ประโยชน์มากกว่าเสี่ยง"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"คำแนะนำนักเรียนชายไฟเซอร์
สรุปชัดเจน ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 2 ให้นักเรียนชายอายุ 12-18 ปี เพราะสามารถป้องกันและลดอาการรุนแรง เสียชีวิตหากติดเชื้อจากโควิด-19 ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ยืนยันพบได้น้อยมาก แนะพ่อแม่ผู้ปกครองควรพาลูกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
ผ่านมาแล้ว 3 สัปดาห์ของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียนในกลุ่มอายุ 12-18 ปี ในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด โดยประเด็นปัญหาหลังจากฉีดวัคซีนให้แก่เด็กๆ นั้น นอกจากเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นในโซเซียลมีเดียมากมาย อาการไม่อยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ยังมีเรื่องของ ประเด็น “นักเรียนชาย” ว่าควรจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์กี่เข็ม เข็มเดียว หรือ 2 เข็ม เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็กชาย 2เข็ม
ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 2 ในเด็กชายอายุ 12-16 ปี ว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียนชายอายุ 12-16 ปี ที่ผ่านมามีข้อกังวลเรื่องการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบใน ปี จึงให้ฉีดเพียง 1 เข็มก่อน และได้มีการหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งกุมารแพทย์โรคติดเชื้อและกุมารแพทย์โรคหัวใจ ว่าควรจะการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กซึ่งทั่วโลกฉีดไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส โดยได้ข้อสรุป 3R คือ
Real กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นจริง ส่วนมากเกิดในเข็มที่ 2 ในเด็กผู้ชายอายุ 12-16 ปี
Rare เกิดขึ้นได้น้อยมาก ในระดับไม่กี่รายต่อล้านคน พบมากสุดประมาณ 6 ในแสนคน ซึ่งน้อยกว่าโรคโควิด 19 ในเด็กที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (MIS-C) รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ
Recovery ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง มีจำนวนน้อยรายที่อาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล และทั่วโลกรายงานพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับวัคซีน 1 ราย ขณะที่มีการฟื้นตัวรวดเร็วมากถึง 90%
- เด็ก12-18ปี มีสิทธิรับวัคซีนไฟเซอร์ทุกคน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติว่าสามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 2 ในเด็กชายอายุ 12-16 ปีได้ โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจ ขึ้นกับความประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียน และไม่ให้เป็นข้อบังคับเรื่องการเข้าเรียน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะสื่อสารข้อมูลทั้งประโยชน์และผลข้างเคียง เน้นย้ำให้ผู้ปกครองติดตามเฝ้าระวังอาการ และทำการสื่อสารไปยังหน่วยบริการฉีดวัคซีนให้เข้าใจและปฏิบัติตรงกัน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าขณะนี้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามที่คาดการณ์ โดยข้อมูลจาก "หมอพร้อม" ฉีดแล้วกว่า 2 ล้านราย พร้อมรับการเปิดภาคเรียนในเดือนพ.ย.นี้
ทั้งนี้ จากการฉีดที่ผ่านมายังไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงเป็นอันตราย จึงขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาฉีดวัคซีน เพราะจะทำให้เกิดความมั่นใจทั้งตัวเด็ก ครูอาจารย์ และผู้ใกล้ชิดเด็กในการเปิดเรียน รวมถึงช่วยป้องกันทั้งติดเชื้อและแพร่เชื้อ เนื่องจากหากไม่ฉีดวัคซีน เมื่อไปเรียนเด็กอาจรับเชื้อภายนอกบ้าน และนำกลับมาแพร่ให้คนในครอบครัวได้
ส่วนกรณีเด็กอายุ 12-17 ปี นอกระบบการศึกษาที่พบว่าบางส่วนเข้ารับการฉีดวัคซีนไม่ได้นั้น ได้มอบหมายให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อกำชับสถานพยาบาลและหน่วยบริการฉีดวัคซีน ให้ฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยไม่มีการแบ่งว่าเป็นเด็กที่อยู่ในระบบหรือนอกระบบการเรียน แต่ให้ยึดตามเกณฑ์อายุ 12-17 ปี จะมีสิทธิได้รับวัคซีนทุกคนตามความสมัครใจ ซึ่งในกลุ่มนอกระบบการศึกษาให้สถานพยาบาลเปิดรับลงทะเบียนโดยความยินยอมของผู้ปกครอง
- เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดไฟเซอร์
"วัคซีนไฟเซอร์” เป็นวัคซีนชนิด mRNA 1 ใน 2 ยี่ห้อ ที่ได้รับการอนุมัติใช้ในเด็กอายุ 12-18 ปี จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งในขณะนี้ไฟเซอร์เป็นเพียงยี่ห้อเดียวที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ส่วนโมเดอร์น่า คาดว่าจะเข้ามาเดือนธ.ค.นี้
สำหรับประเด็นที่มีปัญหาหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่เกิดน้อยมาก โดยในประเทศไทยมีรายงานเข้ามา 3 ราย อายุระหว่าง 12-14 ปี และทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล (รพ.) ธรรมศาสตร์ รพ.ศิริราช และ รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ทั้ง 3 รายนี้ ไม่มีอาการรุนแรง แต่ทั้งนี้ ยังมีอีกรายที่เสียชีวิต แต่ยังไม่มีรายละเอียดการเสียชีวิตที่พิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือยูเอส ซีดีซี (US CDC) พบว่ามีอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 16 ราย ต่อการฉีดวัคซีนล้านโดส และปรากฏว่ามีความเชื่อมโยงกับอายุและเพศ ตั้งแต่อายุ 40 ปีลงมา อุบัติการณ์การเกิดจะสูงขึ้น ซึ่งช่วงอายุที่เกิดมากที่สุด คือ 17-24 ปี
รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่าสหรัฐอเมริกาเด็กติดโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งอเมริกาใช้วัคซีนหลักคือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งได้ทำการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปี พบการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เฉลี่ย 60 รายต่อการฉีดวัคซีนล้านโดส จากเดิม 16 รายต่อการฉีดล้านโดส ซึ่งจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 6-8 เท่า
“การฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ของไฟเซอร์ ต่างกัน ซึ่งเข็มที่ 2 อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะสูงกว่าเข็ม 1 ประมาณ 4-5 เท่า ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เป็นความเสี่ยงที่รับได้ในกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 18 ปี ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในประเทศไทยต้องพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดในเด็กนั้นมีมาก-น้อยเพียงใด ประกอบกับ อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ของเด็กในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ความเสี่ยงในอาการรุนแรงของโควิด-19 หรืออาการเชื้อลงปอดนั้นน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่บางครั้งก็มีกรณีที่เด็กเสียชีวิต เพราะมีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนไฟเซอร์จะช่วยไม่ให้เกิดอาการหนัก หรือรุนแรงได้”รศ.นพ.สุพจน์ กล่าว
- ประโยชน์มากกว่าเสี่ยงฉีดวัคซีนไฟเซอร์
สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รศ.นพ.สุพจน์ กล่าวต่อไปว่า ยังไม่มีข้อมูลป้องกัน แต่ยกตัวอย่างกรณี เด็กสิงคโปร์ อายุ 16 ปี ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วกลับไปออกกำลังกายหนัก ทำให้เกิดหัวใจหยุดเต้นทันที แต่สุดท้ายก็สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ ทางสิงคโปร์เองจึงประกาศเตือนผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนภายใน 1 สัปดาห์ หลังการฉีด ไม่ควรออกกำลังหนัก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ควรออกกำลังกาย แต่ไม่ควรหนักเกินไป และควรเว้นระยะเวลา 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของคนไทยเป็นโรคหัวใจมากขึ้น และมีอุบัติการณ์การเกิดภาวะเบาหวานมากกว่ายุโรป รวมกับความเครียดที่เกิดมากขึ้น ภาวะอากาศที่ไม่ดี ฝุ่น pm2.5 ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจด้วย
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดจากอะไร?
