ทำไม "บุหรี่ไฟฟ้า" จึงไม่ควรถูกกฎหมายในประเทศไทย
ขณะนี้ เรื่องของ "บุหรี่ไฟฟ้า" ถือเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันหลายฝ่าย มีข้อกังวลถึงเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะเดียวกัน "คนรุ่นใหม่" ซึ่งถือเป็นกลุ่มน่ากังวลในการเข้าถึง พวกเขา มองเรื่องนี้กันอย่างไร
เรื่องของ "บุหรี่ไฟฟ้า" ซึ่งมีการถกเถียงกันว่าควรจะถูกกฎหมายหรือไม่ มีหลายฝ่ายแสดงถึงความเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่น่ากังวลหากเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 64 “พชรพรรษ์ ประจวบลาภ” เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาคนรุ่นใหม่ “Gen Z Gen Za ท้าคุย” เรื่อง ทำไมบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่ควรถูกกฎหมายในประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ "สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย" โดยระบุว่า ในฐานะ คนรุ่นใหม่ ที่ทำงานกับเยาวชนมานาน เรื่องของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่กำลังถกเถียงในขณะนี้ ต้องยอมรับตรงๆ ว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพ และหากมีข้อคิดเห็นว่าอันตรายน้อยกว่า “บุหรี่” ปกติ เถียงกันให้ตายก็ยังไม่มีข้อสรุป ดังนั้น วันนี้เรารู้ว่ามันอันตรายไม่ว่าจะมากจะน้อย ไม่ควรเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับใครเลยก็ตาม
ในทางกลับกัน หากเราพูดถึงการทุจริตคอรัปชัน โกงมาก โกงน้อย ความหมายก็เท่ากับโกง ดังนั้น ในวันนี้หากจะพูดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าและควรเป็นสินค้าทางเลือก มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด ถึงเวลาแล้วที่เราอาจจะต้องยอมรับว่าอันตรายมากหรือน้อย ไม่ควรเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับใครเลยก็ตาม
“การ เลิกบุหรี่ เป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง คนเราอาจจะเลิกยากและง่ายแตกต่างกัน แต่สุดท้ายถ้าเราอยากจะสร้างสุขภาพร่างกายแข็งแรง การเลิกบุหรี่เป็นตัวเลือกแรกที่เราควรจะเลือก มากกว่าการหาอะไรมาทดแทน อีกเรื่องที่สำคัญ คือ วันนี้เห็นการสนับสนุนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะที่เราทำงานกันอย่างยากลำบาก ณ เวลานี้สิ่งที่ควรจะสนับสนุนในตอนนี้คือ การปราบปรามสิ่งของผิดกฎหมายอยู่ในโลกสังคมออนไลน์ เช่น พนันออนไลน์ บุหรี่ไฟฟ้าที่ลักลอบจำหน่าย ไม่นับอาวุธปืน มีด ผิดกฎหมายที่ทำให้ก่ออาชญากรรม วันนี้ทำได้ดีหรือยัง”
พชรพรรษ์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ ประเทศที่มีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเกิน 70 ประเทศ มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ยอมรับ เช่น ประเทศใกล้บ้านเรา ลาว ก็ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า , สิงคโปร์ กฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าประเภทของเล่น (Toy Cigarettes) ขณะที่ ประเทศที่มีกฎหมายเอื้อต่อการขายบุหรี่ไฟฟ้า หากดูประเทศเหล่านั้นอัตราการใช้ต่ำมาก ต่อให้ขาย แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็น้อย ดังนั้น เราไม่ควรเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือก เราไม่สามารถเอางบประมาณ ที่ใช้รณรงเลิกบุหรี่ไปสู้กับการทำการตลาดอุตสาหกรรมยาสูบได้ เพราะเงินเราน้อยมาก แต่เราหยุดและถอยไม่ได้ การปรับพฤติกรรมคนเป็นเรื่องที่ยากมาก”
- ได้ไม่คุ้มเสีย
ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2560 สรุปตัวเลข 52,182 ล้านบาท เป็นค่ารักษาผู้ป่วยที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ แบ่งเป็น ค่ารักษา เฉพาะโรคจากการสูบบุหรี่ 21,389 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นค่ารักษาโรคปอด 10,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 กว่าล้านบาท สรุปแล้ว ปี 2560 ประเทศไทยสูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ภาษีพี่น้องประชาชนกว่า 52,182 ล้านบาท
