  • วิธีการติดต่อ

 

สามารถติดต่อกันได้โดยมี ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อ ยุงลาย ตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้

 

  • ระยะฟักตัว

 

- ระยะเพิ่มจำนวนของไวรัสเดงกี ในยุง ประมาณ 8-10 วัน

- ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกี ในคน ประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5-8 วัน

 

  • ระยะติดต่อ

 

โรคไข้เลือดออก ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมี ยุงลาย เป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน

 

  • อาการและอาการแสดง

 

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี (dengue fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (dengue hemorrhagic fever: DHF) และรุนแรงมาก จนถึงช็อกและเสียชีวิต (dengue shock syndrome: DSS)

 

  • อาการสำคัญ 4 ประการ

 

อาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้ 

- ไข้สูงลอย 2-7 วัน

- มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง

- มีตับโต กดเจ็บ

- มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

- การดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว

 

  • ระยะไข้ 

 

1. ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส

2. บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน

3. ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face)

4. ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ

5. เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน

6. อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ 

7. อาการเลือดออกที่พบบ่อย คือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้

8. อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน

9. ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำ ตับโต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

 

  • ระยะวิกฤติ/ช็อก

 

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

 

  • ระยะฟื้นตัว

 

ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

  • การป้องกันโรค 

 

ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีตลอดระยะวิกฤต คือ ช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีการรั่วของพลาสมา หลักในการรักษามีดังนี้


ระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูงมาก ให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน, ibrupophen, steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น

 

ให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา

 

ดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย


สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษาเพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ด้วย สารน้ำ พลาสมา หรือสาร colloid อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

 

อ้างอิง : กรมควบคุมโรค