ทำความรู้จัก “เยื่อหุ้มหัวใจ” และ “กล้ามเนื้อหัวใจ”ปกติหัวใจ จะประกอบไปด้วยโครงสร้าง 3 ชั้น คือ ชั้นนอกสุด คือ เยื่อหุ้มหัวใจ ชั้นกลางคือ กล้ามเนื้อหัวใจ และชั้นในสุด คือ ลิ้นหัวใจและเยื่อหุ้ม
โดยเยื่อหุ้มหัวใจ จะประกอบไปด้วยชั้นเซลล์บาง ๆ และน้ำหล่อลื่น โดยมีหน้าที่ปกป้องหัวใจให้ไม่ขูดขีดกับอวัยวะต่าง ๆ และทำให้หัวใจสามารถเต้นได้สะดวก หากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จะทำให้หัวใจเต้นไม่สะดวก มีอาการเหนื่อย หรืออาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
ขณะที่ กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นตัวหลักของกลไกการบีบและคลายตัวของหัวใจ เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ จะทำให้รู้สึกเจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ใจหวิว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากรุนแรงอาจให้ให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เพราะฉะนั้นอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการฉีดวัคซีน mRNA เท่านั้น แต่สามารถเกิดได้จากเชื้อไวรัสโควิด-19 เองได้เช่นเดียวกัน
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
จากการศึกษาพบว่าอาการนี้พบใน เพศชาย มากกว่าเพศหญิง
ช่วงอายุที่พบมากที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 12-17 ปี รองลงมาคือ 18-24 ปี
อาการที่ควรสังเกต หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน mRNA
- เจ็บหน้าอก
- หายใจหอบ
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
- ใจสั่น
พบได้ภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่จะพบภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน โดยพบมากหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งสามารถรักษาหายได้
ข้อแนะนำ หากมีอาการดังกล่าวภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
กรณีเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
ถึงแม้วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA จะมีผลข้างเคียงดังกล่าว แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก ซึ่งสามารถหายได้เอง โดยแพทย์จะทำการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนนั้นมีมากกว่า จึงยังคงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีน
- ข้อควรรู้! ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก
ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ที่จะดำเนินการฉีดในเด็กอายุ ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข และจากกลุ่มแพทย์เฉพาะทางอย่างราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี ขึ้นไป ทุกรายไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน และเน้นกว่าในกลุ่มวัย 12- น้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งวัคซีน mRNA อีกชนิดที่ขึ้นทะเบียนในเด็กแล้วสำหรับประเทศไทย มีวัคซีนโมเดอร์นาอีกยี่ห้อ แต่ขณะนี้ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย
สำหรับเด็กและวัยรุ่นชายที่แข็งแรงดี ให้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และชะลอการให้เข็มที่ 2 ไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติม เนื่องจากการฉีดเข็ม 2 ในเด็กกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงสูงกว่าเข็มแรกจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ "ซึ่งพบน้อยมาก"
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อและเยื่อหัวใจอักเสบได้สูงสุดในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุนี้ และมักพบสัมพันธ์กับภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มสอง
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ได้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ ระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนของสหรัฐอเมริกา (Vaccine Adverse Event Reporting System - VAERS) ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-18 มิ.ย. 2564 รายงานอัตราการเกิดอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุ 12- น้อยกว่า 16 ปี ในอัตรา 162.2 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส
ในขณะที่อัตราอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นในเด็กหญิงกลุ่มอายุเดียวกันพบในอัตราที่ต่ำกว่ามาก คือ 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส
ส่วนข้อมูลเรื่องการป้องกันเชื้อไวรัสทั้งในแง่สายพันธุ์และความรุนแรงหลังจากฉีดไฟเซอร์ เข็มที่ 1 และ 2 พบว่าประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 36% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 88% หลังฉีดเข็มที่สอง
นอกจากนี้ยังป้องกันการติดโควิดที่อาการรุนแรงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 94% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 96% หลังฉีดเข็มที่สอง
คำแนะนำนี้จึงพิจารณาให้เด็กและวัยรุ่นหญิงได้รับประโยชน์จากวัคซีนเต็มที่จากการฉีด 2 เข็ม ในขณะที่เด็กผู้ชายจะต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงเพิ่มเติมเมื่อได้ข้อมูลในบริบทของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก่อนจะให้คำแนะนำในการฉีดเข็มต่อไป
อ้างอิง: โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนลหนองแขม,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ,กรมควบคุมโรค