“หากวันนี้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีเพิ่ม ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง การเก็บภาษีบุหรี่ธรรมดา 43,000 กว่าล้านบาท หากเติมบุหรี่ไฟฟ้า 1,800 กว่าล้านบาท รวม 45,000 กว่าล้านบาท หักลบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ค่ารักษาพยาบาลที่หักเอาเฉพาะบุหรี่ปกติ 52,182 ล้านบาท ลบ 45,000 กว่าล้านบาท รัฐยังขาดทุนอยู่กว่า 6,000 กว่าล้านบาท มันจะไม่มีความคุ้มค่าใดๆ เพราะแม้เศรษฐกิจจะดีมากๆ เราก็ต้องเอาเงินวนกลับไปรักษาคนที่ป่วยด้วยการสูบบุหรี่” พชรพรรษ์ กล่าว
- ควรควบคุม บุหรี่ปกติ ให้สำเร็จ
“โยธิน ทองพะวา” ประธาน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ต้องย้อนกลับมาดูในบริบทของเรา มีการควบคุมยาสูบ เหล้า บุหรี่ อายุที่เข้าถึงบุหรี่ เหล้า มีการกำหนด แต่เราควบคุมได้ขนาดนั้นหรือไม่ การปฏิบัติในการควบคุมยังไม่บรรลุผล หากยังควบคุมสิ่งนี้ไม่ได้ และยังเปิดโอกาสให้อีกสิ่งหนึ่งเข้ามา อันตรายจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล
"ไม่ได้ปฏิเสธว่าแนวคิดไม่ดี เพราะต้องดูผลลัพธ์อีกนาน ประเทศที่อนุญาตก็อาจจะมาทบทวนว่าผลเป็นอย่างไร แต่ประเทศไทย การควบคุมบุหรี่ปกติ ยังไม่สำเร็จ แต่เราไปต่ออีกเรื่องหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดต่างและหาเหตุผลมาอธิบาย เป็นการหาฉันทามติร่วมกัน แต่เราควรหรือยัง"
อาทิ กระท่อม กัญชา บางคนกินกระท่อมมาตลอด 70 ปี กว่ากระท่อมจะปลดล็อก ต้องใช้การศึกษามากมายมหาศาล แต่เมื่อปลดล็อกกฎหมายมาแล้ว ยังต้องมาระวังกันอีกว่า การจำหน่าย เด็กๆ จะเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน แม้แต่กระท่อมเองก็ใช้เวลาในการผลักดันนานมาก ขณะเดียวกัน บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ปฏิเสธว่าอาจจะมีข้อดีบางอย่าง แต่ตอนนี้ยังมองได้น้อยว่าทำให้คนเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่
- เด็กเยาวชน ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ยังไม่ชัดเจน จึงต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ มาหาฉันทามติร่วมกัน สิ่งสำคัญ หากมีกฎหมายและการปฏิบัติที่ค่อนข้างได้ผลลัพธ์ชัดเจน ย้ำไปที่การควบคุมบุหรี่ปกติ หากทำได้สำเร็จมากกว่านี้ เชื่อว่าการเปิดใจรับสิ่งอื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้น ณ เวลานี้ก็ยังไม่เหมาะสม และเด็กๆ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เข้าถึงง่าย
“สภาเด็กและเยาวชน ทำการรณรงค์ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เน้นย้ำไปถึงอันตราย โทษ เนื้อหากฎหมาย ให้เข้าใจ การให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุดท้าย จะเกิดการตระหนักในผลลัพธ์หรือโทษ ต้องเกิดจากการรู้ การสร้างความรู้จึงสำคัญ เรียนรู้ สร้างความรู้ ควบคู่กันไป และดูระยะเวลาที่เหมาะสมในการรณรงค์ ใช้เวลาพอสมควร เราจึงมีส่วนที่จะให้อีกหลายคนที่ไม่รู้ปัญหา ให้รู้ปัญหา สร้างความเข้าใจกับเด็กด้วยกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการร่วมให้ความรู้ด้วย”
- ควรศึกษาผลกระทบต่อ "เด็กเยาวชน"
“ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว” ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง อธิบายถึงข้อคำถามที่ว่า หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะส่งผลอย่างไรต่อเยาวชน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่คนทำงาน การเสนอธุรกิจหรือกิจการที่ทำลายสุขภาพโดยเฉพาะเด็กเยาวชน จะมาจากคนที่มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ที่สามารถกำหนดนโยบาย เราไม่ได้ตั้งการ์ดว่าปฏิเสธ แต่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ผมมองว่าการที่นำของใต้ดินมาอยู่บนดินจะช่วยจัดการปัญหาได้ หากสามารถทำได้จริง ควรให้ของบนดินควรควบคุมให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการขายให้เด็ก
ดังนั้น สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการศึกษาว่าจะนำเข้าได้หรือไม่ ขายได้หรือไม่ ต้องศึกษาผลกระทบหากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะได้คุ้มเสียหรือไม่ ไม่ว่าประเด็นอะไรเราจะไปมองเฉพาะในมุมเศรษฐกิจที่ควรจะได้ เหมือนบ่อนพนัน ที่มีข้อเสนอให้ทำถูกกฎหมาย แต่ความจริงในประเทศไทยเล่นพนันไม่ถึง 5% บุหรี่ไฟฟ้าก็เช่นกัน
