"นายกฯ" นำทีมไทยร่วมประชุม "COP26" ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ปี 2030

"นายกฯ" นำทีมไทยร่วมประชุม "COP26" ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ปี 2030

"นายกฯ" นำทีมไทย ร่วมประชุม "COP26" ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร วันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย. 64 เพื่อแสดงท่าทีและเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2030

วันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ จะเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม กรอบท่าทีการเจรจาของไทยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

 

ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

 

"วราวุธ ศิลปอาชา " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่าการ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อแสดงท่าทีและเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี ค.ศ.2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังศตวรรษนี้ รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065

อ่านข่าว : อังกฤษเจ้าภาพ COP26 ดันไทยปักหมุดลดคาร์บอน

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนกรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) ที่แสดงถึงความชัดเจนและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง

 

การเข้าร่วมประชุม COP26 จะเป็นการเน้นย้ำท่าทีของประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวอย่างสมดุล โดยการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศที่บูรณาการและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ตลอดจนสอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง ตามขีดความสามารถ (Common but differentiated responsibility and respective capability) พร้อมกันนี้จะมีการหารือทวิภาคี (Bilateral discussion and cooperation) ร่วมกับสมาพันธรัฐสวิส เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนอยู่ระหว่างการพิจารณานัดหมายการหารือร่วมกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ถึงโอกาสการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันต่อไป

 

การดำเนินการของประเทศไทยนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้จัดตั้ง “เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN)” มีสมาชิกเครือข่ายฯ แล้วกว่า 122 องค์กร พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เช่น สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่ง ประเทศไทย (GCNT) เครือข่าย Carbon Markets Club กลุ่ม Race to Zero และ Carbon Neutral Now

 

ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่นชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และยังเป็นการสร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ขับเคลื่อน ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศให้เกิดสภาพคล่องและขยายตัวมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ยังร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพัฒนา “Thailand Carbon Credit Exchange Platform” เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อ ขายคาร์บอนเครดิตสำหรับ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ หรือ T-VER สำหรับการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ช่วยดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในบรรยากาศลงมากักเก็บไว้ในมวลชีวภาพ เพิ่มแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

 

ทั้งนี้ TGO ได้ ร่วมกับ กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามี บทบาท ร่วมปลูก บำรุงรักษา และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยองค์กรภาคเอกชนจะได้รับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ในอัตราร้อยละ 90 และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่จะได้รับในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ TGO ให้การรับรองสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมการ ชดเชยคาร์บอน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต หรือใช้ประกอบในการรายงานดัชนีด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