"ต้องศึกษาว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นกับสังคม โดยเฉพาะเด็กเยาวชน คุ้มหรือไม่ กับรายได้ที่จะได้มา หากติดตามข้อมูล คนไทยไม่ได้นิยมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างที่บอกว่าเกือบ 2 ล้านคน แต่จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีประมาณ 8 หมื่นกว่าคน"
ณัฐพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ทำไมเราต้องมาบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมาย หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เด็กเยาวชนจะเป็นลูกค้ารายหลัก เพราะตอบโจทย์ เผลอๆ จะได้เยาวชนผู้หญิงด้วย วาทกรรมที่บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ มองว่าแล้วแต่คน แต่จะเคลมคำพูดพวกนี้ไม่ได้ หลายคนบอกว่าเลิกบุหรี่ได้เพราะบุหรี่ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันยังคงสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ และไม่ใช่อันตรายน้อยกว่า เพราะสามารถเติมความเข้มข้นน้ำยาได้ เผลอๆ อันตรายกว่าบุหรี่มวน ซึ่งย้อนแย้งกับประเด็นสาธารณสุขที่พยายามส่งเสริมเรื่องสุขภาพ
- พบเด็กผู้หญิง สูบบุหรี่มากขึ้น
“อนวัช แจ่มจันทร์” ประธานกลุ่มเด็กและเยาวชน UGZ อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้า ถือว่าได้รับความนิยม เนื่องจากไม่มีกลิ่น ไม่เหม็น ตามร้านเหล้า สถานบันเทิง มีการสูบปกติ จากการทำกิจกรรม น้องๆ หลายคนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่ผู้ชาย แต่บุหรี่ไฟฟ้า มีน้องๆ ผู้หญิงให้ความสนใจ เรามองว่า ควรที่จะสร้างสื่อ องค์ความรู้เด็กและเยาวชนในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าจะดีกว่าสนับสนุนให้ถูกกฎหมาย บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะเด็กๆ ในต่างอำเภอ สูบบุหรี่กันตั้งแต่ ม.3 ส่วนใหญ่ที่พบกลับเป็นผู้หญิง
- สูบเพราะอยากรู้ อยากลอง
จากการสอบถามสาเหตุในการเข้าสู่วงการบุหรี่ พบว่า สาเหตุที่สูบเนื่องจากสังคมโดยรอบ ครอบครัว เพื่อน สูบบุหรี่กัน นำมาสู่การอยากรู้ อยากลอง โดยเริ่มจากสูบบุหรี่ธรรมดา ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าหาซื้อง่าย น้องๆ เลยรวมเงินกันเพื่อสูบด้วยกัน จึงชวนน้องๆ มาทำกิจกรรมร่วมกัน 2 กิจกรรม น้องๆ เริ่มถอยห่างจากบุหรี่ สูบน้อยลง แต่ยังสูบอยู่ ดังนั้น จึงต้องพยายามให้กำลังใจ และให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ให้แนวทางในการเลิกบุหรี่ รับข่าวสารพลังบวกมากกว่าพลังลบ
ทั้งนี้ ด้วยความที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างใหญ่ 25 อำเภอ กิจกรรมของกลุ่ม จึงขับเคลื่อนร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2564 ได้ทำในประเด็นเรื่องการปกป้องนักสูบหน้าใหม่ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทำกิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันกำลังสร้างน้องๆ แกนนำ ระดับ ม.ต้น ในการมีส่วนร่วม ล่าสุด ดำเนินกิจกรรมผลิตสื่อ ภัยอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย
- บางคนสูบทั้ง บุหรี่ธรรมดา และ บุหรี่ไฟฟ้า
น้องเอ (นามสมมุติ) ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ อายุ 23 ปี ที่เคยสูบบุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า เล่าประสบการณ์ว่า ตอนแรกสูบบุหรี่ธรรมดา และขยับไปลองบุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็กลับมาติดบุหรี่ธรรมดาเหมือนเดิม เพราะรู้สึกเวลาสูบดีกว่า แต่ตอนนี้เลิกสูบแล้ว เพราะเหตุผลส่วนตัวไม่ได้เลิกเพราะบุหรี่ไฟฟ้าแต่อย่างใด
"ช่วงนั้นเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ แค่กลืนน้ำลายก็เจ็บคอแล้ว เดินขึ้นบันไดบ้านเฉยๆ ยังเหนื่อยเลย ทำให้ไม่ได้สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเดือน พอเราได้พัก ทำให้สามารถเลิกได้ ผมว่าคนที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะไม่มีกลิ่นมากกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้เลิกบุหรี่ได้จริง เพราะเห็นเพื่อนๆ ก็ยังไม่เห็นมีใครเลิกได้ สุดท้ายก็สูบทั้งบุหรี่จริงและบุหรี่ไฟฟ้า” น้องเอ กล่าวทิ้งท้าย